คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ เสนอข้อมติต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนสู่การประชุม US-ASEAN Summit ที่แคลิฟอร์เนีย

ในโอกาสที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุม US-ASEAN Summit ที่ Sunnylands มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีผู้นำประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมประชุมกับประธานาธิบดีบารัค โอบามาระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. 2559 คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ นำโดย ส.ว. Ben Cardin (เดโมแครต-แมรีแลนด์) ผู้นำเสียงข้างน้อย คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา พร้อมด้วย ส.ว. John McCain (รีพับลิกัน-แอริโซนา) ประธานคณะกรรมาธิการด้านการทหาร วุฒิสภา ส.ว. Brian Schatz (เดโมแครต-ฮาวาย) ส.ว. Mazie Hirono (เดโมแครต-ฮาวาย) ส.ว. Dianne Feinstein (เดโมแครต-แคลิฟอร์เนีย) และ ส.ว. Dan Sullivan (รีพับลิกัน-อลาสกา) ได้เสนอข้อมติ (Resolution) ต้อนรับการประชุมดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน

ส.ว. Cardin ซึ่งเป็นผู้นำในการเสนอข้อมติฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนถือเป็นหนึ่งในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ โดยเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมโยงกับความมั่นคงและความรุ่งเรืองของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 ในทุกมิติ อีกทั้งการประชุมครั้งนี้ ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดีโอบามายังถือเป็นก้าวสำคัญของการกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย ทั้งในประเด็นความมั่นคงทางทะเล นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน ข้อมติฯ ยังสะท้อนความสำคัญของการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคการเมืองในสหรัฐฯ และของความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติในการส่งเสริมความก้าวหน้าของนโยบายปรับสมดุลต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ประเด็นหลักที่ปรากฏในข้อมติฯ

  • ต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนเข้าร่วม กปช.ฯ และสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
  • ยืนยันความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียนในด้านเศรษฐกิจ โครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ การส่งเสริมกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ความมั่นคงด้านสาธารณสุข เทคโนโลยีไซเบอร์ระหว่าง ประเทศ การต่อต้านการก่อการร้าย สิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงทางทะเล
  • สนับสนุนความพยายามของอาเซียนที่จะแก้ไขข้อพิพาททางทะเลและเขตแดนผ่านกระบวนการทางการทูต และสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
  • กระตุ้นการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในอาเซียนผ่านการจัดตั้งกลไกต่างๆ เพื่อหยุดยั้งขบวนการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ เพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ เพื่อส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์กับผู้นำภาคประชาสังคม และเพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและหยุดการดำเนินคดีกับบุคคลโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง

 

คลิกที่นี่เพื่อดูข้อมติฯ ฉบับเต็ม