ตามรอยพระบาท วันนี้เมื่อในอดีต
ย้อนกลับไปเมื่อ 55 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2503 และเสด็จฯ เยือนครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2510
การเสด็จครั้งแรก ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2503 (ค.ศ.1960) ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จฯ เยือนเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้แก่ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย นครลอสแอนเจลิส กรุงวอชิงตัน นครนิวยอร์ก เมืองเคมบริดจ์ นครบอสตัน มลรัฐแมสซาซูเซตส์ และนครซานฟรานซิสโก
ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 6 – 29 มิ.ย. 2510 (ค.ศ.1967) ในครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนเมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย เป็นครั้งที่ 2 เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศาลาไทยในบริเวณ East-West Center มหาวิทยาลัยฮาวาย และเสด็จฯ มลรัฐแมสซาชูเซตส์และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วิทยาลัย Williams College ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านนิติศาสตร์ จากนั้นเสด็จฯ ต่อไปยังนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน และได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson เข้าเฝ้าฯ ด้วย
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะถ่ายทำสารคดี ผู้แทนจากบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทโกลบอลอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้เดินทางมากรุงวอชิงตัน เพื่อจัดทำสารคดีโทรทัศน์ “สายธารพระราชไมตรี” เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการเจริญพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2502-2510 ซึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะถ่ายทำฯ มีกำหนดการบันทึกภาพและเก็บข้อมูลที่นครบอสตัน นครนิวยอร์ก กรุงวอชิงตัน และที่ฮาวาย
ในภารกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ที่กรุงวอชิงตันและพื้นที่ใกล้เคียง สถานเอกอัครราชทูต ฯ ได้มีโอกาสต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่คณะถ่ายทำฯ ซึ่งมีกำหนดการในการบันทึกภาพและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ อาทิ สุสานแห่งชาติ Arlington National Cemetery, หอสมุดรัฐสภา Library of Congress, เมืองประวัติศาสตร์ Williamsburg, บ้านอดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่ Mount Vernon, NASA Goddard Space Flight Center ทั้งนี้ คณะถ่ายทำฯ ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับจากการมาถ่ายทำและข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จฯ เยือน ดังนี้
14th Street to Blair House
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงกรุงวอชิงตัน ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ ได้ไปถวายการต้อนรับที่สนามบิน ทั้งสองพระองค์เสด็จประทับรถยนตร์พระที่นั่งไปยัง Blair House บ้านพักรับรองที่ถวายให้เป็นที่ประทับ
Arlington National Cemetery
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสุสานแห่งชาติอาลิงตัน Arlington National Cemetery และทรงวางพวงมาลาที่หลุมฝังศพของนายจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (Mr. John F. Kennedy) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และพระราชทานเหรียญที่หลุมฝังศพทหารนิรนาม (Unknown Soldiers) จากนั้นเสด็จเยี่ยมอนุสาวรีย์ลินคอล์น ทีมงาน อสมท. ได้ไปตามรอยเสด็จฯ และได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของสุสานแห่งชาติเป็นอย่างดี ซึ่งพาทีมงานเข้าไปถ่ายทำในจุดต่างๆ ที่พระองค์ท่านเคยเสด็จฯ
Abraham Lincoln Memorial
White House
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ Legion of Merit แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถวายพระกระยาหารค่ำที่ White House
Library of Congress
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ (Library of Congress) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องดนตรีไทยแก่หอสมุด 1 ชุด จำนวน 10 ชิ้น ประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย จะเข้ โทนรำมะนา ฉิ่ง คณะถ่ายทำฯ ได้มีโอกาสเข้าไปเก็บภาพเครื่องดนตรีพระราชทาน ที่ถูกจัดเก็บไว้เป็นอย่างดีในแผนกดนตรีของหอสมุดรัฐสภา และที่แห่งนี้ยังได้สะสมโน๊ตเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงอื่นๆ อีกมากมาย
