โครงการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยแก่เจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ: อีกหนึ่งโครงการเพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

ในระบบการเมืองสหรัฐฯ ที่ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอร่างกฎหมายและข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายและท่าทีในประเด็นต่างๆ ของประเทศต่อฝ่ายบริหารนั้น คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยและอาจถือได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเตรียมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเสนอร่างกฎหมาย การกำหนดท่าทีและผลักดันนโยบายต่างๆ ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐสภาประจำสำนักงานของ ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหลาย หรือที่เรียกกันว่า staffer นั่นเอง
การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ ที่ดีที่สุดคือการได้เดินทางไปเมืองไทย ได้พบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลต่างๆ ได้สัมผัสมิตรภาพของคนไทย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่งดงาม ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมเป็นความรู้สึกที่ดีกับประเทศไทยในใจของเจ้าหน้าที่รัฐสภาเหล่านี้
สถานทูตดำเนินโครงการสร้างเสริมความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยแก่เจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 10 ปี โดยในปีนี้ ได้นำเจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ 11 คน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional Research Service) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการด้านข้อมูลแก่สมาชิกและเจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ เดินทางไปกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23-31 พ.ค. เพื่อพบปะและศึกษาดูงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน วิชาการ NGOs ผสมผสานกับกิจกรรมด้านวัฒนธรรม
โดยที่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นประเด็นที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน สถานทูตจึงได้พาคณะไปเยี่ยมชมสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ Mercy Centre (มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์) มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (TRAFCORD) ที่ จ. เชียงใหม่ ซึ่งสำหรับหลายคนในคณะถือเป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้รู้ว่าไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งเยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และเตรียมความพร้อมของเหยื่อในการกลับเข้าสู่สังคม
คณะประทับใจการเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ที่เชียงใหม่ อย่างยิ่ง เพราะทำให้ทราบถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้น หันมาปลูกพืชผัก ผลไม้ กาแฟ และดอกไม้เลี้ยงชีพแทนการปลูกฝิ่น และทำให้มีรายได้ตลอดปี
คณะได้พบกับ ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีกลาโหม ท่านเตช บุนนาค อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายบริหาร คณะกรรมการบริหารกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย–สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช. เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 182 ปีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้คณะได้รับทราบมุมมองต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และตระหนักถึงความร่วมมือที่ลึกซึ้งระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ตลอดมา ซึ่งเมื่อกลับไปยังสหรัฐฯ แต่ละคนจะสามารถมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์นี้ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะยังประทับใจความกล้าหาญขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้นำในการสร้างความตื่นตัวในสังคมเพื่อขจัดปัญหาการคอรร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในประเทศไทย
คณะยังได้พบกับหอการค้าอเมริกันประจำประเทศไทย (American Chamber of Commerce: AMCHAM) และได้รับการยืนยันจากภาคเอกชนของสหรัฐฯ ถึงความมั่นใจในศักยภาพของเศรษฐกิจไทยระยะยาวและความสำคัญของไทยต่อบริษัทอเมริกัน เพราะไทยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ โดยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และจุดเชื่อมโยงของภูมิภาคอาเซียน
อวันดา อมตวิวัฒน์