เมื่อกงสุลสัญจรพาไปที่ไมอามี : เรื่องเล่าจากโครงการกงสุลสัญจร ตอนที่ 1


เมื่อกงสุลสัญจรพาไปที่ไมอามี : เรื่องเล่าจากโครงการกงสุลสัญจร ตอนที่ 1

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน จัดโครงการกงสุลสัญจรเป็นประจำทุกปีๆ ละ 5 – 6 ครั้ง โดยไมอามีเป็นเมืองหนึ่งที่พวกเราพยายามแวะเวียนไปทุกปี เพราะความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการบินสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกา เป็นเมืองที่คนไทยอยู่กันจำนวนมาก แน่นอนนั้นเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่เราจัดโครงการนี้ที่นี่เป็นประจำ

พวกเราออกเดินทางจากกรุงวอชิงตันในช่วงสายๆ ของวันที่ 17 กรกฏาคม 2558 และบินถึงสนามบิน MIA ในช่วงต้นบ่าย ตื่นตากับความทันสมัยของสนามบินที่นี่และตื่นใจกับความงดงามของเมืองนี้ แวะรับประทานอาหารกันง่ายๆ ก่อนเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์และจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อม โดยเครื่องมือทั้งระบบรับคำร้องหนังสือเดินทางและระบบจัดพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชนได้ถูกจัดส่งไปล่วงหน้าด้วยบริการของ FedEx เมื่อพวงเราเดินทางผ่านแถวรถติดยาวในช่วงบ่ายวันศุกร์นั้นกว่าไปถึงวัดพุทธรังษีซึ่งใช้เป็นที่จัดโครงการก็เกือบหกโมงเย็นแล้ว   แต่ด้วยประสบการณ์ของทีมฝ่ายกงสุลสั่งสมมาบวกความร่วมแรงร่วมใจจากทางวัดและชุมชนไทยนำโดยสมาคมไทยในฟลอริดาตอนใต้ทั้งคุณกัญญา มูลศิริ ประธานคณะกรรมการสมาคมฯ คุณปัญญาภรณ์ รัศมีเทศ ประธานสมาคมฯ คุณวีระพงษ์ ห์ลีละเมียร เหรัญญิก ตลอดจนคุณสมชาย วณิชย์พุลผล อาสาสมัครและคุณสันธยา ผลีสนธิ กรรมการของวัดพุทธรังษีต่างสลับหมุนเวียนกันมาช่วยเหลืองานโครงการกงสุลสัญจรของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กันอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย สมเป็นแบบอย่างของน้ำใจไทยในไมอามีเป็นที่สุด พวกเราได้รู้ว่า ทะเลไมอามีที่ว่ากว้างใหญ่ไพศาลและยาวเหลือคณานับน่าจะยังไม่เท่าน้ำใจคนไทยที่เอื้อเฟื้อกันอย่างดีเยี่ยมที่นี่

 

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ราวสองทุ่มครึ่งได้ เมื่อพวกเราติดตั้งระบบเตรียมพร้อมใช้งานจริงวันรุ่งขึ้น ไม่ทันไร เราได้รับคำขอทำบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางเลยในคืนนั้น เนื่องด้วยหลายท่านสูงอายุและสภาพร่างกายไม่สมประดีไม่สู้ที่จะมาวันรุ่งขึ้นที่จะมีคนไทยมารอพวกเราเพื่อทำหนังสือเดินทาง บัตรประชาชนซึ่งเริ่มเป็นปีแรก และสอบถามข้อมูลหรือแจ้งความเดือดเนื้อร้อนใจให้พวกเราได้สดับตรับฟังจำนวนหลายร้อยคน

คืนแรกวันนั้น พวกเราเลยได้มีโอกาสรับใช้คุณลุงคุณป้าที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดพุทธรังษีที่เราเข้าไปอาศัยใช้เป็นสถานที่บริการ