National Archives
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ลงจากตึกหอสมุดรัฐสภาต่อไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และได้ทอดพระเนตร สนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2376 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และประธานาธิบดีแอนด์ดรูแจ๊คสัน (Andrew Jackson) โดยส่งนาย Edmund Roberts เป็นเอกอัครราชทูต เดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง
Capitol Hill
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปรัฐสภาสหรัฐ และทรงมีพระราชดำรัสในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาอเมริกัน โดยพระราชทานเหตุผล 3 ประการในการเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ดังนี้
ประการที่ 1 “พระองค์ปรารถนาที่จะได้เห็นและเรียนรู้ประเทศที่มีความแตกต่างกันด้วย เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียม และความเชื่อในศาสนา ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในความมีอิสระและผาสุกทั่วหน้ากัน…”
ประการที่ 2 “แม้ว่าคนอเมริกันกับคนไทยอยู่กันคนละมุมโลก ก็มีอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือ ความรักอิสระภาพ โดยแท้คำว่าไทย แปลว่าอิสระอยู่แล้ว และทรงรับสั่งถึงความสำคัญของการคบหาระหว่างประชาชนของสองประเทศ ที่จะเป็นประกันแห่งเสรีภาพ และความเจริญ…”
ประการที่ 3 “ข้าพเจ้ามีความปรารถนาโดยธรรมดามนุษย์ที่จะได้เข้ามาเห็นสถานที่เกิด…” ซึ่งสามารถเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ
ในช่วงท้าย ทรงมีพระราชดำรัสด้วยว่า “สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศมิเคยมีความด่างพร้อย กับมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งด้วยไมตรีจิตต่อกัน จึงทรงตั้งพระหทัยที่จะได้เห็นความร่วมมือกระชับที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แสดงแก่โลกว่า สหรัฐฯ และไทยมีความประสงค์และยึดมั่นอันเดียวกัน และจะชักนำไปสู่สิ่งเดียวกันก็ คือ ประโยชน์ร่วมกัน…”
พระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสนั้น ได้รับเสียงปรบมือจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ อย่างกึกก้องเป็นระยะตลอดช่วง แสดงถึงพระราชปฏิภาณและไหวพริบและการที่พระองค์ทรงเน้นถึง “…สัมพันธไมตรีอันดีและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ…” ยังสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตในการวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกปัจจุบัน บนพื้นฐานของความเป็นมิตรที่ใกล้ชิดและหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งยังคงถือเป็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในปัจจุบัน
กำหนดการเข้าเยี่ยมชมที่ Capitol Hill ของคณะถ่ายทำฯ ดังกล่าวถูกเลื่อนวันถึง 3 ครั้ง จนในที่สุดคณะก็ได้วันที่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมในวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พระองค์ท่านเสด็จฯ เมื่อ 55 ปีก่อน และ “ห้องประชุมของรัฐสภาสหรัฐฯ” ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสยังคงสภาพเดิมเช่นเดียวกับภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้น
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันร่วมกับประธานผู้พิพากษาสูงสุด และเสด็จฯ ออกจากศาลสูงสหรัฐ (Supreme Court) ไปยังบ้านอดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่เมานท์ เวอร์นอน มลรัฐเวอร์จิเนีย
Mount Vernon
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปวางพวงมาลา ณ สุสานของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งคณะถ่ายทำได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์ ถึงประวัติและความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ ในช่วงบ่าย คณะถ่ายทำได้เดินทางไปที่ Mount Vernon ซึ่งเคยเป็นบ้านของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน
Smithsonian national Museum of Art
วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติสหรัฐฯ (Smithsonian national Museum of Art) และได้ทอดพระเนตรงานศิลปะหลายชิ้น ซึ่งงานศิลปะที่สำคัญหนึ่งในนั้น คือ The Adoration of the Magi โดย Fra Angelico และ Fra Filippi Lippi
Williamsburg and Jamestown, Virginia
เมือง Jamestown และเมือง Williamsburg สถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเพื่อการผ่อนคลายพระอิริยาบทส่วนพระองค์
