ก้าวอย่างไรให้ไทยทันโลก ในทัศนะของวิกรม กรมดิษฐ์
ไม่ง่ายนักที่เราจะได้พบกับคุณวิกรม กรมดิษฐ์ เจ้าของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ที่ช่วงนี้มุ่งงานธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอาเซียนเพื่อเตรียมรับการขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และยังมีงานเขียนหนังสือที่แม้จะเป็นงานอดิเรกแต่ได้รับผลตอบรับดีจนเป็นอีกงานที่ยังทำอย่างต่อเนื่อง
งานเขียนของคุณวิกรมมีเป้าหมายเสมอ หนังสือ “คาถาชีวิต” มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่วัยเด็กที่มีปัญหาและประสบอุปสรรค แต่เขาสามารถฝ่าฟันมาได้ หนังสือนี้จึงต้องการให้กำลังใจคนที่มีปัญหาชีวิต ให้ทุกคนสามารถมีความสุขได้และเริ่มต้นใหม่ได้ งานเขียนคุณวิกรมมีสำนวนและวิธีการเขียนที่เข้าถึงคนได้ง่ายและเข้าใจง่าย ซึ่งหนังสือบางเล่มก็ได้คุณประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาช่วยเรียบเรียง ยอดขายหนังสือกว่า 2 ล้านเล่ม พิสูจน์ความนิยมได้อย่างดี
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ และทีมประเทศไทยด้านเศรษฐกิจได้ต้อนรับคุณวิกรมที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนกรุงวอชิงตัน โดยได้หารือถึงวิสัยทัศน์และทัศนะของคุณวิกรม ทั้งเรื่องงานเขียนหนังสือที่ถือว่าเป็นงานสร้างสรรสังคม และยังหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคที่จะก้าวทันโลก และอิทธิพลของประเทศในภูมิภาคและสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย
ไทยมี GDP ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน คนไทยกว่าร้อยละ 60 ทำการเกษตร แต่สัดส่วนของ GDP ที่ได้จากการเกษตรกลับสร้างรายได้ให้ประเทศเพียงร้อยละ 10 แต่ภาคการผลิตกลับเป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้ไทยกว่าร้อยละ 60 ดังนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ไทยยังจัดสรรทรัพยากรในภาคส่วนที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ไม่เต็มที่
ปัจจัยหลายประการที่ทำให้ไทยยังไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งคือความไม่มั่นคงทางการเมืองและการแบ่งแยกของสังคมในขณะนี้ อีกส่วนหนึ่งคือความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งคุณวิกรมกล่าวว่า สังคมไทยเป็นแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” หากแก้ไขทั้งสองประการนี้ได้ กอปรกับการเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น แต่ต้องเป็นการลงทุนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แล้วประเทศไทยจะก้าวต่อไปได้อีกมาก
ขณะนี้ เวียดนามและเมียนมาร์เป็นประเทศในภูมิภาคที่ได้รับความสนใจลงทุนอย่างมากเพราะรัฐบาลเปิดส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น นิคมอมตะก็กำลังจะสร้างที่เมืองทีละวา ซึ่งอยู่ใต้ย่างกุ้งไปไม่ไกลนัก
ไทยเองตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดีมาก ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนต้องการใช้เป็นจุดเชื่อมต่อสู่ทะเลลึก ความตกลงสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจากจีนลงมาไทยเพื่อออกสู่ทะเลจึงเกิดขึ้น ญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยสูงที่สุดตอบสนองโดยตกลงสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจากทวายในเมียนมาร์ผ่านประเทศไทยจากตะวันตกไปตะวันออก ดังนั้น ไทยมีโอกาสและสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งในการขนส่งสินค้าได้
ก่อนจบการหารือ คุณวิกรมยังคงย้ำถึง 3 สิ่ง ที่ไทยจะต้องแก้ไขคือ เสถียรภาพ ความเหลื่อมล้ำ และเปิดการลงทุนจากต่างชาติ หากทำได้เมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยจะไปได้อีกไกลและจะก้าวไปอย่างมั่นคง
พนาลี ชูศรี