ช่วยกันทำหนังสือเดินทางให้คุณลุงสารเลข มองทะเล ชาวสมุทรสาคร

ช่วยกันทำหนังสือเดินทางให้คุณลุงสารเลข มองทะเล ชาวสมุทรสาคร

งานกงสุลสัญจรในคราวนี้   โดยคุณลุงสารเลข มองทะเล ชาวสมุทรสาครโดยกำเนิด (รู้สึกเหมือนทริปนี้เราจะถูกฉโลกกับความเป็นทะเลเป็นที่สุด) วัย 66 ปี เป็นผู้ได้มาทำบัตรประชาชนเป็นปฐมฤกษ์ พวกเราต้องปลุกปลั้มกับเครื่องมือระบบสัญจรและปรับแสงช่วงกลางคืนในพระอุโบสถที่แสงสว่างจากภายนอกเริ่มลับขอบฟ้าไปได้สักพักหนึ่งแล้ว ปรับกันไปกันมา กรรมการวัดเห็นเราเก้ๆ กังๆ มาได้สักครู่ใหญ่ จึงจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแสงสว่างมาเติมให้พอดีอีก เลยได้ภาพถ่ายบัตรประชาชนใบแรกของคุณลุงสารเลขได้อย่างเหมาะสมและสวยงาม ภูมิใจทั้งคนถ่ายทำ คนขอทำบัตรและผู้อยู่เบื้องหลังกองถ่ายที่ช่วยกันติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ในวันแรก วันนั้น คุณลุงสารเลขซึ่งนั่งมาบนรถเข็นไฟฟ้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีกทำให้ไม่สามารถบังคับตนเองให้ตัวตั้งตรงอยู่นิ่งๆ ได้นาน และเราต้องการให้ภาพออกมาดูดีที่สุดไม่ให้เห็นรถเข็นไฟฟ้า เราใช้เวลา “ถ่ายทำ” กรณีคุณลุงสารเลข และผู้มาขอรับบริการซึ่งเป็นผู้สูงอายุ 4 ท่านในคืนนั้นก่อนไปทานข้าวกันก็เกือบห้าทุ่มแล้ว คุณกัญและคุณหนุ่ยจากสมาคมฯ ยังอยู่เป็นเพื่อนพวกเรา ได้เลี้ยงอาหารค่ำ (อาจต้องเรียกเป็นอาหารมื้อดึกแทน) และทำให้เราอร่อยกับการรับประทานเป็นที่สุด และยิ่งที่สุดของที่สุดเมื่อป้าแต๋วเจ้าของสวนลำไยแถวๆ วัดพุทธรังษี นำผลไม้ไทย ทั้งฝรั่ง แก้วมังกรมากมายที่ปลูกได้ทั่วไปที่ไมอามีมาเลี้ยงพวกเราให้อิ่มหนำสำราญกันไปตามๆ กัน

เกือบเที่ยงคืนวันนั้น ป้าแต๋วชวนพวกเราไปเที่ยวสวนที่เพียรทำมาหลายสิบปี พวกเราลังเลนิดในทีแรกเนื่องจากค่อนข้างดึกแล้ว เกรงใจคนชวนและพวกเราต้องกลับมาให้บริการคนไทยหลายร้อยคนที่จะมารอรับบริการจากพวกเราในเช้าวันเสาร์รุ่งขึ้น แต่ผลไม้จากสวนป้าแต๋วทำให้พวกเราไม่ลังเลต่อไป รับเชิญไปย่ำเท้าเข้าสวนผลไม้ไทยในแดนลุงแซมอย่างผู้ที่เพิ่งมีประสบการณ์แรกๆ เข้าใจว่า คงไม่มีใครคิดจะไปชมสวนผลไม้ยามเที่ยงคืนเป็นแน่