คณะถ่ายทำ อสมท.ฯ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ Mr. Will Molineux นักข่าวเพียงคนเดียวที่ได้ติดตามเสด็จฯ ในขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ทั้งนี้ Mr. Molineux ได้นำบทความและภาพถ่ายที่ทีมงานยังไม่เคยได้เห็นมาก่อนมาให้ถ่ายทำอีกด้วย และ Mr. Molineux ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกประทับใจและภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ และเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบการถ่ายภาพมาก โดยเฉพาะการถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมสถานที่ต่างๆ โดยพาหนะรถม้าเทียมลากสมัยศตวรรษที่ 18 และทรงร่วมแสดงความยินดีในการเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2503 ที่สภาเมือง Williamsburg ก่อนที่จะเสด็จฯ ไปยังนครนิวยอร์ก
White House
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสหรัฐเป็นครั้งที่สอง ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ถวายการต้อนรับจัดพิธีตรวจพลกองเกียรติยศ มีการยิงสลุตหลวง 21 นัด ที่บริเวณฝั่งตะวันตกของ White House ในครั้งนั้น พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson เข้าเฝ้าฯ และถวายพระกระยาหารค่ำต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่ White House
NASA Goddard Space Flight Center
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเฮลิฮอปเตอร์พระที่นั่งพิเศษของนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยการบินอวกาศ NASA Goddard Space Flight Center ที่มลรัฐแมริแลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2510
เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้กราบบังคมทูลถึงภารกิจโครงการอวกาศในด้านต่างๆ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรห้องแสดงหุ่นจำลองของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยานิมบัส (Nimbus) และไทรอส (Tiros) ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ทูลเกล้าถวายภาพถ่ายลักษณะเมฆเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ถ่ายจากดาวเทียมนิมบัส และเสด็จทอดพระเนตรห้องทดลองค้นคว้าและพัฒนาประสิทธิภาพดาวเทียมสื่อสาร
สถานทูตฯ ได้ประสานกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงวอชิงตัน ในการขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำในศูนย์วิจัย NASA Goddard Space Flight Center ซึ่งนอกจากที่คณะถ่ายทำฯ จะได้เข้าไปบันทึกภาพแล้วยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.ลัดดาวัลย์ มิโก (Dr. Laddawan Miko) หัวหน้าศูนย์วิจัย Detector Systems Branch ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาชีพไทยที่ปฏิบัติงานอยู่ ณ ศูนย์วิจัยแห่งนี้ และเป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระดำเนินมาที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ด้วย
Royal Thai Embassy (Ambassador Resident, 1967) on Cathedral Blvd
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คนไทยเข้าเฝ้าฯ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต (แห่งเดิมบนถนน Cathedral กรุงวอชิงตัน ดีซี)
คณะถ่ายทำ อสมท.ฯ ได้มีโอกาสมาบันทึกสัมภาษณ์ คุณวิชัย มะลิกุล หนึ่งในคนไทยที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จในครั้งนั้น หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของคุณวิชัยฯ กล่าวว่า ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถึงคนไทยที่มาเข้าเฝ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาและข้าราชการว่า ขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้จบและกลับไปช่วยกันพัฒนาประเทศไทย
คุณวิชัยฯ ได้เล่าถึงความประทับใจที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ว่า “ตนและผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ รู้สึกตื่นเต้น ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต และประทับใจมากที่พระองค์ทรงเครื่องดนตรีแซ็กโซโฟนหลายเพลง และคุณชรินทร์ (งามเมือง) นันทนาคร ถวายการร้องเพลงให้พระองค์ และพระองค์ทรงพระกรุณาให้พวกเราหลายกลุ่มพลัดเข้าไปถ่ายรูป ซึ่งสถานทูตได้จัดเตรียมนักถ่ายภาพอาชีพมาบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก” ดังภาพที่คุณวิชัยฯ ได้นำมาให้ชม ปัจจุบันคุณวิชัย มะลิกุล ที่ทำงาน ณ สถาบันสมิธโซเนียนซึ่งคุณวิชัย ยังอยู่ในตำแหน่ง จิตรกรนักกีฎวิทยา (Scientific Illustrator) ตั้งแต่ปีที่รับเสด็จทั้งสองพระองค์จนปัจจุบัน.


