โครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย

ภาพข่าวนักเรียนไทยไป NASA

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมมือพันธมิตรระดับโลกมอบทุนและโอกาสทางการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศ ส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ป้อนวงการสำรวจอวกาศ โดยได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

สจล. ได้ร่วมมือกับศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ (U.S. Space and Rocket Center – USSRC) ร่วมกับ บริษัท Zignature Marketing จำกัด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) Thailand Space and Aeronautics Research (TSR) และ International Youth Astronomy and Space Academy (IYASA) จัดตั้งโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (Discovery of Thailand’s Astronauts Scholarship Program) ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันชิงทุนการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สจล. มีวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงงานวิจัยเพื่อสร้างทั้งคนที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมจะเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถรอบด้าน และสร้างองค์ความรู้ที่จะนำสังคมและเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำวิสัยทัศน์นี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นในการสร้างนวัตกรรมอื่นๆ ต่อไป”

admin2559-08-22_115837_185 นักบินอวกาศภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว องค์กรพันธมิตรจะให้ทุนแก่นักเรียนไทยอายุระหว่าง 14-19 ปีที่มีศักยภาพและมีความสามารถโดยผ่านการสอบ SCAT (Space Camp Aptitude Test)และได้รับการคัดเลือกจากการแข่งขันรอบสุดท้ายในSTEM Camp ที่ สจล. โดยจะต้องแข่งขันด้านประดิษฐกรรมและนวัตกรรม เพื่อได้ไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัดเป็นระยะเวลา 10 วัน ที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฐานทัพ Redstone Arsenal ของกองทัพสหรัฐในเมือง Huntsville มลรัฐ Alabama ตลอดจนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอวกาศจากอดีตจนถึงปัจจุบันจากวิศวกรที่องค์การนาซ่า รวมถึงได้ฝึกการเดินในภาวะไร้น้ำหนัก การนำยานสำรวจอวกาศขึ้นและลงจอดที่สถานีอวกาศเคนเนดี้(Kennedy Space Center) การบังคับการยานสำรวจอวกาศส่วนบุคคล หรือ Manned Maneuvering Unit (MMU) วิศวกรรมสถานีอวกาศนานาชาติ และการดำน้ำเพื่อฝึกการทำงานในชุดอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเสริมว่า ในโครงการนี้ นอกจาก สจล. จะมอบทุนการศึกษาสนับสนุนนักเรียนที่ได้รับทุนแล้ว ยังจะสนับสนุนด้านการสอบทั้งการออกข้อสอบและการตรวจข้อสอบ และหลังจากที่นักเรียนที่ได้รับทุนสิ้นสุดการศึกษาในหลักสูตรเร่งรัดนี้แล้ว สจล. จะให้สิทธิ์ในการศึกษาต่อในสถาบันจนกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี รวมทั้งช่วยเตรียมตัวเพื่อให้นักเรียนได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบัน MIT ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

“เราเชื่อว่าการพัฒนาคนที่ได้ผล จะต้องมีการพัฒนาและให้โอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในกรณีนี้ เราไม่ได้ให้ทุนเฉพาะเข้าร่วมหลักสูตร 10 วันเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสนักเรียนได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกด้วย การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้เรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพและความรู้พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ที่มา: ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง