ชุมชนไทยในอิลลินอยส์พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ชุมชนไทยในชิคาโกและมลรัฐอิลลินอยส์ได้มีโอกาสพบปะหารือและรับประทานอาหารค่ำร่วมกับนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ในโอกาสเดินทางเยือนมลรัฐอิลลินอยส์ และนายทรงพล สุขจันทร์ กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก อย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ณ ร้านอาหารไทย Star of Siam ซึ่งผู้เข้าร่วมงาน อาทิเช่น คุณหมอพนม พงษ์เชิดชู อดีตนายกสมาคมไทย-อเมริกันแห่งอิลลินอยส์ และคุณอรวีฯ ภริยา คุณหมอเชิดเกียรติ-คุณอรทิพย์ แสงคำ คุณโอสถ แจ่งจัน อดีตวิศวกรผู้ควบคุมระบบของโรงงานบำบัดน้ำ นครชิคาโก คุณหมอคริส มาลัยศรีและภริยา คุณเข็มพัท แสนเจิน ศิษย์เก่าสวนกุหลาบและ President of National President of TGAA ดร.วิศัลย์ หลวงดิลก วิศวกรนิวเคลียร์ รวมทั้งนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยชื่อดังในชิคาโก อาทิ คุณกริษฐา เลี่ยวจันทร์พัฒนา คุณธีรทัศน์ พัฒนเอนก เป็นต้น
นอกจากการพูดคุยในเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกันเองและทั่วถึงในระหว่างการรับประทานอาหารค่ำแล้ว เอกอัครราชทูตยังได้ขึ้นกล่าวกับุชมชนไทยเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งมีมากกว่าการให้บริการหนังสือเดินทางหรือออกวีซ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ มีภารกิจหลักในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ให้กลับสู่สภาวะปกติ รวมทั้งการดำเนินการต่อการที่ไทยถูกจัดระดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยสหรัฐฯ ในระดับต่ำสุด ซึ่งพลังชุมชนไทยในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ในสหรัฐฯ จะเป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ หากแต่พลังดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนไทยในสหรัฐฯ ให้ความสนใจและติดตามทำความเข้าใจระบบการเมือง ระบบการออกกฎหมายของสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถสอดแทรกพลังและบทบาทของชุมชนไทยลงไปในแต่ละพื้นที่ที่ชุมชนไทยนั้นๆ ตั้งอยู่เพื่อสร้างพลังต่อรองกับนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับมลรัฐอันจะนำมาซึ่งการที่เขาอาจตอบสนองหรือเป็นผู้นำเสนอการผลักดันประเด็นต่างๆ ในการปกป้องผลประโยชน์ของไทยในระดับประเทศต่อไป
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้กล่าวถึงโครงการต่างๆ ที่เสริมเป้าหมายและภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ เช่น โครงการ Thai-American National Internship Program (TANIP) เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ ได้เรียนรู้และมีเครือข่ายกับภาคส่วนนิติบัญญัติของสหรัฐฯ อันจะเป็นการสร้างคนไทยให้เข้าสู่ระบบการเมืองของสหรัฐฯ ต่อไป โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้เชิญชวนบิดามารดาที่มีลูกหลานในสหรัฐฯ ติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าวจากเว็ปไซด์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 สถานเอกอัครราชทูตฯ จะขยายโครงการดังกล่าวโดยรับ intern เพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้ซึ่งเป็นการดำเนินการเป็นปีแรกด้วย และก่อนจากกันในค่ำคืนนั้น เอกอัครราชทูตยังได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะทราบว่ามีคนไทยซึ่งประกอบวิชาชีพสำคัญๆ กระจายหรือรวมตัวกันอยู่ที่ใดในสหรัฐฯ แล้ว ยังสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อสร้างเครือข่ายของคนไทยในวิชาชีพต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยโดยทั่วไปที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบหรือรับทราบการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบวิชาชีพเพื่อเติมเต็มพลังไทยซึ่งกันและกันได้อีกด้วย โดยจะนำร่องการจัดทำฐานข้อมูลในมลรัฐที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ประมาณแปดมลรัฐ
ศิระ สว่างศิลป์