สี่แยกโปโตแมค: บอสตัน-นครที่คนไทยพึงรู้จัก
มาแล้วครับมาแล้ว นักเขียนหน้าใหม่ เกือบสูงวัย (ใครจะยอมแก่ง่ายๆ ไม่มีซะล่ะ) ไฟไม่ค่อยจะแรง จะมาเขียนคอลัมน์ใหม่ถอดด้าม “สี่แยกโปโตแมค” ประจำเว็บไซต์สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาให้ท่านได้อ่านเกร็ดเพลินๆ เกี่ยวกับไทยกับอเมริกาในมุมมองที่สบายๆ สไตล์ผู้เขียนครับ … อย่าได้รอช้า เราเริ่มกันเลยดีกว่า
ขอเริ่มบทแรกกันเลยทีเดียว เกี่ยวกับนครบอสตัน … ทำไมจึง “บอสตัน”?
เรื่องมีอยู่ว่าผมมีโอกาสได้ติดตามท่านทูตและมาดามไปร่วมงานเทิดพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ
ที่วัดนวมินทรราชูทิศ เมืองบอสตัน-เรย์นแฮม มลรัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีโอกาสได้ไปชมสถานที่เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี 2470 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “บทที่ 1” บทนี้นั่นเอง
คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้จักนครบอสตันดีอยู่แล้ว หลายคนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและกลับไปมีบทบาทในสังคมทั้งในและต่างประเทศมิใช่น้อย หากท่านทราบอยู่แล้ว ผมก็ยังขอเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอีกรอบแล้วกันนะครับ หากมีข้อผิดพลาด ข้อแนะนำติติง … ได้โปรดชี้แนะผู้รู้น้อย จะเป็นพระคุณยิ่ง
ตามผมมาครับ จะแนะนำให้รู้จักนครบอสตันในมุมมองของผม ก่อนจะพาไปสถานที่มงคลต่อไป
นครบอสตันเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ เป็นเมืองหลวงของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ มีพื้นที่เพียง 125 ตารางกิโลเมตร (กทม. ของเรามีพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร) นี่นับเฉพาะตัวเมืองบอสตัน ไม่ใช่บอสตันมหานคร (Greater Boston) นะครับ มีประชากรราวๆ 6.7 แสนคน เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 23 ของประเทศ (อันดับ 1 คือมหานครนิวยอร์ก ที่สองคือ “กรุงเทพ” นครลอสแอนเจลิส และที่สามคือนครชิคาโก) แต่ถ้านับประชากรทั้งมหานครบอสตัน จะมีอยู่กว่า 4.7 ล้านเชียวครับ
บอสตันเก่าแค่ไหนเชียว? โอย เก่ามากครับ กลุ่มผู้แสวงบุญพิวริตัน (Puritans) ชาวอังกฤษที่นับถือคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ ล่องเรือโยกย้ายถิ่นฐานมาจากเกาะอังกฤษเมืองแม่มาตั้งถิ่นฐานที่นี่เมื่อ ค.ศ. 1630 (ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเชษฐาธิราชแห่งราชวงศ์สุโขทัย กรุงศรีอยุธยาโน่น … นึกออกมั้ยครับ สมัยที่มีเรื่องแม่อยู่หัวท้าวศรีสุดาจันทร์นั่นไงล่ะครับ) มาถึงก็ผูกมิตรกับชนพื้นเมืองท้องถิ่น จึงตั้งรกรากสำเร็จ ในช่วงแรกเป็นทั้งเมืองท่า เมืองการค้า ค้าทั้งของและค้าทั้งคน (ในยุคนั้น ทาสเป็นสินค้านะครับ) จนกระทั่งความเจริญกระจายไปตามเมืองอื่นๆ ในเวลาต่อมา หลังจากพวกพิวริตันแล้ว ชาวไอริชเป็นผู้อพยพกลุ่มแรกๆ ที่ตามมา ต่อด้วยชาวเยอรมัน รัสเซีย ซีเรีย และชาวยิว
อาคารระฟ้าใจกลางเมืองนครบอสตันยามกลางวันและค่ำคืน สวยทั้งวี่ทั้งวัน!
