พลังเล็กๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

เมื่อ 29 มิ.ย. 58 สถานทูตได้จัดการพบปะพูดคุยระหว่างคุณปิยฉัตร เทอร์เรล (Piyachat Terrell) เจ้าหน้าที่จาก Environmental Protection Agency (EPA) และเยาวชนไทย-อเมริกัน 5 คน ที่เข้าร่วมโครงการ Thai-American National Internship Program (TANIP) ของสถานทูต รวมทั้งนักศึกษาฝึกงาน 2 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความรู้จักกับเยาวชนไทยสัญชาติอเมริกัน และแบ่งปันประสบการณ์ของคุณปิยฉัตรในการที่ทำงานที่ EPA
คุณปิยฉัตรเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายไทยผู้ผันชีวิตจากนักเรียนศิลปะสู่การเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทุกวันนี้ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายกับสถาบันและทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในระหว่างการสนทนาพูดคุย คุณปิยฉัตรได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 10 ปีของเธอไว้อย่างน่าสนใจ
เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งเธอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานในการเจรจาระหว่าง Louisiana Department of Environmental Quality กับชุมชนชาวเวียดนาม เกี่ยวกับสถานที่ฝังกลบขยะ Chef Menteur Landfill ซึ่งถูกเปิดใช้โดยอาศัยอำนาจฉุกเฉินของทางการมลรัฐลุยเซียนาหลังเกิดเหตุพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา ซึ่งชุมชนชาวเวียดนามกังวลถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะสร้างปัญหาด้านสุขภาพให้กับผู้คนในชุมชน หลังจากความพยายามของเธอและคนในพื้นที่ ในที่สุดพวกเธอก็ประสบความสำเร็จในการเจรจาให้ทางการมลรัฐลุยเซียนาสั่งปิด Chef Menteur Landfill ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จในการทำหน้าที่เพื่อสาธารณะที่น่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือคุณปิยฉัตรได้อ้างถึงงานวิจัยที่กล่าวว่า “คนเอเชียในแคลิฟอร์เนียจำนวนมากนิยามตนเองว่าเป็นนักสิ่งแวดล้อม” โดยได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยการยกตัวอย่างคุณแม่ชาวไทยของเธอที่เป็นนักสะสมถุงพลาสติกตัวยง เพื่อที่วันหนึ่งจะได้นำถุงเหล่านั้นไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป หรือการที่คุณตาคุณยายพร่ำสอนตลอดเวลาให้ทานอาหารให้หมดจาน เพราะชาวนาต้องเหน็ดเหนื่อยกว่าจะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวมาให้เราทานกัน คุณปิยฉัตรเชื่อว่าจิตวิญญาณความเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ การเป็น “ลูกไอ้ช่างเก็บ” ของคนเอเชียคงจะมาจากคำสอนและการกระทำในชีวิตประจำวันที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนั่นเอง
แต่เรื่องที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งก็คือข้อเท็จจริงจากงานวิจัยที่ว่าชุมชนที่พักอาศัยของคนเอเชีย คนแอฟริกันอเมริกัน และคนลาตินอเมริกัน มีแนวโน้มที่จะถูกกระทบด้วยมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนผิวขาว เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงหรืออิทธิพลทางการเมืองมากพอที่จะต่อรองกับทางการ คุณปิยภัทรจึงได้เข้ามามีบทบาทโดยใช้เครือข่ายต่างๆ ที่มีในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เพื่อให้ “เสียงดังขึ้น” และไม่ถูกละเลยหรือเอาเปรียบอีกต่อไป คุณปิยฉัตรยังตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยเชื้อสายอเมริกันยังไม่ค่อยมีบทบาทในการเมืองสหรัฐฯ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จึงยินดีที่ได้ทราบว่าสถานทูตได้ริเริ่มโครงการ TANIP เพื่อเสริมสร้างและเตรียมความพร้อมให้เยาวชนไทยเชื้อสายอเมริกันมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นโดยเริ่มเขตเลือกตั้งที่ตัวเองอาศัยอยู่ นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการพูดคุย คุณปิยฉัตรได้แสดงความประทับใจที่ได้ร่วมพูดคุยกับน้องๆ จากโครงการ TANIP นักศึกษาฝึกงานจากเมืองไทย รวมทั้งได้รับฟังแง่คิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าสนใจร่วมกัน และหวังว่าน้องๆ จะเป็นหนึ่งในส่วนเล็กๆ ที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคมที่ตนอยู่ในอนาคต
พงศ์ศิริ ภูรินธนโชติ นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์