เอกอัครราชทูตเลี้ยงรับรองนายแพทย์อเมริกันผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 ออท. พิศาลและคุณวัญจนา มาณวพัฒน์ จัดเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ. นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2558 และนางโทเบีย เคอร์แลน ภริยาพร้อมมิตรสหายและข้าราชการระดับสูงของฝ่ายสหรัฐฯ จากกระทรวงการต่างประเทศ ทำเนียบขาวและกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้ผลิตรายการจากสำนักข่าวเอพี ที่ทำเนียบ ออท. ท่ามกลางบรรยากาศฉันมิตร การจัดโต๊ะอาหารที่ประดับด้วยกล้วยไม้ไทยและงานแกะสลักผักผลไม้ กอปรกับเมนูอาหารสุขภาพตลอดจนนิทรรศการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
แขกระดับสูงในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ เข้าร่วม อาทิ ออท. จิมมี่ คอลเกอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ นายแพทริค เมอร์ฟี่ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายซิดนีย์ เจ ซิลเวอร์ และนายอาร์เธอร์ นอยชตาท์ด จากสำนักทนายความที่มีชื่อเสียงในกรุงวอชิงตัน โค้ชเคธี เคมเปอร์ ผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อการศึกษา (Institute for Education) นพ. อดัม สตริกเบอร์เจอร์ แพทย์ด้านสรีระวิทยาไฟฟ้า ดร. เดวิด เอเดลแมน ผู้ช่วยประธานาธิบดีด้านนโยบายเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งผู้ผลิตรายการจากสำนักข่าวเอพีที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทย
ศ. นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ มีผลงานที่โลกต้องสดุดีชื่นชมโดยเฉพาะนวัตกรรมด้านการแพทย์และกีฬา โดยเฉพาะเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวร (AICD) ที่ ศ. นพ. มาวเวอร์ประดิษฐ์ร่วมกับ นพ. ไมเคล มิโรวสกี เมื่อปี 2512 และเริ่มทดลองใช้กับผู้ป่วยรายแรกในปี 2523 มีผู้ป่วยโรคหัวใจหลายล้านคนใช้งานอยู่ในปัจจุบันและยังคงช่วยชีวิตผู้ป่วย ให้สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกตินับล้านๆ คนทั่วโลก
ศ. นพ. มาวเวอร์เล่าถึงความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองคิดที่หลายฝ่ายในขณะนั้นยังไม่ คิดว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ว่าจะยังผลนานับประการต่อผู้ป่วยโรคหัวใจในเวลาต่อมาความ มุ่งมั่นทุ่มเทบวกกับความเชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาและไฟฟ้านำมาซึ่งสิ่ง ประดิษฐ์ดังกล่าวและอีกหลายๆ ผลงาน และแม้อายุกว่า 80 ปีแล้ว ศ. นพ. มาวเวอร์ ยังคงดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าไม่นิ่งเฉย ช่วยเหลือกองทุนและสถาบันต่างๆ ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันก็ยังคิดเครื่องประจำร่างกายที่ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย
ศ. นพ. มาวเวอร์ เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่ง ศ. นพ. มาวเวอร์ ได้กล่าวถึงความทรงจำอันประทับใจในการได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการต้อนรับอันอบอุ่นจากบุคคลสำคัญและหน่วยงานต่างๆ ของไทยตลอด 10 วันที่พำนักในประเทศไทยได้เดินทางไปบรรยายยังที่ต่างๆ 7 แห่ง และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำให้ทั้งตนและรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นที่ รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ออท. จิมมี่ คอลเกอร์ กล่าวถึงความสำคัญของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลที่ได้รับการยอมรับเทียบเท่า รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการผู้พิจารณาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ และไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ ใน Global Health Security Agenda ด้านนายแพทริค เมอร์ฟี่ เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงรับพระราชทานรางวัลที่ตนยังประจำการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจที่ได้เห็นชาวอเมริกันเข้ารับพระราชทาน รางวัลที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติในพระบรมมหาราชวัง และไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ยาวนานโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขผ่านโครงการสำคัญๆ อาทิ โครงการพัฒนาวัคซีนที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences – AFRIMS) ที่ร่วมมือกันมานาน 35 ปี และ 55 ปีตามลำดับ ซึ่งได้มีส่วนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดีในระดับประชาชน
สำหรับเมนูอาหารเพื่อสุขภาพจานแรกเป็นลาบไก่ และตามด้วยอาหารต้นตำหรับไทยได้แก่ ต้มยำล็อปสเตอร์ ผัดไทยกุ้งสด ปลาคอดราดซอสน้ำยาปู ข้าวไรซ์เบอร์รีไทย ผลไม้ ขนมไทยและกาแฟดอยตุง