เมืองแรกที่ชาวอังกฤษมาตั้งรกรากไม่ใช่บอสตัน แต่เป็นเมืองพลีมัธ (Plymouth) ในมลรัฐเดียวกันนี้แหละ มากันโดยเรือเมย์ฟลาวเวอร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1620 ก่อนเมืองบอสตันจะเกิดตั้งสิบปี
ด้วยความที่เป็นเมืองตั้งรกรากแห่งแรกๆ จึงมีอะไรแรกๆ ของประเทศเกิดขึ้นที่นี่มากมาย นับตั้งแต่สวนสาธารณะแห่งแรก (ค.ศ. 1634 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) โรงเรียนรัฐและโรงเรียนภาษาละตินแห่งแรก (ค.ศ. 1635) ร้านอาหารแห่งแรก (Union Oyster House ค.ศ. 1826) ลามไปจนถึงระบบรถไฟใต้ดินเส้นแรก (ค.ศ. 1897 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5) อีกด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่โด่งดังหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1636 และจะมีส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยในอีกสองร้อยกว่าปีต่อมา) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อย่อว่าเอ็มไอที มหาวิทยาลัยทัฟท์ และมหาวิทยาลัยบอสตัน เป็นต้น
(ช่วงที่บันทึกภาพ อยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์พอดี)
เมื่อชาวอังกฤษอพยพ “หนีภัย” จากเมืองแม่มาอยู่ที่อเมริกามาขึ้น ความเจริญก็ขยายไปตามเมืองต่างๆ ทางด้านตะวันออกของอเมริกา แต่ยังหนีไม่พ้นเงื้อมมือจากกฎหมายอังกฤษเมืองแม่ ซึ่งถือว่าคนอังกฤษไปอยู่ที่ไหน ฉันจะยื่นมือไปถึงที่นั่น ดังนั้น อังกฤษยังส่งขุนนางมาปกครองคนอังกฤษโพ้นทะเล และยังเรียกเก็บภาษีจากสินค้าที่นำเข้าจากอังกฤษไม่เว้นวาย แต่คนอังกฤษโพ้นทะเลเหล่านี้รู้สึกว่า เอ๊ะ ยังไงกัน ฉันก็ยังเป็นคนอังกฤษ แล้วยังจะมาเก็บทรัพย์ฉันไปอีกได้ยังไง จึงเริ่มมีกระแสต่อต้านอังกฤษเกิดขึ้น … โธ่ อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้ว ยังจะตามมาเก็บภาษีอีกแน่ะ ได้อย่างไร ได้อย่างไร!
ทหารอังกฤษมาปรากฏกายที่แมสซาชูเซตส์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1768 เพื่อมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งจากเมืองแม่ให้ทำหน้าที่ไล่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอังกฤษจากพวกโพ้นทะเลในอัตราสูงตามที่กฎหมายอังกฤษกำหนดไว้ เรียกว่าตามมาเก็บภาษีถึงที่ แถมเป็นภาษีที่เก็บแพงเสียด้วย (สงสัยคิดตามระยะทางหรือเปล่าหนอ?) เท่านั้นแหละครับ กระแสต่อต้านเกิดทันที เมื่อชาวบ้านเรียกร้อง สภานิคมแมสซาชูเซตส์จึงได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้ายอร์จที่ 3 เพื่อให้ทรงยกเลิกกฎหมายการเก็บภาษีดังกล่าว และในขณะเดียวกันยังได้เรียกร้องให้สภานิคมอื่นๆ ให้เข้าร่วมการต่อต้านและบอยคอตต์พ่อค้าวาณิชย์ที่นำเข้าสินค้าจากอังกฤษไปพร้อมๆ กัน … ดูสิว่าถ้าขนาดนี้ จะยอมกันมั้ย?
