อ่านบทความสนุก ๆ และได้ความรู้จากแพทย์ไทยรุ่นเยาว์ในสหรัฐฯ
กลุ่มผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รุ่นที่ 5 เยี่ยมชมสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH: National Institute of Health)
สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของศุภวิชญ์ในฐานะผู้ประสานงานของ Dr.Anthony Fauci ระหว่างช่วงที่ท่านเดินทางมารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2556 ที่ประเทศไทย ทำให้พวกเราได้รับเชิญให้ไปทัศนศึกษาที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH: National Institute of Health) เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา
NIH เป็นหน่วยงานระดับชาติที่รับผิดชอบและส่งเสริมการทำวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพซึ่งนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยและระบบสาธารณสุข โดยมีคำขวัญว่า “Turning Discovery into Health” อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข (HHS: United States Department of Health and Human Services) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Bethesda มลรัฐ Maryland ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลางสหรัฐถึงปีละ 30,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประมาณร้อยละ 10 ใช้ในการสนับสนุนงานวิจัยในห้องปฏิบัติการต่างๆภายใน NIH เอง ส่วนที่เหลือจัดสรรกระจายให้กับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆทั้งภายในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ เนื่องจากต้องดูแลจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินมหาศาล ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของ NIH จึงถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่ได้รับแต่งตั้งมาจากรัฐบาลกลาง เมื่อมีการเปลี่ยนประธานาธิบดี ก็มักจะมีการเปลี่ยนผู้มาดำรงตำแหน่งนี้ด้วย
ภายใน NIH มีการแบ่งส่วนงานออกเป็นสถาบันย่อยทั้งสิ้น 27 สถาบัน สถาบันที่ใหญ่และได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดคือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI: National Cancer Institute) ส่วน Dr. Fauci เป็นผู้อำนวยการของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID: National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนมากเป็นอันดับสอง
ส่วนแรกที่พวกเราได้มีโอกาสมาดูคือหอสมุดการแพทย์แห่งชาติ (NLM: National Library of Medicine) ที่นี่เองเป็นต้นกำเนิดและเป็นผู้ให้บริการ Pubmed ซึ่งเป็น website ให้บริการค้นหาบทความทางวิทยาศาสตร์สุขภาพซึ่งเรียกได้ว่าแทบทุกคนในวงการแพทย์ต้องรู้จักและเคยใช้บริการ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมและที่เก็บเอกสารต่างๆทางการแพทย์ตั้งแต่หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ และอื่นๆ มากกว่า 7 ล้านชิ้น ถือเป็นหอสมุดทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยห้องเก็บหนังสือนั้นสร้างอยู่ชั้นใต้ดินภายใต้คอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากหอสมุดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามเย็น จึงมีการออกแบบเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ นอกจากความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆในทางการแพทย์แล้ว เอกสารที่ทางหอสมุดเก็บไว้ยังรวมถึงเอกสารทางประวัติศาสตร์การแพทย์อีกด้วย อาทิเช่น จดหมายขออนุมัติเพิ่มจำนวนศัลยแพทย์ในกองทัพซึ่งเขียนโดยประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน หนังสือเล่มที่เก่าที่สุดเป็นตำราทางการแพทย์ที่เขียนเป็นภาษาอารบิกอายุร่วมพันปี เป็นต้น
ต่อมาพวกเราได้มาพบกับ Dr. Anthony Fauci และภริยาของท่าน คือ Dr. Christine Grady สำหรับ Dr.Fauci ท่านเป็นผู้อำนวยการของ NIAID ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วน Dr. Grady เป็นหัวหน้าหน่วยจริยศาสตร์ชีวภาพ (Department of Bioethics) ซึ่งควบคุมดูแลและให้คำปรึกษาด้านจริยธรรมในการทำวิจัย ซึ่งรวมไปถึงแง่มุมทางด้านกฎหมายและปรัชญา ท่านทั้งสองได้สอบถามและพูดคุยกับพวกเราเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำวิจัยในสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงระยะเวลา 8-10 เดือนที่ผ่านมา และแผนการศึกษาต่อของพวกเราในอนาคต ท่านยังได้ให้ข้อคิดและให้กำลังใจว่าการทำวิจัยนั้นไม่เหมือนการรักษาผู้ป่วยซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่นานนักก็เห็นผล แต่การจะได้มาซึ่งองค์ความรู้จากการวิจัยนั้น บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาชั่วชีวิต แต่ผลที่ได้จะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก
จากนั้นพวกเราได้เข้าเยี่ยมชม Fogarty International Center โดยได้รับการบรรยายสรุปจากคุณ Thomas Mampilly เจ้าหน้าที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศูนย์นี้เป็นหน่วยงานหนึ่งของ NIH ที่ส่งเสริมการจัดสรรทุนวิจัยทางการแพทย์ให้กับสถาบันในต่างประเทศโดยเน้นประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางตามการแบ่งของธนาคารโลก ซึ่งหากสถาบันในประเทศไทยต้องการได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก NIH หน่วยงานนี้เป็นหนึ่งที่หน่วยงานที่น่าจะติดต่อเป็นอันดับแรก นอกจากนี้พวกเรายังได้รับคำแนะนำว่าการมองหาความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยในสหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีประสบการณ์และเคยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมาก่อน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติทุนมากขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มวิจัยในประเทศไทยที่ได้รับทุนจาก NIH กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
