สนทนากับ ส.ส. Tammy Duckworth

เมื่อ 30 พ.ค. 2558 ส.ส. Tammy Duckworth ได้พบปะพูดคุยกับชุมชนไทยในหัวข้อ “American Dreams for Thai-Americans in U.S.” โดยการประสานงานของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และมีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน
ส.ส. Tammy กล่าวยินดีที่ได้มาพูดคุยกับชุมชนไทย และเชิญชวนให้คนไทย-อเมริกันมีส่วนร่วมในการเมืองสหรัฐฯ เพื่อสะท้อนความต้องการและรักษาผลประโยชน์ของชุมชนไทย-อเมริกันในสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากและเป็นชุมชนที่มีคุณภาพ ขณะนี้ ตนเองเป็นนักการเมืองเชื้อสายไทย-อเมริกันในรัฐสภาสหรัฐฯ เพียงคนเดียว จึงอยากเห็นคนไทย-อเมริกันเข้ามาทำงานด้านการเมืองหรือลองหาประสบการณ์ในด้านการเมืองให้มากขึ้น โดยการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น สามารถเริ่มได้จากการเป็นอาสาสมัคร (internship) ทำงานการเมืองให้กับนักการเมืองท้องถิ่น เช่น ช่วยหาเสียงและทำงานด้านธุรการอื่นๆ ให้นักการเมืองที่ตนชื่นชมและศรัทธาในนโยบาย หรืออาจเป็นอาสาสมัครทำงานให้กับนักการเมืองตามความสนใจหรือความถนัดเฉพาะด้านของตนก็ได้ เช่น ด้านการศึกษา ด้านผู้อพยพ คนด้อยโอกาส ด้านธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์เบื้องต้นในทางการเมือง ซึ่งจะปรากฏในประวัติย่อ (resume) ของตน และเป็นบันไดต่อยอดให้ก้าวหน้าในตำแหน่งทางการเมืองยิ่งขึ้นต่อไป
การเข้ามาทำงานด้านการเมือง หากมีความสนใจและเลือกเป็นอาชีพ จะก้าวหน้าเร็วมาก และมีรายได้ที่ดี โดยทุกคนต้องเริ่มต้นจากเป็นอาสาสมัครก่อน และทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่นักการเมืองที่ทำงานด้วย นักการเมืองเมื่อได้ตำแหน่งเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสูงขึ้นไปแล้ว ก็มักเลือกคนที่เคย ทำงานให้ตนเป็น Chief of Staff และ staff ใน สนง. เพื่อทำงานให้ตนเองต่อไป หรือนักการเมืองอาจเสนอชื่อหรือแนะนำคนของตนที่ไว้วางใจและเห็นว่ามีความสามารถ ให้ได้รับทุน (fellowship) เพื่อฝึกงานที่รัฐสภาในกรุงวอชิงตันดี.ซี.เพื่อขยายประสบการณ์และเครือข่าย และต่อไปก็อาจเขียนหนังสือแนะนำหรือรับรองให้ก้าวหน้าไปสมัครดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นสูงขึ้นไป
ปัจจุบัน ชนรุ่นสองของหลายเชื้อชาติ เช่น อินเดีย ตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองสหรัฐฯ จำนวนมาก ชุมชนเหล่านี้มีการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนชนรุ่นสองเข้าไปทำงานด้านการเมือง ตั้งแต่เริ่มเป็นอาสาสมัครจนหลายคนก้าวหน้าได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้น เป็นตัวแทนรักษาสิทธิและปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตน เช่น ส.ส.อเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในมลรัฐฮาวาย หรือ ส.ส. อเมริกันเชื้อสายอินเดีย เป็นต้น ซึ่ง ส.ส.เหล่านี้จะเป็นเสียงสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ที่ส่งผลดีต่อประเทศของชุมชนนั้นด้วย
ขณะนี้ยังไม่มีคนไทย หรือคนไทย-อเมริกันทำงานในสำนักงานของตน บ่อยครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้ตนเสนอชื่อหรือแนะนำผู้แทนชุมชนชาวเอเชียที่มีความสนใจด้านการเมืองเพื่อให้ไปฝึกงานหรือรับทุนสนับสนุนด้านต่างๆ ตนก็ไม่สามารถแนะนำคนไทย-อเมริกันได้ จึงอยากเห็นชุมชนไทย-อเมริกันเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเป็นเสียงสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ที่ส่งผลประโยชน์กับไทย ดังเช่นกรณีที่สหรัฐฯ จัดให้ไทยอยู่ใน Tier 3 เรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นระดับเดียวกับลิเบีย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ขณะนี้มีตนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ช่วยพูดให้กับฝ่ายกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่เพียงพอ หากมีคนไทย-อเมริกันที่มีตำแหน่งสูงทางการเมืองหลายๆ คนมาช่วยกันอธิบายชี้แจง ก็จะช่วยเพิ่มน้ำหนักและความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ต่อไทย
การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองยังช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนไทยและทำให้ชุมชนไทยเป็นที่รู้จักในสังคมสหรัฐฯ โดยเฉพาะการไปลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (register to vote) และไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางการเมืองทุกครั้ง จะทำให้นักการเมืองตระหนักว่าชุมชนไทยเป็นเสียงสนับสนุนที่มีพลังทางการเมือง และนักการเมืองจะให้ความสำคัญและดูแลรักษาผลประโยชน์ให้ชุมชนนั้น ดังเช่นชุมชนยิว-อเมริกัน ซึ่งมีองค์กรที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างสม่ำเสมอ สนับสนุนให้ชนรุ่นสองเข้าไปทำงานด้านการเมืองจนก้าวหน้าได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้น กลายเป็นพลังที่มีอำนาจสูงในการเมืองสหรัฐฯ ปัจจุบัน
สำนักงานของตน ทั้งในมลรัฐอิลลินอยส์ และที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี ยินดีต้อนรับทั้งคนไทย และ คนไทย-อเมริกันมาฝึกงาน ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ขอให้มีความตั้งใจและความสนใจทำงานด้านการเมือง สามารถเริ่มฝึกงานได้ตั้งแต่ นักเรียน high school และ นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือผู้ที่ทำงานแล้วที่มีความสนใจการเมือง โดยเฉพาะการฝึกงานภาคฤดูร้อน และการขอรับทุนฝึกงานด้านการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้งานด้านการเมือง เพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต และเพิ่มคุณสมบัติใน resume จึงขอให้ผู้ปกครองช่วยสนับสนุนบุตรหลานให้สนใจและลองฝึกงานด้านการเมือง โดยอาจจะฝึกงานกับนักการเมืองพรรคใดก็ได้ตามความสนใจ เพราะในทางปฏิบัติ นักการเมืองทั้งพรรคเดโมแครทและรีพับริกันต้องหารือร่วมกันอยู่เสมอในประเด็นต่างๆ
การให้คนไทยรุ่นที่สองเข้ามามีส่วนสำคัญทางการเมืองในสหรัฐฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทยในสหรัฐฯ สถานทูตได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ก็ได้ริเริ่มโครงการ Thai – American National Internship Program (TANIP) โดยการสนับสนุนเยาวชนไทย-อเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ ให้มีโอกาสได้เรียนรู้และแสวงประสบการณ์ชีวิตในรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่าง 30 พฤษภาคมถึง 5 กรกฎาคม 2558 อันจะเป็นการส่งเสริมความสนใจด้านการมีส่วนร่วมในการเมืองสหรัฐฯ เพื่อจะมีบทบาทสนับสนุนและปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนไทย-อเมริกันในอนาคต
ขณะนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 คนจากมลรัฐนิวยอร์ก มลรัฐอิลลินอย มลรัฐจอร์เจีย มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ มลรัฐวอชิงตันได้เริ่มฝึกงานในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งสำนักงานของ ส.ส. think tank และภาคธุรกิจ หลังจากที่ได้รับฟังการบรรยายจากภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตร USTR เป็นต้น ภาคเอกชน อาทิ USABC และ think tank อาทิ CSIS และ Stimson Center รวมทั้งเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายจากศาลฎีกา รวมทั้งจะได้ฝึกงานกับสำนักงานต่าง ๆ ของสถานทูตก่อนเดินทางกลับอีกด้วย
โครงการนี้เป็นครั้งแรกที่สถานทูตได้จัดทำขึ้น ผู้สนใจและชุมชนไทยที่สนับสนุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของน้อง ๆ เหล่านี้ได้ที่ Facebook ชื่อ Thai – American National Internship Program https://www.facebook.com/thaiamericandc หรือเว็บไซต์สถานทูตที่ www.thaiembdc.org
โดย ฆฏนาวดี กัลยาณมิตร รองกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก https://www.facebook.com/RoyalThaiConsulateGeneralChicago
กาจฐิติ วิวัธวานนท์ ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน