ชุมชนไทยมิชิแกนมุ่งมั่นสร้างเสริมเครือข่ายและพลังคนไทยเพื่อประเทศไทย

ภารกิจของเอกอัครราชทูตไทยในต่างแดนนอกจากจะมีภารกิจส่งเสริม ทำความเข้าใจ รักษาและปกป้องผลประโยชน์ของไทยในมิติต่างๆ ในประเทศที่เอกอัครราชทูตประจำการอยู่แล้ว ภารกิจส่งเสริมความเข้มแข็ง สร้างเครือข่าย และดึงพลังและศักยภาพของคนไทยและชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ มาเป็นสรรพกำลังและเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินภารกิจด้านการต่างประเทศของสถานเอกอัครราชทูตฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ก็ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กัน
ในโอกาสที่นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนมลรัฐมิชิแกนซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ และ Research & Development ด้านรถยนต์ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ Ford Motor และ Guardian Industries ซึ่งมีการลงทุนในประเทศไทยและนำมาซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและสร้างงานให้แก่คนไทย รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัท Thai Summit บริษัทของคนไทยที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลก เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก นายทรงพล สุขจันทร์ ได้รับประทานอาหารค่ำและจับเข่าคุยอย่างอบอุ่นเป็นกันเองกับชุมชนไทยในมลรัฐมิชิแกนทั้งรุ่นอาวุโสทรงคุณค่า รุ่นหนุ่มสาวนักธุรกิจยุคใหม่ และรุ่นเยาวชนนักเรียนนักศึกษาอนาคตของชาติ เมื่อค่ำวันที่ 23 สิงหาคม 2558 ที่ร้านอาหาร Thai Basil เมือง Livonia โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิเช่น คุณอาคม ประดิษฐวณิช ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมไทย-อเมริกันแห่งรัฐมิชิแกนเมื่อปี 2547 และยังเป็นผู้สนับสนุนวัดพุทธวิหารนานาชาติ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวัดปากน้ำมิชิแกน แพทย์หญิงจินตนา ปะระมะกุล ประธาน Thai Physicians Association of American 2015 แพทย์หญิงอมรลักษณ์ กระแสลาภ ซึ่งมา train ด้านเด็กที่ดีทรอย์ คุณโจ ทัศมา อดีตนายกสมาคมไทย-อเมริกัน มิชิแกน คุณเบญจพล ปิยวาณิชพงษ์ supplier บริษัท General Motors และ Ford น้องเต้ สุพริศร์ สุวรรณิก ประธานสมาคมนักเรียนไทย University of Michigan น้องแพร เจริญวุฒิพงษ์ แห่ง Michigan State University และประธานนักเรียนระดับ Grad เป็นต้น ซึ่งนอกจากเอกอัครราชทูตจะได้สดับตรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส้รางความเข้มแข็งของชุมชนไทยในพื้นที่ซึ่งมุ่งเน้นการประสานประโยชน์ในด้านต่างๆ ร่วมกันแล้ว การที่ชุมชนไทยด้วยกันเองเชื้อเชิญให้ร่วมแรงร่วมใจดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ยังแสดงถึงพลังไทยและน้ำใสใจจริงของชุมชนไทยที่มิตรจิตมิตรใจให้แก่ท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวสามารถแปลงเป็นรูปธรรมด้วยกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนไทยซึ่งเชื่อมั่นว่าจะนำมาซึ่งพลังอำนาจต่อรองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ของไทยในสหรัฐฯ สืบไป
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตยังได้กล่าวถึงการดำเนินภารกิจสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในห้วงเวลาปัจจุบันให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเฉพาะในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล รวมทั้งเน้นย้ำการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างคนไทยจากรุ่นสู่ร่นเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และแบ่งปันองค์ความรู้ทั้งในยามปกติและในสภาวะที่ต้องเผชิญวิกฤตปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อเป็นทั้งโอกาสและหนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างร่วมด้วยช่วยกัน และก่อนแยกย้ายจากกันด้วยเวลาอันสมควร เอกอัครราชทูตได้ประชาสัมพันธ์โครงการของสถานเอกอัครราชทูตที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ ที่มีความใฝ่ฝันหรือตั้งเป้าที่จะทำงานในภาคส่วนการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่โครงการ Thai American National Internship Program (TANIP) อันเป็นโครงการที่ให้ทุนแก่เยาวชนไทย-อเมริกันรุ่น 2 ได้ฝึกงานกับนักการเมืองสหรัฐฯ ในรัฐสภาสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน โดยเริ่มในปีนี้เป็นปีแรกและในปี 2016 สถานเอกอัครราชทูตฯ จะขยายจำนวนทุนให้มากขึ้นด้วยเพื่อขยายโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงผลประโยชน์ของไทยผ่านเยาวชนไทย-อเมริกัน รุ่นที่ 2 กับนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติของสหรัฐฯ ในระยะยาว
อนึ่ง นางสาวอัจฉรียา ประสิทธิ์วงศา หรือน้องนีน ซึ่งเป็นนักศึกษาทุน ODOS รุ่นที่ 3 และกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 สาขา World Politics, Michigan State University ได้กล่าวถึงความประทับใจจากการได้มีโอกาสพบกับเอกอัครราชทูตในค่ำวันนั้นให้กับข้าราชการผู้ร่วมคณะฟังว่า เมื่อได้รับฟังเอกอัครราชทูตพูดคุย ถ่ายทอดประสบการณ์ วิสัยทัศน์และเน้นย้ำเป้าหมายของภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตแล้ว ทำให้ตนเห็นภาพงานการต่างประเทศที่ใกล้ตัวและสัมผัสได้จริงนอกเหนือจากภาคทฤษฎีที่กำลังศึกษาอยู่และเป็นแรงกระตุ้นให้ตนต่อยอดการเรียนรู้ในส่วนภาคปฏิบัติกับหน่วยงานด้านการต่างประเทศในสหรัฐฯ ในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ ณ ที่นี้ในโอกาสแรกต่อไป
ศิระ สว่างศิลป์