ศาสตร์ไหมไทยรับรางวัลที่อเมริกา


วันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2558 เวลา 5:15 น.- การผลิตแผ่นใยไหมที่บ้านป่าเลา จังหวัดเชียงราย นั้น ถือว่าเป็นชุมชนแห่งแรกที่ได้ผลิตเชิงการค้า โดยมีผู้ประกอบการมารับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

นายสำราญ สุขใจ ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการคิดค้นการผลิตแผ่นใยไหมของกรมหม่อนไหม ผศ. ประยูร ห่วงนิกร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงราย ได้นำมาต่อยอดด้วยการนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกรที่บ้านป่าเลา ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ดำเนินการ โดยมีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดน่าน สนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้ โดยเฉพาะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ซึ่งได้ดำเนินงานมากว่า 20 ปี รวมทั้งการผลิตแผ่นใยไหม ซึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเชิงการค้าในเวลาต่อมา โดยผลิตแผ่นใยไหมบนเฟรมขนาด 60×80 เซนติเมตร ซึ่งศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดน่าน ได้สนับสนุนแผ่นไข่ไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง ซึ่งเป็นไหมลูกผสมระหว่างพันธุ์ทับทิมสยามกับพันธุ์วนาสวรรค์ ของกรมหม่อนไหม สามารถนำมาผลิตแผ่นใยไหมได้เป็นเส้นสีเหลืองทองอร่ามและมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการผลิตแผ่นใยไหม และได้เริ่มขยายการส่งเสริมให้มีการผลิตแผ่นใยไหมไปยังกลุ่มเกษตรกรที่อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

สำหรับรายได้จากการเลี้ยงไหมนั้น จากการสำรวจของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดน่าน โดยเปรียบเทียบจากการเลี้ยงไหมเพื่อสาวเส้นไหม และการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตแผ่นใยไหม พบว่าการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหม จากไข่ไหม 1 แผ่น มีรายได้จากการขายเส้นไหมและดักแด้ ประมาณ 2,710–3,540 บาท ส่วนการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตแผ่นใยไหม จากไข่ไหม 1 แผ่น มีรายได้จากการขายแผ่นใยไหมและดักแด้ ประมาณ 5,400–6,300 บาท

และการผลิตแผ่นใยไหมในแต่ละรุ่นนั้น ไข่ไหม 1 แผ่น จะสามารถผลิตแผ่นใยไหมได้จำนวน 70–80 แผ่น และผู้ประกอบการจะรับซื้อในราคาแผ่นละ 60–70 บาท นอกจากนี้เกษตรกรยังจะมีรายได้จากการขายดักแด้อีกส่วนหนึ่งประมาณ 1,350–1,500 บาทอีกด้วย

การผลิตแผ่นใยไหมที่บ้านป่าเลา จังหวัดเชียงราย นั้น ถือว่าเป็นชุมชนแห่งแรกที่ได้ผลิตเชิงการค้า โดยมีผู้ประกอบการมารับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เช่น แผ่นมาส์กใยไหมบำรุงผิวหน้า แผ่นขัดหน้า สบู่ใยไหม และครีมบำรุงผิวกลางวันและกลางคืน ทำให้เกษตรกรที่ผลิตแผ่นใยไหมมีตลาดรองรับที่แน่นอน และมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุด นักเรียนโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้นำแนวคิดจากการผลิตแผ่นใยไหมไปทำโครงงานศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหมจากตัวหนอนไหม และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำส่งไปประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ในงาน อินเทล ไอเซฟ 2015 ครั้งที่ 66 ที่เมืองพิตสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศสาขาสัตวศาสตร์ และรางวัลอื่น ๆ อีก รวม 3 รางวัลด้วยกัน.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/agriculture/340740