เลขาธิการสภาการศึกษาสานต่อความร่วมมือกับสหรัฐฯ ย้ำรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา
การศึกษาเป็นหนึ่งในสาขาที่รัฐบาลผลักดันในกระบวนการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน และการศึกษายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐฯ โดยเมื่อ 5 – 8 มีนาคมที่ผ่านมา รศ. ดร. พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เยือนกรุงวอชิงตันเพื่อหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกัน และร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการใช้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย
ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ เป็นเจ้าภาพเมื่อ 6 มีนาคม 2558 ที่ทำเนียบของท่านทูต ดร. พินิติฯ ได้สนทนากับบุคคลต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ดร. Allan Goodman ประธานสถาบัน Institute of International Education (IIE) ตลอดจนผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ นาย Raymond Richhart ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนาง Robin Diallo ผู้อำนวยการสำนักงานการทูตสาธารณะ กรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นาง Marianne Craven ผู้อำนวยการบริหารโครงการทางวิชาการ กรมกิจการวัฒนธรรมและการศึกษา และ ดร. Nathaniel Schaefle เจ้าหน้าที่สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ คือ นาง Sambia Shivers-Barclay เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการระหว่างประเทศ โดยมีผู้ช่วยทูตฝ่ายการศึกษาพิรุณ เพียรล้ำเลิศ คุณนิตยา มาพึ่งพงศ์ หัวหน้าแผนกภาษาไทย สำนักข่าว Voice of America (VOA) พร้อมข้าราชการสถานทูตเข้าร่วมด้วย
ดร. พินิติฯ กล่าวถึงภารกิจหลักของสภาการศึกษาที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของไทยในทุกระดับ และเสนอให้สหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากสถาบัน Asian Institute of Technology หรือ AIT ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ที่สหรัฐฯ สนับสนุนการก่อตั้งเมื่อช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1960 เพื่อขยายความสัมพันธ์ด้านการศึกษากับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. พินิติฯ แจ้งด้วยว่าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโต๊ะกลมด้านการอุดมศึกษาไทย-สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศ โดยจะเน้นหารือเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ “STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics Education” ซึ่งท่านทูตพิศาลฯ ได้ย้ำความพร้อมของสถานทูตที่จะสนับสนุนการส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านการศึกษาโดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชนไทยในสาขา STEM และการส่งเสริมความร่วมมือในระดับประชาชนกับสหรัฐฯ
เมื่อ 7 มีนาคม 2558 ดร. พินิติฯ ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของการศึกษาต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ร่วมกับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำสหรัฐฯ ในช่วงการประชุม Institute for Global Education Diplomacy ครั้งที่ 3 ซึ่ง Association for Childhood Education International (ACEI) จัดขึ้นที่โรงแรม DoubleTree by Hilton เมือง Arlington มลรัฐเวอร์จิเนีย โดย ดร. พินิติฯ แจ้งที่ประชุมว่า รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพของการศึกษา การพัฒนาครู การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของประชาชนไทยอย่างเท่าเทียม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเห็นว่าแนวคิดเรื่องการทูตการศึกษาหรือ Education Diplomacy อาจหมายความถึงบทบาทของการศึกษาต่อการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ดร. พินิติฯ ยังได้หารือร่วมกับผู้บริหาร ACEI และมูลนิธิ Diplo Foundation ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับหน่วยงานทั้งสองด้วย
นอกจากนี้ ระหว่างปฏิบัติราชการที่กรุงวอชิงตัน ดร. พินิติฯ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว VOA ก่อนเดินทางไปยังนครนิวยอร์กในวันที่ 8 มีนาคม 2558 เพื่อหารือกับรองประธานสถาบัน IIE ผู้อำนวยการบริหารด้านการศึกษาและผู้อำนวยการบริหารด้านการพัฒนาโครงการของ Asia Society รวมทั้งผู้แทนมูลนิธิ Henry Luce Foundation เกี่ยวกับช่องทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานเหล่านี้เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของไทยต่อไป
——————
ฐานิดา เมนะเศวต