มูลนิธิฟุลไบรท์นำผู้บริหารโรงเรียนไทยเรียนรู้ประสบการณ์บริหารการศึกษาของสหรัฐฯ
คณะผู้บริหารโรงเรียนไทยพบผู้แทนกรมกิจการการศึกษาและวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
ในขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้นั้น สหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่ไทยเรียนรู้ประสบการณ์และมีความร่วมมือด้านการศึกษามายาวนานผ่านกลไกและโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน หรือฟุลไบรท์ (Thailand – U.S. Educational Foundation “Fulbright”) ที่มีท่านทูตมนัสพาสน์ ชูโต อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และ ผศ. เบญจวรรณ อุบลศรี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิฯ ในปัจจุบัน
คุณพรทิพย์ กาญจนนิยต อดีตผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิฟุลไบรท์ได้ให้เกร็ดความรู้ไว้ว่า “ชื่อ “ฟุลไบรท์” นั้น มาจากชื่อของวุฒิสมาชิก เจ วิลเลียม ฟุลไบรท์ (พ.ศ. 2448 – 2538) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ระหว่างกัน วุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เติบโตและได้รับการศึกษาในรัฐอาร์คันซอส์ ผู้ซึ่งไม่เคยได้มีโอกาสเห็นเมืองใหญ่ ๆของประเทศ ก่อนที่จะได้รับทุน Rhodes Scholarship ในปี 2468 เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ประสบการณ์ในการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด 3 ปี และการเดินทางไปในยุโรปทำให้วุฒิสมาชิกฟุลไบรท์ เชื่อมั่นถึงความสำคัญของการมองโลกจากมุมมองของคนนานาประเทศ
จากความฝังใจในเรื่องนี้นี่เอง เมื่อเป็นวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตของรัฐอาร์คันซอส์ในสมัยแรก ท่านจึงได้ผลักดันกฎหมายให้มีการสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยน โดยอาศัยงบที่ได้จากการขายอุปกรณ์ที่เหลืออยู่ของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายดังกล่าวลงนามโดยประธานาธิบดีทรูแมน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2489 หลังจากนั้นได้มีกฎหมายฉบับหลังสุดของโครงการแลกเปลี่ยนฟุลไบรท์ ภายใต้พระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรม ปี 2504 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ Fulbright – Hays Act (วุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เสนอร่างกฎหมายในวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Wayne Hays จากรัฐโอไฮโอ เสนอร่างกฎหมายในสภาผู้แทนฯ) ท่านวุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เชื่อมั่นว่า หากคนกลุ่มใหญ่ได้อยู่และเรียนรู้ร่วมกันในอีกประเทศหนึ่งแล้ว เขาน่าจะสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ชิงชังการฆ่าผู้อื่น รวมทั้งคิดและปฏิบัติตนเพื่อสันติภาพ” อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
และหนึ่งในโครงการที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิฟุลไบรท์โดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศก็ได้แก่ โครงการประชุมผู้บริหารไทยและอเมริกันในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายด้านการศึกษาของไทย – สหรัฐฯ ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนของไทยที่ได้รับการคัดเลือกได้พบหารือกับผู้บริหารจากหน่วยงานด้านการศึกษาของสหรัฐฯ ทั้งระดับรัฐบาล มลรัฐ และสถานศึกษา เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปนำเสนอเพื่อขยายผลไปสู่การปฏิบัติจริงในประเทศไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนและจังหวัดบ้านเกิดของท่าน
ผู้บริหารที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ ได้แก่ ท่าน ผอ. ณรงค์ เบ็ญจศักดิ์ จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่าน ผอ. สุปรีชา ลาภบุญเรือง จากโรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่าน ผอ. สามารถ รอดสำราญ จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม และท่าน ผอ. อภัย รอดสำราญ จากโรงเรียนอุบลวิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีคุณศุภวารี ภัทราวณิชย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟุลไบรท์ และคุณเมษ สุวรรณตรา เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมติดตาม
คณะได้พบผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ โดยได้ทราบว่าสหรัฐฯ กระจายอำนาจให้รัฐบาลระดับมลรัฐ ท้องถิ่น และสถานศึกษามีอิสระในการบริหารการศึกษาได้เองค่อนข้างมาก โดยรัฐบาลกลางกำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางและจัดสรรงบประมาณให้ส่วนหนึ่ง โดยคำนึงถึงความแตกต่างของประชากรในแต่ละมลรัฐ เช่น หากประชากรส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก เป็นคนมีฐานะยากจน หรือเป็นคนพิการ ก็จะจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับสภาพการณ์นั้น ๆ คณะยังได้พบหารือกับผู้แทนหน่วยบริหารการศึกษาของกรุงวอชิงตัน (District of Columbia Public Schools – DCPS) ซึ่งดูแลการบริหารการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่งในกรุงวอชิงตัน และแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารสถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียน Barrie มลรัฐแมริแลนด์ โดยมีท่านพระมหาเรืองฤทธิ์ จากวัดไทย กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อนบ้านของโรงเรียน Barrie กรุณาแจ้งให้คณะทราบถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างวัดกับโรงเรียน Barrie ด้วย นอกจากนี้ คณะยังพบผู้บริหารโรงเรียน Arlington Mill High School และโรงเรียน Hutchison Elementary School มลรัฐเวอร์จิเนีย โดยคณะประทับใจต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษาะและวุฒิภาวะของเด็กผ่านกีฬา ดนตรี และกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากวิชาการ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนไทยได้
ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย คณะยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาของไทยกับท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ และท่านอัครราชทูตสาโรจน์ ธนสันติ โดย ผอ. ทุกท่านมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะนำตัวอย่างที่ดีที่ได้ทราบจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไปปรับใช้กับโรงเรียนของตนเอง รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับโรงเรียนอื่น ๆ โดยจะสานต่อที่ทำได้ทันที เช่น การสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวิชาการกับการพัฒนาวุฒิภาวะของเด็กผ่านกิจกรรมกีฬาและดนตรี และการใช้สื่อการสอนให้มากขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในปัจจุบัน โดยแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนและวัดในบริเวณใกล้เคียงให้มากขึ้น
สถานทูตจะสานต่อบทบาทการเชื่อมโยงหน่วยงานไทยกับสหรัฐฯ ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรณ์มนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป
———————————–
ฐานิดา เมนะเศวต