เตือนเอกชนไทยรับมือกฎใหม่ IUU สหรัฐฯ

คณะทำงานเพื่อปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing – IUU) และการบิดเบือนข้อมูลบนฉลากอาหารทะเล (Seafood Fraud) ของสหรัฐฯ ประกาศแผนปฏิบัติการยกระดับการป้องกันปราบปรามการทำประมงแบบ IUU ไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าที่เข้าข่าย IUU มายังตลาดสหรัฐฯ
แผนปฏิบัติการดังกล่าวประกาศไว้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ในการดำเนินการ 4 ด้าน สำคัญ ดังนี้
- ความร่วมมือระหว่างประเทศ มีกิจกรรมโครงการ ได้แก่ (1) บรรจุความร่วมมือต่อต้าน IUU ไว้ในความตกลง Trans Pacific Partnership (TPP) และ Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) (2) ผลักดันสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติการให้สัตยาบัน Port State Measures Agreement (PSMA) ของ Food and Agriculture Organization (FAO) ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคี ตรวจสอบท่าเรือนำเข้าเพื่อป้องกันไม่ให้มีสินค้าIUU เข้าสู่ตลาด (3) สร้างความร่วมมือกับประเทศคู่ค้า องค์กรประมงภูมิภาค และองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการติดตาม ตรวจจับ และป้องกันการนำเข้าสินค้า IUU
- 2. การเพิ่มขีดความสามารถ มีกิจกรรมโครงการ ได้แก่ (1) จัดทำระบบรวบรวม แบ่งปัน และวิเคราะห์ข้อมูลและทรัพยากรที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันได้สูงสุดเพื่อป้องกัน IUU หรือการบิดเบือนฉลากสินค้าอาหารทะเลที่จะเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 (2) ปรับปรุงพิกัดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ให้สามารถระบุสินค้าประมงอย่างเหมาะสม ภายในเดือนธันวาคม 2558 (3) จัดลำดับความสำคัญดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับหน่วยงานระดับมลรัฐเพื่อตรวจจับ สอบสวน และดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับ Seafood Fraud และการขายสินค้า IUU
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยการขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกลางสหรัฐฯ กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น มลรัฐ และระหว่างประเทศ
- การติดตามตรวจสอบ มีกิจกรรมโครงการ ได้แก่ (1) ระบุประเภทข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การนำเข้าสินค้าทะเลตั้งแต่การจับไปจนถึงการนำเข้าตลาดสหรัฐฯ โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2558 (2) ระบุพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงสูญพันธุ์ที่มีการนำเข้าสหรัฐฯ ภายในเดือนกันยายน 2559 (3) พิจารณาวิธีเผยแพร่ข้อมูลจากระบบตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าและสายพันธุ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ (4) กำหนดแผนดำเนินเพื่อขยายโครงการต่อต้าน IUU และ Seafood Fraud จากข้อคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนธันวาคม 2559
ในวันเดียวกัน National Fisheries Institute (NFI) องค์กรผู้นำเข้าสินค้าประมงต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับผลกระทบทำให้ไม่สามารถนำเข้าสินค้าประมงได้เพียงพอตามความต้องการของตลาดในสหรัฐฯ ได้ออกเอกสารเผยแพร่เห็นด้วยกับหลักการและข้อเสนอแนะหลายประการ อย่างไรก็ดี ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการนำไปปฏิบัติ การดำเนินการซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการใช้งบประมาณ โดยยกตัวอย่างการกำหนดมาตรฐานชื่อสินค้าประมงที่การกำหนดให้ใช้ชื่อสามัญ (common name) แทนชื่อทางการตลาด (market name) ที่จะทำให้ผู้ขายสินค้าประมงรายย่อยและผู้บริโภคเกิดความสับสน และการเปลี่ยนระเบียบดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิต บริษัทแปรรูป ร้านอาหาร ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค
ในทางกลับกันภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ถูกสินค้าจาก IUU แย่งส่วนแบ่งตลาดได้พยายามอย่างมากเพื่อผลักดันร่างกฎหมายเพิ่มการดำเนินการต่อประมงผิด กม. (HR.774 Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing Enforcement Act of 2015) โดยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 องค์กร International Conservation Caucus Foundation (ICCF) ซึ่งมีบริษัทผลิตอาหารทะเลกระป๋องชั้นนำของสหรัฐฯ อย่างบริษัท Bumblebee เป็นผู้สนับสนุนสำคัญได้จัดบรรยายสรุปให้แก่เจ้าหน้าที่ของผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว โดยงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ปู อลาสกา ซึ่งผู้ประกอบการสหรัฐฯ พบว่า ประสบปัญหา IUU จากรัสเซียอย่างมาก
สำหรับบริษัท Bumblebee นั้น ได้ถูกบริษัท Thai Union Frozen เตรียมซื้อกิจการมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาอนุญาตการซื้อขายตามกฎหมายป้องกันการผูกขาดตลาด ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จจะทำให้บริษัท Thai Union Frozen ครองอันดับหนึ่งตลาดทูน่ากระป๋องของสหรัฐฯ
การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้างต้นของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยมายังสหรัฐฯ ในการนี้ จึงควรเตือนให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยเตรียมรับมือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รายละเอียดแผนปฏิบัติการฯ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nmfs.noaa.gov/ia/iuu/noaa_taskforce_report_final.pdf
พนาลี ชูศรี