แต่คราวนี้ ไม่ได้ไปเยือนสวนป้าแต๋วคงเสียใจไปตลอด เพราะความกว้างใหญ่ไพศาลหลายสิบเอเคอร์ของสวน…พวกเราน่าจะเรียกว่าไร่ผลไม้น่าจะเหมาะสมกว่า มีทั้งฝรั่ง ลำไยที่ออกผลดกเต็มต้น กรอบและมีรสหวานหอม ฝรั่งที่ได้รับการดูแลอย่างดี ต้นอาโวคาโดที่อายุหลายสิบปีและต้นใหญ่เหมือนต้นมะม่วงเมืองไทยที่ยืนต้นมาหลายสิบปี และที่สำคัญและเป็นไฮไลท์ของ “โชว์” สวนผลไม้ของป้าแต๋วคือนางเอกซึ่งหนีไม่พ้นเจ้าแก้วมังกร ที่แข่งกันออกดอกดก ขนาดใหญ่ สีขาวและมีกลิ่นหอม เต็มทุ่งเที่ยงคืน ป้าแต๋วผู้มีประสบการณ์ทำสวนรุ่นแรกๆ ของคนไทยที่ย้ายมาอยู่ฟลอริด้าหลายสิบปีที่แล้ว ไม่พลาดนำไฟฉายและเปิดไฟหน้ารถยนต์ตอนขับพาพวกเราท่องสวนยามราตรีให้เห็นความงามของพญาแก้วมังกรที่กำลังเปลี่ยนร่างความสวยงามเป็นพญาแก้วมังกรลูกสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีแดงชมพูในที่สุด ปีหนึ่งจะได้เห็นสัก 3 – 4 รอบฤดูแก้วมังกร และดอกอันใหญ่โตงดงามมักจะบานสะพรั่งพร้อมกันในคืนๆ เดียวกันและจะหุบและร่วงโรยกลายเป็นผลหลังจากนั้น และก็เป็นคืนแรกที่พวกเราเดินทางถึงไมอามีพอดี   ที่เริ่มง่วงๆ กัน เลยได้ตื่นลืมตาขึ้นมาดูความงามสมเป็น Unseen Miami ที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน

Unseen Miami ชมแก้วมังกรบานสะพรั่งยามเที่ยงคืน

Unseen Miami ชมแก้วมังกรบานสะพรั่งยามเที่ยงคืน

เช้าวันเสาร์รุ่งขึ้น แสงแดดภายนอกปลุกเราตื่นขึ้นมาอย่างมีพลัง   พร้อมต้อนรับคนไทยที่กำลังไปรอพวกเราที่วัดพุทธรังษี ระยะทางจากโรงแรมเล็กๆ ที่พวกเราเช่าอยู่กับวัดไทยก็ใช้เวลาขับรถร่วม 45 นาที เริ่มงาน 9 โมงเช้าเราไปถึงแปดโมงกว่าก็เห็นคนไทยมาหนาตามากแล้ว ที่สำคัญเห็นคณะกรรมการที่ทางวัดกรุณาให้มาช่วยงานต้อนรับฝูงชนให้พวกเราและผู้บริหารสมาคมไทยในฟลอริดาตอนใต้ที่เริ่มงานก่อนพวกเรา ทันทีที่พวกเราเดินทางถึง และเครื่องมือที่ได้อุ่นเครื่องทำงานไปแล้วตั้งแต่คืนที่แล้ว ทำให้พวกเราเริ่มทำงานกันตั้งแต่แปดโมงครึ่ง เมื่อกรรมการและสมาคมได้กล่าวแนะนำและพวกเราได้แนะนำตนเอง แถวที่ยาวเริ่มได้รับบริการจากพวกเราและค่อยๆ ลดความยาวลงไปเรื่อยๆ เราเริ่มเร็วคิวนัดหมายล่วงหน้าจึงได้รับบริการกันก่อนเวลานัดหมายกันไปด้วย ดูทุกคนยิ้มแย้มมีความสุขที่ได้มาวัดไทย มารับบริการและเข้ามาทำบุญกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม คนไทยในละแวกใกล้เคียงได้ร่วมกับทางวัดจัดซุ้มอาหาร ผักและผลไม้ไว้จำหน่ายและบริการ และทางวัดอนุญาตให้ญาติโยมเก็บผลลำไยหลายสิบต้นที่แข่งกันออกลูกดกและผลสุกได้ที่แล้วเก็บกับไปทานกันต่อที่บ้านด้วย พวกเราดีใจที่งานสัญจรของพวกเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศดีๆ อบอุ่นระหว่างชุมชนไทยเช่นนั้น และคิดว่า ชุมชนไทยของเราที่ไมอามีก็เป็นเช่นนั้นมานานและน่าจะตลอดไป