Royal Thai Embassy
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 คณะถ่ายทำฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงวอชิงตัน ซึ่งท่านทูตฯ ได้นำสำเนาใบสูติบัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านทูตฯ ขอคัดลอกจากหน่วยงานสหรัฐฯ ที่เมือง Cambridge รัฐ Massachusetts มาให้ทีมงานได้บันทึกภาพ
ส่วนหนึ่งในการสัมภาษณ์ ท่านทูตฯ ได้กล่าวถึง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประสูติที่สหรัฐอเมริกา มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาแนบแน่นเป็นพิเศษอย่างไร
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพที่โรงพยาบาลเมาท์ ออเบิร์น ณ เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ระหว่างที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงศึกษาอยู่ที่ Harvard Medical School และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการพยาบาล Simmons ที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเชตส์
- พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่เสด็จพระราชสมภพในประเทศสหรัฐอเมริกา
- ในปี 2510 เมื่อครั้นเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลเมาท์ ออเบิร์น และพบกับ ดร. ดับเบิลยู สจ๊วต วิทท์มอร์ รวมทั้งคณะพยาบาลที่ถวายพระประสูติกาลด้วย
- จึงอาจกล่าวได้ว่า ในรัชกาลปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา มีความพิเศษยิ่งกว่าในทุกรัชกาล
- หากท่านใดมีโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลเมาท์ ออเบิร์น จะเห็นข้อความร่วมรำลึกถึงการพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวในดินแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา บนแผ่นป้ายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่บริเวณชั้น 5 ของโรงพยาบาลฯ ขณะเดียวกัน จตุรัสภูมิพลที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ก็มีข้อความรำลึกถึงการพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลเมาท์ ออเบิร์นด้วย
ภายหลังจากที่สิ้นสุดภารกิจ ณ กรุงวอชิงตัน คณะถ่ายทำฯ ได้เดินทางไปบันทึกภาพและเก็บข้อมูลต่อที่เกาะฮาวาย
เกี่ยวกับสารคดีโทรทัศน์ “สายธารพระราชไมตรี”
- บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทโกลบอลอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีแผนที่จะจัดทำสารคดี “สายธารพระราชไมตรี” จำนวน 122 ตอน ความยาวตอนละ 15 นาที เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในการเจริญพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2502-2510 จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ทุกวันหลังข่าวภาคค่ำ ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2559 เป็นต้นไป
- จะมีการถ่ายใน 29 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมาร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลีและนครวาติกัน เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน ปากีสถาน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ออสเตรีย อิหร่าน แคนาดา สปป.ลาว และบังกลาเทศ
- สำหรับสหรัฐอเมริกา มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์ 3 ท่าน คือ คุณขวารี ผลดี ผู้เขียนบทสารคดีโทรทัศน์ คุณวนาพร ปัญญาชาติรักษ์ ผู้เขียนบทสารคดี และคุณจิรกิตติ์ วิชัยดิษฐ์ ช่างภาพ โดยเริ่มต้นจากทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม 2558 ที่นครบอสตัน นครนิวยอร์ก กรุงวอชิงตันดีซี และภายหลังจากที่สิ้นสุดภารกิจ ณ กรุงวอชิงตัน คณะถ่ายทำฯ ได้เดินทางไปบันทึกภาพและเก็บข้อมูลต่อที่เกาะฮาวาย และมีกำหนดเดินทางไปถ่ายทำทางฝั่งตะวันตกในช่วงเดือนตุลาคม 2558
ช่อมณี ม่วงมงคล