ย้อนกลับมาทางเมืองแม่ มีหรือจะยอม … รัฐมนตรีกระทรวงการนิคมสั่งการให้ผู้แทนอังกฤษในอเมริกายุบสภานิคมที่ให้ความร่วมมือกับสภานิคมแมสซาชูเซตส์ แถมยังสั่งการให้ผู้ว่าการนิคมแมสซาชูเซตส์ไปสั่งให้สภานิคมยกเลิกการชักชวนนิคมอื่นๆ ด้วย … มีหรือที่สภานิคมจะยอม! ต่อมาศุลการักษ์อังกฤษได้ยึดเรือของพ่อค้าชาวบอสตันคนหนึ่งในข้อหาลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ทำให้ชาวโพ้นทะเลยิ่งไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการยุยงแบบปากต่อปากให้ต่อต้านอังกฤษ … โอ้ย วิธีนี้ใช้ได้ผลมาแต่โบร่ำโบราณ จากปากต่อปากนี่แหละครับ จริงหรือไม่จริงไม่มีใครรู้เลย แต่เป็นผลครับ ชาวโพ้นทะเลเริ่มต่อต้านอำนาจอังกฤษมากขึ้นทุกที และนำไปสู่เหตุการณ์การสังหารหมู่บอสตัน (Boston Massacre) ในปี ค.ศ. 1770 ซึ่งอาจกล่าวได้เต็มปากว่าเกิดจากน้ำผึ้งหยดเดียวโดยแท้ แต่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะนำไปสู่การจุดประกายการแยกประเทศในเวลาต่อมา
วัยรุ่นโพ้นทะเลคนหนึ่งไปตะโกนหน้าค่ายทหารอังกฤษบอกว่านายทหารคนหนึ่งยังไม่ใช้หนี้สินค้าให้กับเจ้านายของตน ทหารเวรหน้าค่ายดันไปโต้ตอบว่าไม่จริง อย่ามาดูถูกเจ้านายของฉัน (ความจริงเจ้านายชำระหนี้ไปแล้ว) วัยรุ่นคนนั้นก็เลยท้าทายให้ทหารเวรแน่จริงลงมา ลงมา (ประมาณนั้น) ตะโกนสู้กันไปมา วัยรุ่นก็ขว้างของ ทหารก็ปาของกลับ ประชาชนคนเริ่มมีฝรั่งมุง วัยรุ่นขว้างไปท้าไปด่าไปด้วย คุณ ท.ทหารดันไม่อดทน ปรี๊ดแตก ลงจากป้อมมาเอาพานท้ายปืนมอบให้ที่ใบหน้าวัยรุ่นคนนั้น เท่านั้นแหละครับ คนเข้ามารุมล้อมทหาร เพื่อนทหารในป้อมมาช่วย โอย ชุลมุนชุลเก นายร้อยโผล่มาสั่งไม่ให้ทำร้ายประชาชนและห้ามยิงปืนโดยเด็ดขาด แต่ไม่เป็นผล หอแต๋วแตก เอ๊ย ปรี๊ดแตกซะแล้ว ทหารตั้งแถวครึ่งวงกลมในรูปแบบการยิง แล้วก็ยิง! ยิง! ยิง! โดยไม่สนใจเสียงนายทหารท่านนั้น
ผลปรากฏว่า เมื่อสิ้นเสียงปืน พลเรือนโพ้นทะเลตายคาที่ไปสาม บาดเจ็บสาหัสและตายตามไปอีกสอง รวมเป็นห้าศพ ฝูงชนวงแตก แต่แตกเพื่อไปรวมกันตามถนนต่างๆ แล้วมุ่งหน้ามาที่ป้อมอีกรอบ คราวนี้ต้องมีผู้ว่าการนิคมออกรับ สัญญาว่าจะจับตัวทหารที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายแน่ๆ และท่านก็ทำตามสัญญา จับจริง พิจารณาจริงอย่างรวดเร็ว ทหารที่ยิงโดยไม่ฟังคำสั่งถูกลงโทษสองนาย (แต่ไม่ถูกประหารชีวิต) นอกนั้นที่เหลือ ศาลยกฟ้อง
ครับ นี่คือเหตุการณ์สำคัญที่จุดให้ไฟเรียกร้องเอกราชติดพรึ่บขึ้น เป็นการปูพรมสู่เส้นทางเอกราชโดยแท้ กระแสต่อต้านอังกฤษแผ่กระจายไปทั่วอย่างรวดเร็ว เกิดงานเลี้ยงใหญ่ที่สำคัญในสามปีถัดมา คือ “งานเลี้ยงน้ำชาบอสตัน” (Boston Tea Party) ที่เรารู้จักกันดี หาใช่งานเลี้ยงน้ำชาแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการที่ฝ่ายต่อต้านอังกฤษปลอมตัวเป็นคนงานอินเดียนเผ่าโมฮอว์ค แล้วกระจายกันไปขึ้นเรือสินค้า 3 ลำที่จอดเทียบท่าท่าเรือบอสตัน โยนหีบบรรจุชาที่นำมาจากเมืองแม่ลงน้ำเรียบวุธ … หีบบรรจุชา 342 ใบในเรือทั้งสามลำไปลอยเท้งเต้งในน้ำภายในเวลา 3 ชั่วโมง!
