นายกรัฐมนตรียินดีและสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ พร้อมร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ”
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 59 ที่เมือง Rancho Mirage มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ท่านนายกประยุทธ์ฯ ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ และนักวิชาชีพสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอข้อเสนอต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ของรัฐบาล
เริ่มจากกลุ่มแรก กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทยนำโดย ดร. ธวัช วิรัตติพงศ์ R&D Manager of NASA Deep Space Station สังกัด NASA Jet Propulsion Laboratory ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรนี้มากว่า 30 ปี ได้เสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ของไทยโดยการจัดตั้งองค์กรความมั่นคงด้านไซเบอร์แห่งชาติเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาระบบและสร้างความตระหนักรู้และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านไซเบอร์
กลุ่มที่สอง กลุ่มนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในนามสมาคม ATPAC ซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ในครั้งนี้เป็นกลุ่มวิศวกรในสาขาต่าง ๆ ซึ่งมี ศ.ดร. วันประชา เชาวลิตวศ์ หรือ ดร.อาร์ต อาจารย์ด้านวิศวกรรรมประจำมหาวิทยาลัย Washington เมืองซีแอทเทิล เป็นหัวหน้าทีม ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่สนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในสหรัฐฯ เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ให้แก่นักวิจัยไทย นอกจากนี้ ดร.ณัฐชนน อมรธำมรงค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิศวกรที่ National Oceanic & Atmospheric Administration (NOAA) ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำ โดยท่านนายกฯ ได้ขอให้เสนอข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะวิธีและระบบการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และเรื่องเหมืองน้ำ
กลุ่มที่สาม กลุ่มนักวิชาชีพสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ โดยมีความเชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์แอนิเมชัน กลุ่มนี้เกิดขึ้นได้โดยความคิดริเริ่มของกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส (เจษฎา กตเวทิน) ที่หวังว่าประสบการณ์ของแต่ละคนจะช่วยส่งเสริมและพัฒนางานด้านแอนิเมชันของไทยให้พัฒนาทัดเทียมในระดับสากลได้ จึงได้นำคณะไปเมืองไทย เพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสาขาแอนิเมชันที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และควรจะได้รับการต่อยอด ในการพบท่านนายกคราวนี้ นายนัฐ มินทราศักดิ์ Technical Director/Digital Artist จาก Walt Disney Animation Studio ได้เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์แอนิเมชัน ซึ่งนักแอนิเมชันและผู้ผลิตของไทยมีศักยภาพที่จะผลิตผลงานออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ไทยอาจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Technology and Animation ซึ่งเป็นงานที่สหรัฐฯ จัดเป็นประจำทุกปีทั้งในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจึงจะเป็นการดีหากมีการจัดหลักสูตรอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชันกลุ่มนี้ผ่านระบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในไทย
จากข้อเสนอที่น่าสนใจของแต่ละกลุ่ม ท่านนายกฯ จึงได้มอบหมายกระทรวง ICT และวิทยาศาสตร์ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาระบบความมั่นคงด้านไซเบอร์ และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมความร่วมมือด้านแอนิเมชันและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้โครงการด้าน Super Cluster ที่เกี่ยวกับดิจิทัล
ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านแอนิเมชัน ซึ่งท่านปลัดกระทรวงฯ ได้มอบให้กงสุลใหญ่เจษฎาประสานงานกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเร่งรัดการดำเนินการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านแอนิเมชันผ่านโครงการ Online Mentoring ซึ่งขณะนี้ได้มีการจดทะเบียนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว (http://www.thai-usmentoring.com) โดยจะเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มี.ค. 59
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยในต่างประเทศพร้อมใจที่จะช่วยเหลือและร่วมมือกันพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและก้าวทันโลก
———————————————–
บัณรสี กออนันตกูล
(ภาพบางส่วนจาก Facebook นักแอนิเมชัน)