ลำไยผลดกในวัดพุทธรังษี ไมอามี

ลำไยผลดกในวัดพุทธรังษี ไมอามี

พวกเราหกชีวิตที่ไปจากฝ่ายกงสุลของสถานทูตไทยที่วอชิงตันได้รับการดูแลอย่างดีมากๆ ได้ลิ้มลองของพื้นเมืองทั้งผัก ผลไม้ อาหารและสัมผัสบรรยากาศและกิจกรรมตลอดจนกิจการของคนไทย ซึ่งตามผลสำรวจประชากรสหรัฐฯ เมื่อปี 2553 คนไทยอาศัยในมลรัฐฟลอริดา 15,333 คน และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.79 ต่อปี ปัจจุบันคาดว่า มีคนไทยในรัฐฟลอริดาประมาณ 21,200 คน มีร้านอาหารไทยกว่า 440 ร้าน และน่าจะอยู่ในเขตเมืองไมอามีไม่ต่ำกว่า 70 ร้าน ทั้งนี้ ไมอามีเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ที่ได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบินสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกา คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านบริการ ได้แก่ บริษัทนำเข้าส่งออก เจ้าของกิจการร้านอาหาร พนักงานบริการโดยเฉพาะพ่อครัวและผู้ข่วยทำอาหารและพนักงานบริการในร้านอาหารไทย และในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ เจ้าของสวนผลไม้อย่างป้าแต๋วที่ทำให้พวกเราทึ่งกับความสำเร็จของป้าแต๋ว นอกจากนี้ คนไทยยังเป็นผู้ช่วยทำส่วนและงานเกษตรอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับเมืองไทยมานาน บางคนยังมีภาพเมืองไทยเมื่อ 30 / 40 ปีก่อน ในความคิดที่ทรงพลังในความหวงแหนและเป็นห่วงประเทศของเราอย่างดียิ่ง แม้ไม่ค่อยหรือไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยแต่ก็ไม่เคยทิ้งความเป็นไทย ดังเห็นได้จากน้ำใสใจจริงของผู้คนที่นี่

พวกเราอดภูมิใจในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ และก็ภูมิใจที่พวกเราได้เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือที่สถานเอกอัครราชทูตทำให้คนไทยเหล่านี้มีเอกสารทั้งหนังสือเดินทางและบัตรประชาชนได้ใช้ประโยชน์ โดยที่หลายท่านมีหนังสือเดินทางหมดอายุมานานหรือสูญหาย และไม่สะดวกเดินทางมาทำด้วยตนเองที่กรุงวอชิงตันเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง หลายรายถือ 2 สัญชาติทำให้มีทางเลือกในการถือเอกสารมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลายรายซึ่งมีบุตรหลานที่เกิดที่อเมริกาและอาจจะเริ่มขาดการติดต่อกับญาติในเมืองไทย เลยดูเหมือนเจเนอเรชั่นที่สองอาจจะดูห่างจากเมืองไทยไปทุกขณะถ้าพวกเราจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการ “หวนคืนสู่ถิ่นไทย” ของคนที่นี่ จากการที่พวกเขาเหล่านั้น จะมีเอกสารไว้เดินทางอย่างถูกต้องต่อไป และเราก็ได้มีบทบาทให้การเชิญชวนให้หลายต่อหลายครอบครัวนำบุตรมาขอรับสูติบัตรไทยและนำไปสู่การขอหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนต่อไป นอกจากนี้ ประโยชน์ที่หลายคนเข้ามาขอรับบริการงานกงสุลสัญจรของพวกเราก็เมื่อมีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมในเมืองไทยหรือต้องใช้บัตรประชาชนไว้ติดต่อกับทางราชการ เรายังภูมิใจที่เห็นหลายท่านดีใจเมื่อได้เข้ามาทำบัตรประชาชนและสามารถรอรับได้เลย หลายคนชูบัตรถ่ายรูปกันต่ออย่างภาคภูมิใจ เหมือนพวกเราได้ทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมาเป็นคนไทยอีกรอบทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นคนไทยมาตั้งแต่เกิดแล้วก็ตาม

การดำเนินกิจกรรมกงสุลสัญจร ครั้งที่ 4 ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. 2558 ณ วัดพุทธรังษี เมืองไมอามี ในคราวนี้มีผู้มาขอรับบริการมากกว่า 500 คน แบ่งเป็นบริการด้านกงสุลทั่วไป 55 ราย หนังสือเดินทาง 346 ราย บัตรประชาชน 126 ราย นิติกรณ์ 3 ราย ทะเบียนครอบครัว 1 ราย ซึ่งภายในสามวันที่พวกเราเพียรบริการที่นี่เหมือนพวกเราทำงานที่วอชิงตันเพิ่มขึ้นอีก 50 วันทำการประมาณนั้นด้วยจำนวนและความนิยมมาขอรับบริการ ทำให้เที่ยวนี้ ทีมพวกเราจัดจุดบริการทำหนังสือเดินทางไว้ถึง 3 จุด บัตรประชาชนอีก 1 จุด และมีจุดประสานงานและตรวจรับคำร้อง รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาแบบรวมศูนย์ 1 จุด โดยจุดบริการหนังสือเดินทางและบัตรประชาชนเป็นแบบ one stop service ทั้งรับคำร้อง ดำเนินการ และการเก็บค่าธรรมเนียม โดยหนังสือเดินทางใช้เวลาเฉลี่ย 8 – 15 นาที โดยการบริการเด็กทารกแรกเกิดและเด็กเล็กจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และบัตรประชาชนโดยเฉลี่ยรายละ 10 นาทีไม่รวมขั้นตอนรอรับบัตรที่ผลิตใหม่และการสแกนลายนิ้วมือก่อนกลับบ้านได้

ผู้รอรับบริการหนังสือเดินทางภายในพระอุโบสถซึ่งคิวแน่นทั้งสามวัน

ผู้รอรับบริการหนังสือเดินทางภายในพระอุโบสถซึ่งคิวแน่นทั้งสามวัน

ประธานและนายก/กรรมการสมาคมไทยในฟลอริดาตอนใต้มาลองทำบัตรประชาชน

ประธานและนายก/กรรมการสมาคมไทยในฟลอริดาตอนใต้มาลองทำบัตรประชาชน

การบริการบัตรประชาชนครั้งแรกที่ประสบผลสำเร็จดีมาก

การบริการบัตรประชาชนครั้งแรกที่ประสบผลสำเร็จดีมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

พวกเราได้บริการกลุ่มผู้มาขอรับบริการที่นัดหมายล่วงหน้าจนเสร็จและยังมีผู้มารอรับบริการแบบ walk in และเกือบทั้งหมดได้รับบริการยกเว้นผู้ที่ขาดเอกสารประกอบและผู้ที่ไม่อยู่เมื่อถึงคิวนัดหมาย และได้บริการผู้ที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้ามากกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่พึงพอใจงานบริการในภาพรวมมาก

 

พวกเราเองต้องขอนมัสการกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าและคณะสงฆ์ทุกรูปที่ให้พรมงคลและให้การดูแลต้อนรับอย่างดียิ่ง นอกจากบริการด้านกงสุลที่ตั้งอยู่ภายในพระอุโบสถของวัดแล้ว ทางสมาคมไทยฯ และทางวัดพุทธรังษียังได้อนุเคราะห์สถานที่ บุคลากร และสรรพกำลัง รวมทั้งเครื่องถ่ายเอกสาร และระบบ Internet มีบริการซุ้มอาหาร เครื่องดื่ม และผักผลไม้และอาหารไทยแก่ผู้มารอรับบริการที่กล่าวมาแล้ว สร้างกิจกรรมและรายได้แก่ชุมชนไทยโดยรอบ และกงสุลสัญจรยังได้นำมาซึ่งความศรัทธาของผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังเห็นได้จากการแรงศรัทธาช่วยกันบริจาคค่าน้ำค่าไฟแก่ทางวัดที่มีมากกว่า 2 พันดอลลาร์สหรัฐตลอดช่วงสัญจร 3 วันของพวกเรา

ฝ่ายกงสุลร่วมเป็นผู้แทนมอบเงินบริจาคให้พระสิริธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวุดพุทธรังษี ไมอามี

ฝ่ายกงสุลร่วมเป็นผู้แทนมอบเงินบริจาคให้พระสิริธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวุดพุทธรังษี ไมอามี

ร่วมแรงเคลียร์พื้นที่ส่งมอบคืนให้ทางวัดหลังเสร็จภารกิจ (คุณกัญญา มูลศิริ ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมไทยในฟลอริดาตอนใต้ลงทุนช่วยพวกเราดูดฝุ่นในพระอุโบสถด้วยอีกแรง)

ร่วมแรงเคลียร์พื้นที่ส่งมอบคืนให้ทางวัดหลังเสร็จภารกิจ (คุณกัญญา มูลศิริ ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมไทยในฟลอริดาตอนใต้ลงทุนช่วยพวกเราดูดฝุ่นในพระอุโบสถด้วยอีกแรง)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

กันยายน 2558