นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องการรักษาสันติภาพ

UNGA

 

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องการรักษาสันติภาพที่ประธานาธิบดีโอบามาเป็นเจ้าภาพ และยืนยันการสนับสนุนของไทยต่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติทั่วโลก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมสหรัฐอเมริกาและประเทศเจ้าภาพอื่นๆ ที่จัดการประชุมในเรื่องที่เป็นบทบาทสำคัญของสหประชาชาติมาแล้ว 70  ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง ประเทศไทยขอชื่นชมประเทศสมาชิกหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ให้คำมั่นในวันนี้ที่จะให้การสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ  ไทยภูมิใจที่ได้สนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2489  ไทยได้ส่งทหารและตำรวจจำนวนมากกว่า 20,000 คน เข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพต่างๆ ของสหประชาชาติ ตั้งแต่สงครามเกาหลี จนถึงความขัดแย้งในติมอร์-เลสเต ตลอดจนในซูดาน และซูดานใต้

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงต้องพิจารณาทบทวนอย่างรอบด้าน เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติภาพในปัจจุบัน เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศไทยยินดีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระระดับสูงว่าด้วยปฏิบัติการด้านสันติภาพ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และล่าสุดยินดีที่เลขาธิการสหประชาชาติได้มีรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอในรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ด้วย
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า อาณัติของภารกิจรักษาสันติภาพจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ และจะต้องตระหนักว่า การป้องกันความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ การเสริมสร้างสันติภาพ และการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกัน และทั้งหมดเป็นรากฐานสำหรับสันติภาพอย่างยั่งยืน สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสิทธิทางการเมืองและสังคม และยังต้องส่งเสริมและรักษาสิทธิของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วย

IMG_6760ดังนั้น ไทยจึงเน้นความสำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ทำหน้าที่รักษาสันติภาพและเป็นนักพัฒนาด้วย จากประสบการณ์ของไทยในการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพที่ติมอร์-เลสเต และดาร์ฟูร์ในซูดาน เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทยสามารถเข้าถึงชุมชนในพื้นที่ความขัดแย้งได้อย่างทั่วถึง โดยพยายามทำความเข้าใจกับชุมชน และนำทักษะด้านการพัฒนาต่างๆ ไปเผยแพร่ อาทิ การเกษตร และการบริหารจัดการน้ำและดินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้คนท้องถิ่นสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง และสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไปภายหลังความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยได้รับความไว้วางใจและการยอมรับจากคนท้องถิ่นในการปฏิบัติภารกิจนั้นๆ เป็นอย่างดี

ไทยเชื่อว่า การเสริมสร้างและผลักดันเรื่องสตรี สันติภาพ และความมั่นคง เชื่อมโยงโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการก่อให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน แต่ยังมีสตรีในปฏิบัติการรักษาสันติภาพและในกระบวนการเจรจาสันติภาพทั่วโลกจำนวนน้อย หลักฐานจากรายงานที่ไทยร่วมจัดทำกับสถาบันสันติภาพระหว่างประเทศ (International Peace Institute) ในปีนี้ บ่งชี้ว่า เมื่อสตรีมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะสามารถบรรลุความตกลงสันติภาพได้ พร้อมทั้งดำเนินการตามความตกลงนั้นได้

ปัจจุบันยังมีความต้องการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ อยู่มาก และเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจะต้องรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ โดยต้องมองให้รอบด้านและให้รวมถึงมิติการพัฒนาด้วย ไทยจึงขอยืนยันความตั้งใจว่า ไทยจะส่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และหน่วยทหารด้านการพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง เข้าร่วมในปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติในอนาคตตามที่ได้รับการร้องขอ และไทยพร้อมที่จะร่วมมือเพิ่มเติมกับสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ เพื่อจัดการอบรมเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทย และขอบคุณประธานาธิบดี โอบามา อีกครั้งที่ได้ริเริ่มการประชุมที่สำคัญครั้งนี้

ที่มา: กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_k2&view=item&id=95927:95927&Itemid=425&lang=th

คลิ๊กเพื่อดูถ้อยแถลงฉบับเต็มของนายกรัฐมนตรีได้ที่นี่