“สมคิด”แง้มกระตุ้นศก.ก๊อกสอง-เตรียมพร้อมญี่ปุ่นยกคลื่นลงทุน ให้การบ้านเอกชน-รัฐ-คิดแผน


29 พ.ย. 2558 เวลา 13:53:47 น.

วันที่ 29 พฤศจิกายน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สร้างไทยให้เข้มแข็ง” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 33 ที่ห้องอุดรธานีฮอลล์ ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์

ดร.สมคิด กล่าวว่า จากทริปที่ญี่ปุ่น พบว่าผู้ใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยสูงมาก เมื่อพบปะเรารู้ได้ทันทีว่าเขายังมั่นใจกับไทย ไม่เคยทอดทิ้งไทย โดยได้ไปบอกเล่าให้นักลงทุนฟังถึงสถานะประเทศไทยในขณะนี้

โดยบอกว่าสิ่งที่เราต้องการขณะนี้คือการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ต้องมีเทคโนโลยีมากขึ้น มูลค่ามากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ให้ผู้ผลิตมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องการให้มายกชุด ตั้งแต่ผู้ผลิต ซัพพลาย เชน และ มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งใจจะให้กระทรวงอุตสาหกรรมแบ่งโครงสร้างใหม่เพื่อมาดูแลส่วนนี้ เพราะเราไม่ต้องการเติบโตอย่างเปราะบาง และ จีดีพีไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย เราต้องก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยมีญี่ปุ่นอยู่ข้างเรา ที่สำคัญผลประโยชน์ไม่ใช่แค่ประเทศไทย และ ญี่ปุ่น แต่ยังเอื้อให้เพื่อนบ้านที่เรียกว่ากลุ่ม CLMV ซึ่งเรายินดีเป็นจุดศูนย์กลางโดยการสนับสนุนของญี่ปุ่น โดยเข้ามาดินแดนแถบนี้ มาพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ด้วย เพราะเชื่อว่ายิ่งเขาโตเท่าไหร่ ประเทศไทยจะดีขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกคลื่นมาลงทุน เราจำเป็นต้องเอื้ออำนวยความสะดวกด้วย โดยเฉพาะความมั่นคง ปลอดภัยของคนญี่ปุ่นในไทย ที่สำคัญทุกฝ่ายในญี่ปุ่นย้ำกับเราว่าให้เข้า TPP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งเราไม่ได้ตอบว่าเราจะเข้าเมื่อไหร่ เราตอบว่าเราสนใจอย่างจริงจังที่จะเข้า แต่ต้องศึกษาผลกระทบต่างๆให้ถี่ถ้วนก่อน

ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า การลงทุนในปีหน้าโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อยากเรียนเอกชนว่าที่ทำไม่ใช่เพื่อนักลงทุนต่างประเทศอย่างเดียว เป้าใหญ่ให้นักลงทุนไทยมาลงทุนในประเทศเราเอง ท่านรู้ว่าข้างหน้าเออีซีต้องเกิด ข้างหน้าต้องแข่งด้วยนวัตกรรม โปรดักทิวิตี้ เทคโนโลยี แต่ถ้าท่านยังไม่ทำอะไรเลย คิดว่าแค่จีดีพีโตก็จะขายของต่อไป ต้องบอกว่าภาวะโลกขณะนี้อีกไม่ถึง5 ปีท่านจะรู้สึกทันที ดังนั้นให้พิจารณาว่าสิ่งใดยังขาดอยู่ แล้วต้องไม่กระจุกแค่เมืองไทย กลุ่มประเทศ CLMV ศักยภาพสูง นักลงทุนสามารถไปลงทุนได้ ตนได้เรียนกับพาณิชย์ว่าอยากให้สนับสนุนนักลงทุนไปลงทุนกับเขา ซึ่งตรงนี้บีโอไออาจจะต้องมีเซ็คชั่นใหม่ขึ้นมาเพื่อคอยติดตามนักลงทุนไทยเหล่านั้น ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลในกรณีถ้าเขาถูกเอาเปรียบ ทั้งพาณิชย์ บีโอไอ จะมีบทบาทนี้ใหม่ในอนาคตข้างหน้า

ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า ในอดีตประเทศไทยไตรภาคีไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ต่างระแวงกันทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน วันนี้ท่านนายกฯพูดคำว่าประชารัฐ เราอยู่ลำพังไม่ได้ จึงมีการฟื้นกรอ.ขึ้นมา แต่ไม่ใช่ กรอ.แบบอดีตที่มีแค่เอกชนกับรัฐบาล แต่ต้องมีภาคประชาชนมาพบปะคุยกัน ให้รู้ว่าประชาชนต้อการอะไรไม่ใช่แค่ธุรกิจต้องการอะไร ฉะนั้นการรือฟื้นกรอ.ก็ด้วยเหตุผลนี้

“วันนี้การลงทุนต่างๆ มี 2 ระดับ แนวดิ่งคือจากจังหวัด อำเภอไปถึงชุมชนหมู่บ้าน อีกระดับคือแนวระนาบ ประชาชนกับรัฐขับเคลื่อนด้วยกัน ซึ่งเราทำมาตลอด และ ต้นปีหน้าเราอาจจะมีก๊อกสองก็ได้ ที่จะวางรากฐานให้เติบโตจากฐานรากเหล่านี้ ก็ขอให้ภาคเอกชน และ ประชาชน ไม่ว่าทั้งในแนวระนาบ และ แนวดิ่ง จากผู้ว่าฯ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้คิดล่วงหน้าว่าจะมีโครงการอะไรบ้างที่จะสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตจากภายใน อย่างเรื่องการท่องเที่ยวผมให้การบ้านแล้วว่าให้รวมเป็นกลุ่มจังหวัด ให้คนเที่ยวเป็นรูท แล้วให้คนไทยเที่ยวให้ครบทุกกลุ่มจังหวัด เป็นต้น”

ดร.สมคิด กล่าวว่า ต่อไปนายกฯจะประชุมกรอ.ภาคทุกเดือน นี่เราบอกว่าให้คิดล่วงหน้าเลย ท่านก็ทราบว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ก็ไตรภาคี รัฐบาล เอกชน และ ประชาชน ถ้าเมื่อไหร่ที่ไตรภาคีปรึกษากันอย่างสามัคคีมองปัญหาประเทศร่วม พัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยร่วมกัน ความขัดแย้งจะน้อยมาก เช่นที่เราไปประชุมกรอ.ที่อุบลราชธานี ยิ่งพูดเท่าไหร่ความเข้าใจก็มากเท่านั้น ความรู้สึกเหลื่อมล้ำที่ถูกทอดทิ้งจะค่อยหาย งบประมาณจะค่อยๆ ลงไป วิธีนี้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความปรองดองด้วยประชารัฐ โดยที่ทำไปไม่ใช่เพื่อหาเสียง แต่เพื่อจะรวมพลังไทยอย่างไร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์,http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1448780331