สารจากกงสุล

Consul_Patreya Wattanasinสารจากกงสุล

สวัสดีค่ะ

ในนามของฝ่ายกงสุล ดิฉันขอต้อนรับทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์ “ข่าวกงสุล/ชุมชนไทย” ของสถานทูตฯ เพื่อรับทราบข้อมูลและข่าวสารด้านบริการกงสุล รวมถึงข่าวการเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนและวัดไทยของสถานทูตฯ โดยหวังว่าข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์นี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

ก่อนอื่นดิฉันขอแนะนำตัวในโอกาสที่เข้ามารับหน้าที่กงสุลค่ะ ดิฉันชื่อ น.ส. ภัทรียา วัฒนสิน มีชื่อเล่นว่า “จ๋า” จบปริญญาตรี-โท ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยที่ลอนดอน เคยทำงานที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมอาเซียน และเคยไปอยู่ที่สถานทูตไทยที่กรุงเม็กซิโก ปัจจุบันรับหน้าที่กงสุล ที่สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตันต่อจากคุณสุชาดา เมฆธารา ซึ่งพี่น้องชาวไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะใน 15 มลรัฐ/เขตปกครองที่สถานทูตฯ  ดูแลรับผิดชอบ [1] คงได้รู้จักอย่างใกล้ชิดทั้งจากงานประจำวันและการบริการกงสุลสัญจรของสถานทูตฯ ทั้ง 6 ครั้งตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยในการปฏิบัติหน้าที่กงสุล ดิฉันหวังว่าจะสามารถสานต่อมิตรสัมพันธ์ และพัฒนาการบริการด้านกงสุลสำหรับพี่น้องชาวไทยให้สะดวก รวดเร็ว ถูกต้องและถูกใจยิ่งขึ้นไปค่ะ

แม้ว่าเวลาทำการฝ่ายกงสุล (2300 ถนน Kalorama) ตามที่ประกาศไว้คือวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 12.00 น. ฝ่ายกงสุลพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในการให้บริการด้านกงสุลและคุ้มครองคนไทยตลอดเวลานะค่ะ กดกริ่งได้เลยถึงห้าโมงเย็นหากต้องการรับบริการหรือความช่วยเหลือ นอกจากนี้ หากท่านมีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนนอกเวลาราชการ สามารถโทรเข้ามาที่สายด่วนของสถานทูตฯ ที่เบอร์ 202-999-7690 ซึ่งเป็นเบอร์มือถือที่มีเจ้าหน้าที่ของเรารับสายตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ

สำหรับท่านที่ต้องการประหยัดเวลาในการเดินทาง อาจนัดหมายล่วงหน้าที่เบอร์ 202-684-8493 และอีเมล์ consular@thaiembdc.org  ในการขอรับบริการงานรับรองเอกสาร งานทะเบียนราษฎร์ต่าง ๆ (ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า สูติบัตร และมรณบัตร) การทำหนังสือเดินทาง และการทำบัตรประชาชน  ซึ่งเป็นบริการล่าสุดสำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่ประสงค์จะทำบัตรใหม่ทดแทนบัตรเก่า เนื่องจากบัตรเดิมหมดอายุ สูญหาย ชำรุด หรือประสงค์จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบัตรให้สอดคล้องกับสถานะปัจจุบันนะคะ (กรณีท่านที่จะทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก ยังคงต้องไปติดต่อทำที่เมืองไทยค่ะ)

ทั้งนี้ การนัดหมายล่วงหน้ามีวัตถุประสงค์เพื่อเจ้าหน้าที่จะช่วยตรวจสอบเอกสารเพื่อความถูกต้อง จัดส่งแบบฟอร์มคำร้องที่ผู้ร้องจะต้องกรอกล่วงหน้า พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นค่ะ แต่ไม่ใช่ภาคบังคับนะคะ ต้องการมาสอบถามด้วยตัวเองก็ได้ค่ะ แต่กลัวว่าจะเสียเวลาหากเอกสารไม่พร้อม

ที่ผ่านมา ฝ่ายกงสุลของเราได้จัดทำบทความออนไลน์ในชื่อ “สาระกงสุลน่ารู้” เผยแพร่บนเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย (Facebook / Twitter) ของสถานทูตฯ นอกเหนือจากข้อมูล “บริการกงสุล” บนเว็บไซต์ภาคภาษาไทยของสถานทูตฯ (www.thaiembdc.org/th) ซึ่งได้เผยแพร่มาแล้ว 8 ฉบับ และล่าสุด ฉบับที่ 8/2559 เรื่อง มารู้จักกับคำว่า “ทะเบียนบ้านกลาง” หากมีเรื่องอื่นๆ ที่ท่านสนใจให้ทางเราศึกษาเพิ่มเติมอาจเสนอแนะหัวข้อมาที่อีเมลได้ด้วยค่ะ

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านในการชี้แนะ ติติง เพื่อเราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขและช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายกงสุล และของสถานทูตฯ ในภาพรวมเป็นที่พอใจและมีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไปค่ะ หากมีข้อแนะนำใด ๆ สามารถติดต่อโดยตรงได้ทั้งทางอีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้นค่ะ

 

ด้วยความปรารถนาดี

น.ส. ภัทรียา วัฒนสิน
กงสุล
(8 กรกฎาคม 2559)

[1] การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบการดูแลคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ดังนี้

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน 1. Alabama 2. Delaware 3. Florida 4. Georgia 5. Louisiana 6. Maryland 7. Mississippi 8. North Carolina 9. South Carolina 10. Tennessee 11. Texas 12. Virginia 13. West Virginia 14. Puerto Rico 15. District of Columbia

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก 1. Maine 2. Massachusetts 3. New Jersey 4. New York 5. Pennsylvania 6. Rhode Island 7. Connecticut 8. Vermont 9. New Hampshire 10. Ohio

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก 1. Arkansas 2. Illinois 3. Indiana 4. Iowa 5. Kansas 6. Kentucky 7. Michigan 8. Minnesota 9. Missouri 10. Nebraska 11. North Dakota 12. Oklahoma 13. South Dakota 14. Wisconsin

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส 1. Alaska 2. Arizona 3. California 4. Colorado 5. Idaho 6. Montana 7. New Mexico 8. Nevada 9. Oregon 10. Utah 11. Washington 12. Wyoming 13. Hawaii and US Pacific Territories