อังกฤษโกรธสิครับ ส่งทหารบุกนิคมต่างๆ หลายแห่ง มีการต่อสู้กันดุเดือดที่ยุทธภูมิบังเกอร์ฮิลล์ไม่ไกลจากบอสตัน อังกฤษชนะ ครองบอสตันได้ แต่สาหัสเลือดโชก สูญกำลังพลไปมากกว่าฝ่ายโพ้นทะเลอย่างเทียบไม่ได้ ชนะแต่กำลังใจกลับถดถอย ในขณะที่ฝ่ายโพ้นทะเลพ่ายแพ้แต่กำลังใจมาเพียบ (เอ๊ะ ยังไงหว่า?) จึงพากันไปล้อมเมืองบอสตัน (Siege of Boston) เมื่อปี ค.ศ. 1775 โดยการนำของท่านนายพลคนดัง ยอร์จ วอชิงตัน นั้นเอง ล้อมไว้กว่า 10 เดือน ล้อมไปด้วย ยิงปืนใหญ่ใส่ป้อมอังกฤษไปด้วย จะไหวหรือครับ เสียหายเป็นพันนาย …. อังกฤษต้องถอยทัพทหารกว่าหมื่นนายไปยังกองบัญชาการใหญ่ที่โนวาสโกเทียในแคนาดาในท้ายที่สุด และเหตุการณ์นี้ถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ของสงครามปฏิวัติเพื่อเอกราชของสหรัฐอเมริกาครับ
ได้เวลาหยุดรบ มารู้จักบอสตันในส่วนที่เกี่ยวกับไทยเราดีกว่า
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงหันมาศึกษาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงช่วยงานที่โรงพยาบาลศิริราชและได้ทอดพระเนตรเห็นความล้าหลังด้านการแพทย์ของบ้านเรา จึงทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นที่จะเบนเข็มทิศมาทรงอุทิศพระสติปัญญาให้กับงานด้านนี้ โดยทรงปรึกษาพระยากัลยาณไมตรีในการเลือกสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ….
ขอคั่นสักนิดว่า พระยากัลยาณไมตรีท่านนี้เป็นคนละคนกับท่านฟรานซิส บี. แซร์ ที่พวกเรารู้จักท่านในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเจรจากับต่างประเทศในการแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจนเป็นผลสำเร็จ และมีชื่อของท่านปรากฏเป็นชื่อถนนที่ตั้งอยู่ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงการต่างประเทศเดิมที่วังสราญรมย์ พระยากัลยาณไมตรีท่านนี้เป็นชาวอเมริกันและเป็นนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเช่นเดียวกับท่านฟรานซิส บี. แซร์ ชื่อเสียงเรียงนามของท่านคือ เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด (Jens Iverson Westengard) รับราชการต่อจากท่านบี.แซร์ โดยได้รับพระราชทานราชทินนามเดียวกันจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ครับ
พระบรมราชชนกทรงเรียนชั้นเตรียมแพทย์ที่ฮาร์วาร์ดจนจบ และทรงลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 1 แต่ทรงไปเรียนโรงเรียนการสาธารณสุขซึ่งเป็นก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างฮาร์วาร์ดกับเอ็มไอที ทรงได้รับประกาศนียบัตรด้านสาธารณสุขเมื่อปี 2464 แล้วเสด็จฯ ไปเรียนแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สกอตแลนด์ ก่อนที่จะทรงกลับมาศึกษาแพทย์ที่ฮาร์วาร์ดอีกครั้งในปี 2469 ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม (Cum Laude) ในปี 2471 ก่อนเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยในปีเดียวกัน
ในระหว่างที่ทรงศึกษาที่ฮาร์วาร์ดในช่วงแรก ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ เมื่อปี 2463 ซึ่งต่อมานางสาวสังวาลย์ฯ ก็คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทยเรา จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา เสด็จพระราชสมภพในช่วงที่พระบรมราชชนกทรงศึกษาคณะแพทยศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2470 โดยเสด็จพระราชสมภพที่โรงพยาบาลเมาท์ออร์เบิร์น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั่นเอง
โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในโลก (จนถึงปัจจุบัน) ที่เสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา ชาวเมืองบอสตันซึ่งเป็นเมืองที่เสด็จพระราชสมภพ ได้ตั้งชื่อจตุรัสย่านเมืองเก่าแห่งหนึ่งเพื่อเทิดพระเกียรติว่า “King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square” และโรงพยาบาลเมาท์ออร์เบิร์นได้นำพระบรมฉายาลักษณ์จัดทำเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติของโรงพยาบาลแห่งนี้ ประกอบไปด้วยเนื้อความว่าเสด็จพระราชสมภพ ณ สถานที่แห่งนี้ และภาพข่าวการเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ เมื่อปี 2503 และ 2510 คนไทยที่ไปบอสตันควรแวะไปชมนะครับ เข้าไปชมได้ ไม่คิดเงินครับ อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ท่านคงได้คำตอบแล้วว่า ทำไมคนไทยพึงรู้จัก จริงไหมครับ?
พบกันใหม่ในเร็วๆ นี้ครับ!
กิตินัย นุตกุล
5 กรกฎาคม 2559
kitinain@thaiembdc.org
หมายเหตุ
- อนุญาตให้นำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อได้โดยต้องอ้างอิงเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (thaiembdc.org)
- ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เขียน ไม่อนุญาตให้นำไปทำการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการค้า