ประสบการณ์บุกเบิกธุรกิจกาแฟไทย โดยนักธุรกิจไทยในสหรัฐฯ


อ, ส.ค. 11, 2558 – ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ (ศูนย์ BIC) มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ก่อตั้ง/ผู้บริหารธุรกิจกาแฟ “Hug Coffee” คุณจี๋ พิทยาภรณ์ ธนัญไชย ผู้มีใจรักกาแฟและมีความมุ่งมั่น อยากแนะนำกาแฟไทยที่มีรสชาติเข้ม นุ่มละมุนไม่แพ้ชาติใดให้ชาวอเมริกันได้ลิ้มลอง วันนี้คุณจี๋ได้มาร่วมเล่าถึงประสบการณ์ก่อตั้งธุรกิจกาแฟไทยในสหรัฐฯ แก่ชาว BIC และยังได้แฝงแนวคิดดีๆ ให้ได้ศึกษากันค่ะ

ศูนย์ BIC: ช่วยเล่าถึงประเภทธุรกิจที่ทำอยู่ได้มั๊ยคะ?

คุณจี๋: Hug Coffee เป็นบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟอาราบิก้าจากภาคเหนือของประเทศไทยโดยเปิดตัวขายผ่าน online website (www.hugcoffee.com) และตอนนี้ก็เริ่มวางขายและจำหน่ายที่ร้านอาหารไทยบางร้านในเมือง แคมบริด (Cambridge) และบอสตัน (Boston)

Hug Coffee มีสำนักงานอยู่ที่เมืองบอสตัน และมีโกดังเล็กๆ และแผนกการจัดส่งสินค้าอยู่ที่ชิคาโกค่ะ

ศูนย์ BIC: ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวคร่าวๆ และจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่ามีความเป็นมาอย่างไรคะ?

คุณจี๋: สำหรับตัวพี่เองทำงานประจำเป็นผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน อยู่ที่บริษัท State Street Global Advisor (SSGA) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เมืองบอสตัน โดยเริ่มทำตั้งแต่จบปริญญาโททางด้านการเงิน ก่อนหน้าที่จะมาเรียนพี่มีประสบการณ์ทำงานด้านการขายและการตลาด ให้กับบริษัทจีอี มันนี่ ซึ่งทำเกียวกับธนาคารเพื่อผู้บริโภคและเคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการหอการค้าต่างประเทศไทย-อิสราเอล (Thai-Israel Chamber of Commerce)

นอกเหนือจากงานประจำแล้ว ส่วนตัวนั้นพี่มีความสนใจ เกี่ยวกับร้านกาแฟมาตลอดแต่ก็ไม่มีโอกาสและจังหวะที่จะได้คิดหรือทำธุรกิจกาแฟ จนมีโอกาสได้เจอและพูดคุยกับน้องที่มาเรียนบอสตันที่สนใจในการขายกาแฟ เลยทำให้มีความคิดและข้อมูลสำหรับการขายกาแฟเพิ่มขึ้นและเริ่มพัฒนารูปแบบธุรกิจ จากตอนนั้นพี่จึงเห็นว่า ธุรกิจกาแฟไทยในอเมริกาเป็นธุรกิจที่ท้าทายเพราะยังไม่ค่อยมีคนอเมริกันรู้จักกาแฟไทยมากนักและนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ Hug Coffee

นอกจากนี้ ด้วยความที่พี่เป็นคนเชียงใหม่โดยพื้นเพ ก็เลยเป็นเหมือนความภาคภูมิใจที่ได้ทำให้คนต่างชาติรู้จัก เมล็ดกาแฟที่มาจากทางภาคเหนือ ของประเทศไทยโดยคำว่า “Hug Coffee” อ่านว่า “ฮัก คอฟฟี่” ซึ่งคำว่า”ฮัก” ภาษาเหนือหมายถึง “รัก” นั่นก็คือ “รัก กาแฟ”

ศูนย์ BIC: ตอนที่เริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเองนั้น คุณจี๋ปรึกษาใคร และ/หรือได้หลักของการทำธุรกิจมาจากไหนคะ

คุณจี๋: หลังจากศึกษาตลาดมาระยะหนึ่งก็ได้คุยปรึกษากับเพื่อนที่ทำธุรกิจร้านขายขนมไทยอยู่ที่ประเทศจีนซึ่งก็คือหุ้นส่วนในเวลาต่อมา โดยทีมของพี่ได้เริ่มจากการทดลองนำเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วจากประเทศไทยมาทำการตลาดในระยะเริ่มต้นเพื่อให้คนอมริกันได้รู้จักกับกาแฟไทยก่อนและทำการรประชาสัมพันธ์เรื่องราวของเมล็ดกาแฟแต่ละยี่ห้อที่เราเลือกมาทดลองทำการตลาด

โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยให้ชาวเขาที่เคยปลูกฝิ่นเปลี่ยนมาปลูกกาแฟ แต่ละยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นดอยตุง (โครงการแม่ฟ้าหลวง) กาแฟล้านนาซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับ โครงการพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสานหรือกาแฟฮิลคอฟ โดยเราไม่ได้แค่ช่วยซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากชาวเขาเท่านั้นแต่ยังช่วยให้ความรู้และพัฒนาการคั่วเมล็ดกาแฟอีกด้วย หรือแม้เเต่กาแฟนาชาซึ่งมีรสชาตินุ่มละมุน และชนะเลิศการประกวด Cupping ที่ฮาวาย ในปี 2007

โดยเราคิดว่าการที่เมล็ดกาแฟแต่ละตัวเลือกสรรมาจำหน่าย ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวเฉพาะตัว ซึ่งเราเล็งเห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นตัวทำการตลาดได้ดีในตลาดที่ใหญ่อย่างอเมริกา เราจึงได้ที่มาของสโลแกนของ Hug Coffee ว่า “A journey of ten thousand miles with every sip”

นอกจากจะนำเข้าและจำหน่ายเมล็ดกาแฟจากไทยแล้ว Hug Coffee ยังได้ผลิตเมล็ดกาแฟภายใต้ยี่ห้อของตัวเอง โดยความร่วมมือจาก Lanna Coffee USA ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากเชียงใหม่ แล้วทำการคั่วที่แคลิฟอร์เนีย โดยทางเราหวังที่จะขยายตลาดนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบ เพื่อมาคั่วและปรับรสชาติให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในสหรัฐอเมริกาต่อไป

ศูนย์ BIC: อุปสรรคที่เข้ามาระหว่างการทำธุรกิจ และคุณจี๋มีวิธีการรับมือ แก้ปัญหาอย่างไร

คุณจี๋: ธุรกิจของ Hug Coffee เป็นธุรกิจ start up company เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วจึงเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ โดยทีมงานมีส่วนสำคัญมากในการเติบโตของบริษัท เจ้าหน้าที่บริษัท  และ พนักงานขาย ต้องทำงานสอดคล้องและสนับสนุนกัน และต้องได้ภาพลักษณ์ที่เป็นมืออาชีพ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสามารถที่จะตอบโจทย์ลูกค้าที่นี่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการขาย เช่น การใช้  Square up application มาช่วยในการซื้อขายผ่านตัวแทนขาย Part time หรือ การซื้อผ่าน E-Commerce ของเราได้สะดวกและง่าย และพยามมองหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ เช่น ในอนาคตอันใกล้ เราจะมีการติดต่อจัดตั้ง Coffee shelf ขายผ่านร้านอาหารไทยซึ่งอย่างน้อยลูกค้าที่มาทานร้านไทยก็น่าจะอยากลองกาแฟไทยด้วย

ด้วยความที่เราเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กและตลาดกาแฟในอเมริกามีการแข่งขันสูงทำให้เราต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้เองทำให้เราสามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ ทีมงานของบริษัทก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยมีการตั้งเป้าหมายไม่ใหญ่เกินตัว

