มุมมอง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จากฝรั่งสัญชาติไทย


Screenshot_2015-05-27-15-43-23“อยากได้…” “อยากมี…” เป็นคำที่คุ้นหูและได้ยินบ่อย ๆ ในสังคมไทยไม่ว่าจากเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะมีใครหยุดคิดไหมว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ตนอยากได้ อยากมี เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมากน้อยเพียงใด สิ่งที่จะตอบคำถามเหล่านั้น ได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญ ทางวัตถุ สาธารณูปโภค และระบบสื่อสารที่ทันสมัย อย่างไรก็ดี การพัฒนาประเทศได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตเพื่อช่วยให้ประชาชนชาวไทยสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่มากับโลกาภิวัตน์       ซึ่งรวมถึงการขยายตัวของลัทธิบริโภคนิยม และความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแนวทางในการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ผ่านการใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันตนเอง รวมถึงการยึดหลักคุณธรรมและความรอบรู้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการปลูกพืชผลทางการเกษตร แต่เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและการสร้างความสุขอย่างยั่งยืน

มูลนิธิมั่นพัฒนาซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการช่วยสนับสนุนให้ประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบท สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์ ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเยี่ยมเยียนและพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาในการดำรงชีวิตและการวางแผนชีวิตในอนาคต โดยมูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐบาลในการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ด้วย
pic 1

ในโอกาสที่นาย Geoffrey Longfellow ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิมั่นพัฒนาเยือนกรุงวอชิงตันในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 สถานทูตได้ประสานจัดกิจกรรมให้นาย Longfellow บรรยายเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและประสบการณ์ทำงานของมูลนิธิมั่นพัฒนาให้แก่เจ้าหน้าที่สถานทูตเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้ถ่ายทอดข้อคิดและประสบการณ์การลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยสรุปว่า

“ในปัจจุบัน คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังประสบปัญหาการดำรงชีวิตโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งยังขาดแนวทางในการเลี้ยงดูลูกและการจัดสรรด้านการเงินของตนเองและครอบครัว จึงทำให้ดูเหมือนว่า ประเทศขาดวินัยที่จะคิดและปฏิบัติให้ถูกต้อง เปรียบเสมือนเป็นความสุขชั่ววูบที่เกิดขึ้น หนทางแก้ไขปัญหานี้ จึงได้แก่ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำรงชีวิต โดยเน้นถึงความมีสติปัญญา คุณธรรมและความเพียร”

ผู้ใดสนใจสามารถพบปะกับ อ. Geoffrey เพื่อรับฟังทัศนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในวันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2558 ณ เวลา 11.00 น. ณ วัดญาณรังษี มลรัฐเวอร์จิเนีย

นาย Longfellow เดินทางไปยังประเทศไทยครั้งแรกในฐานะอาสาสมัคร Peace Corps เมื่อปี 2520 และต่อมาได้ใช้ชีวิตในประเทศไทย โดยเคยทำงานกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และช่วยงานของสำนักพระราชวังตั้งแต่ปี 2538 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิมั่นพัฒนาเมื่อปี 2556 นาย Longfellow ได้สัญชาติไทยเมื่อปี 2549

 

กาจฐิติ วิวัธวานนท์