ไทย-สหรัฐฯ เดินหน้าร่วมพัฒนาสะเต็มศึกษา (STEM Education)
ไทย-สหรัฐฯ เดินหน้าร่วมพัฒนาสะเต็มศึกษา (STEM Education)
การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยได้ระบุไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน 2557 ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และสหรัฐฯ ก็เป็นหุ้นส่วนสำคัญของไทยในเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นความร่วมมือภาครัฐ หุ้นส่วนกับภาคเอกชน และความร่วมมือของสถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคม
“สะเต็มศึกษา” หรือ STEM Education คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และไทยจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้อย่างไรบ้าง
“STEM” ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering และ Mathematics โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ได้ให้ความหมายของ “สะเต็มศึกษา” ไว้ว่าหมายถึง แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการความรู้ในสหวิทยาการในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ในสาขาเหล่านี้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
จุดประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง “สะเต็มศึกษา” คือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าของการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และเห็นว่าวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
“สะเต็มศึกษา” มีความสำคัญต่อประเทศไทยโดยช่วยสร้างกำลังคนด้าน “สะเต็ม” และสร้างพลเมืองที่มีทักษะทางการคิด การแก้ปัญหา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในโลกที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ตลอดจนเตรียมตัวรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และในระยะยาว “สะเต็มศึกษา” จะช่วยพัฒนาประเทศไทยจากประเทศผู้ใช้เทคโนโลยีมาเป็นประเทศที่สามารถสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เอง โดยการพัฒนากำลังคนด้าน “สะเต็ม” นั้นจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาอื่น ๆ รวมทั้งการทำนุบำรุงวัฒนธรรม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ
เมื่อ 30 มีนาคม – 1 เมษายนที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญด้าน “สะเต็มศึกษา” จากประเทศไทย นำโดย นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการ สสวท. พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้ง ศ. ดร. เมธี เวชารัตนา ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada – ATPAC) ได้ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา “สะเต็มศึกษา” กับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องจากความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งลงนามเมื่อปี 2556
ผู้เข้าร่วมการหารือฝ่ายสหรัฐฯ มาจากหลายหน่วยงานเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหมือนอย่างประเทศไทย การพัฒนา “สะเต็มศึกษา” ของสหรัฐฯ ทำในระดับท้องถิ่นและระดับมลรัฐฯ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ จึงมีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบัน และภาควิชาการอย่างหลากหลาย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ American Association for the Advancement of Science (AAAS), American Chemical Society, Association of Science-Technology Center, National Science Foundation, National Science Teachers Association, Science and Technology Policy Institute, the National Academies, Northern Illinois University, University of Maryland รวมถึง Thomas Jefferson High School of Science and Technology มลรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Newsweek ว่าเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ และมีชื่อเสียงมากด้านสะเต็มศึกษา
ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการจัดการ “สะเต็มศึกษา” ในไทยและสหรัฐฯ หลักสูตรสะเต็มศึกษา ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับต่างประเทศ การจัดสะเต็มศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งคณะฝ่ายไทยได้เยี่ยมชมและหารือกับผู้แทน Smithsonian Science Education Center และประเด็นอื่น ๆ โดยพิจารณาที่จะร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาสะเต็มศึกษาเพื่อสาธารณะ การจับคู่ความร่วมมือด้าน “สะเต็มศึกษา” ระหว่างโรงเรียนต้นแบบของไทยและสหรัฐฯ การศึกษาวิจัยร่วม และการจัดประชุมระดับภูมิภาคเรื่อง “สะเต็มศึกษา” เป็นต้น
เป็นเรื่องน่ายินดีด้วยว่าภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพัฒนา “สะเต็มศึกษา” ในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ริเริ่มโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนผ่านสะเต็มศึกษาและอาชีวศึกษา โดยใช้งบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินโครงการใน 3 ส่วนได้แก่ การพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนในสาขา “สะเต็ม” การส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพ และการสร้างการรับรู้และความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนรู้ด้าน “สะเต็ม” และอาชีวศึกษา
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญต่อการขยายความร่วมมือกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคในด้านวิทยาศาสตร์ในภาพรวม โดย ดร. Geraldine Richmond ผู้แทนด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เยือนประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคแล้วถึงสองครั้งในปีนี้ คือในเดือนมกราคมและมีนาคมที่ผ่านมา และมีแผนจะเยือนประเทศไทยอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2558
——————–
ฐานิดา เมนะเศวต