ศูนย์ BIC: ช่วยเล่าถึงการจัดตั้งบริษัทธุรกิจกาแฟในสหรัฐฯ หน่อยสิคะ ว่าคุณจี๋ได้จัดการอย่างไร

คุณจี๋:  พี่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ไม่ได้มีหน้าร้านวางสินค้า ดังนั้นการจดทะเบียนจึงไม่ยุ่งยาก ซึ่งในส่วนของรัฐแมสซาชูเสจนั้นมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ

1.  ขั้นแรกคือ การยื่นขอเลขที่กำกับภาษี (Federal Employer Identification Number) หรือเรียกย่อๆ ว่า FEIN เข้าไปที่ http://www.irs.gov/Businesses/Small-Businesses-&-Self-Employed/Apply-for-an-Employer-Identification-Number-(EIN)-Online

2. หลังจากได้ FEIN แล้ว ทีนี้ก็พร้อมที่จะยื่นสมัครใบอนุญาตการทำธุรกิจ (Business Licenses) ซึ่งแต่ละรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องค่าใช่จ่าย ซึ่งถ้าบริษัทมีขนาดไม่ใหญ่และไม่มีหน้าร้าน ก็สามารถยื่นใบสมัครขอใบอนุญาตทำธุรกิจได้เลย โดยใช้ FEIN ที่เราได้มา

โดยหลักๆ แล้วก็จะมีเพียงแค่นี้ สำหรับการจดทะเบียนเปิดบริษัทผ่านออนไลน์ของรัฐซึ่งในเว็บไซต์ของรัฐที่พี่อยู่ (รัฐแมสซาชูเสจ) ซึ่งมีรายละเอียดทั้งหมดอธิบายในเว็บไซต์ค่ะ

ศูนย์ BIC: อยากทราบว่า คุณจี๋นำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศไทยมายังสหรัฐฯ อย่างไรคะ

คุณจี๋:  ประเทศสหรัฐฯ มีข้อยกเว้นการเสียภาษีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยังสหรัฐฯ ข้อยกเว้นสำหรับเมล็ดกาแฟคือ เราสามารถนำเมล็ดกาแฟเข้ามาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีในจำนวนไม่เกิน 2 กิโลกรัม ซึ่งพี่ก็นำเข้ามาเพื่อทดลองตลาดสหรัฐฯ ในเบื้องต้น

สำหรับรายละเอียดการนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในอเมริกา สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์นี้ได้ค่ะ http://www.usitc.gov/2015_htsa_basic_edition.htm เว็บไซต์นี้จะบอกรายละเอียดทุกรายการสินค้าที่สามารถนำเข้า พร้อมทั้งปริมาณที่สามารถนำเข้ายังสหรัฐฯ ได้โดยที่ไม่ต้อง declare และเสียภาษีค่ะ

ศูนย์ BIC: ท้ายนี้นอกจากความรู้ทางด้านธุรกิจแล้ว คุณจี๋มีหลักการดำเนินชีวิตหรือข้อแนะนำแก่นักธุรกิจรุ่นใหม่อย่างไรคะ?

คุณจี๋: พี่ไม่ใช่ Gen Y ที่ไม่อยากทำงานประจำนานเกินไปหรืออยากมีธุรกิจของตัวเองทันทีที่เรียนจบ พี่เห็นว่าการที่ได้มีประสบการณ์บ้างในระดับหนึ่งหรืออย่างพี่เองมีประสบการณ์ที่หลากหลายและได้มีโอกาสรู้จักคนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เป็นตัวช่วยพี่ในการเริ่มต้นทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี

พี่คิดว่าก่อนเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองนั้นประสบการณ์ทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวจากการทำงานประจำจะทำให้เรามี แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจบนพื้นฐานของความเป็นจริง

 

by Chayada Polpun