กฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act ค.ศ. 2015
ตามที่สหรัฐฯ ได้บังคับใช้กฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act ค.ศ. 2015 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น ขอชี้แจง ดังนี้
- กฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act ค.ศ. 2015 มีผลบังคับใช้กับสินค้าที่เข้าสู่สหรัฐฯ จากทุกประเทศ ครอบคลุมหลากหลายมิติเกี่ยวกับการค้า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมประมง และมิได้มีผลบังคับเฉพาะเจาะจงกับประเทศไทยหรือสินค้าจากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งของไทย ตามที่ปรากฏในรายงานสื่อหลายสำนักซึ่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและทำให้สาธารณชนทั่วไปเกิดความสับสน อย่างไรก็ดี ได้มีการเจรจาต่อรองร่างกฎหมายดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว จนทั้งสองสภาของสหรัฐฯ มีความเห็นร่วมกันได้ โดยกลุ่มสิทธิแรงงานในสหรัฐฯ พยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวและเกิดเป็นกระแสสังคมในเวลาต่อมา
- กฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ไม่ได้ใช้แรงงานผิดกฎหมาย และมีกระบวนการผลิตที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะสินค้าไทยต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ นำเข้าเสมือนได้รับการประกันว่าปราศจากปัญหาเรื่องแรงงาน โดยจะเป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมเป็นผลดีกับภาพลักษณ์สินค้าด้วยอีกทางหนึ่ง
- ในการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับ โดยเฉพาะในภาคประมง และกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายข้างต้นว่า ไทยมีเป้าหมายเดียวกันในการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ และหวังว่าหน่วยงานของสหรัฐฯ จะนำเอากฎหมายนี้ไปปฏิบัติด้วยความโปร่งใส เพื่อไม่ให้กลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
อ่านกฏหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act 2015 (ฉบับสรุปย่อ)
อ่านกฏหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act 2015 (ฉบับเต็ม)
อ่านบทความ การให้ความเห็นของ ออท. พิศาล มาณวพัฒน์ ในหนังสือพิมพ์ New York Times