ในช่วงบ่ายพวกเราได้พบกับ Dr. Ofelia Olivero รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมด้านโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI) ซึ่งท่านได้พาพวกเราเดินชมห้องปฏิบัติการของท่านและบริเวณต่างๆภายใน NCI นอกจากนี้ท่านยังได้เล่าถึงงานวิจัยที่น่าสนใจของท่านให้พวกเราฟัง โดยเกี่ยวข้องกับการใช้ยาต้านไวรัส AZT ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาทำให้เกิดความผิดพลาดในการสร้างสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส จึงอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนในมนุษย์ด้วย จากการศึกษาพบว่ายาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียงทำเกิดโรคมะเร็งของลูกในระยะยาว
ตัว Dr. Olivero เองเป็นชาวอาร์เจนตินา ท่านจึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยด้วย เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมให้ทุกเชื้อชาติมีโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เจนวิทย์ได้ยกประเด็นเกี่ยวกับชาวเอเชีย ซึ่งปัจจุบันถูกมองว่าสามารถพัฒนาตนเองได้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับชาวผิวขาว แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าชาวเอเชียยังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อาจทำได้ไม่ดีเท่ากับชาวเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่เนื่องจากได้รับการมองว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว จึงอาจไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่งทาง Dr. Olivero ก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้ และท่านรับว่าหากพบผู้ขอสนันสนุนทุนวิจัยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งหน้า จะได้พิจารณาในรายละเอียดให้มากขึ้น
ลำดับสุดท้ายพวกเราได้เดินชมภายใน Clinical Center หรือโรงพยาบาลของ NIH ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ให้การรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการวิจัยเท่านั้น ไม่มีแผนกฉุกเฉิน ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการนัดหมายให้มาตามระเบียบการวิจัย ค่ารักษาพยาบาลและอาจรวมถึงค่าเดินทางและค่าตอบแทนอื่นๆมาจากเงินทุนวิจัย โดยผู้ป่วยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเองและไม่ต้องมีประกันสุขภาพ จึงมีผู้ที่ต้องการมาเข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวนมาก ด้วยความหวังที่จะหายจากโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาด้วยนวัตกรรมหรือยาใหม่ๆที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา พวกเราได้มีโอกาสไปดูห้องวัดปริมาณพลังงานที่ร่างกายใช้ในแต่ละวัน (Metabolic Room) โดยอาศัยการคำนวณจากปริมาณก๊าซ CO2 ที่ร่างกายปล่อยออกมา (Indirect Calorimeter) ซึ่งอาจใช้งบประมาณในการสร้างระบบถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ผู้ที่ออกแบบและสร้างห้องนี้คือ Dr. Kong Chen ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการควบคุมการใช้พลังงานและน้ำหนักของร่างกาย ท่านได้บรรยายให้พวกเราฟังถึงประโยชน์ของห้องดังกล่าวต่อการศึกษาวิจัยด้านโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคทางต่อมไร้ท่อ
ที่โรงพยาบาลแห่งนี้นอกจากความเป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีแล้ว การบริการผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้จากการตกแต่งที่ทำให้รู้สึกสบาย มีโรงเรียนในโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยเด็ก ห้องสมุดที่มีหนังสืออ่านเล่นหลากหลาย มีภาพยนตร์ให้ยืมไปดู ห้องสวดมนต์ของศาสนาต่างๆ ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกอีกหลายชนิด เพื่อให้ผู้ป่วยซึ่งมีความทุกข์ทางกาย อย่างน้อยก็มีความสบายทางใจ
วันนี้นับเป็นอีกหนึ่งวันที่น่าประทับใจของพวกเรา ทำให้ได้มาเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆมากมาย ต้องขอขอบพระคุณ คุณ Gray Handley รองผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของ NIAID คุณ Elizabeth Dillard และ คุณ Gayle Bernabe ผู้ประสานงานของทาง NIH ที่ช่วยจัดตารางและอำนวยความสะดวกให้พวกเราตลอดการเยี่ยมชม โจทย์ของพวกเราต่อจากนี้คือ เราจะสามารถนำเอาประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับ กลับไปพัฒนาวงการวิจัยทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขไทย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไร
ผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รุ่นที่ 5
นายแพทย์ เจนวิทย์ วงศ์บุญสิน
แพทย์หญิง เพราพะงา อุดมภาพ
นายแพทย์ วีรประภาส กิตติพิบูลย์
นายแพทย์ ศุภวิชญ์ เจษฎาชัย
นายแพทย์ ภควัต จงสถิตเกียรติ