125 ปี ชาตกาล’พระองค์วรรณฯ’ กับ’มรดกภูมิปัญญา’การทูตไทย (1)

ที่มา: นสพ.มติชน รายวัน
เผยแพร่: 28 ส.ค. 59
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือที่ใครต่อใครมักจะเรียกท่านว่า “พระองค์วรรณ” และ “เสด็จในกรมฯ” ทรงเป็นปราชญ์ของแผ่นดิน พระองค์เคยดำรงตำแหน่งอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ขณะที่พระนามของพระองค์ยังคงถูกเล่าขานในฐานะ “ตำนาน” ของการทูตไทย ด้วยพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ทั้งยังทรงมีคุณูปการสูงยิ่งต่อประเทศไทยในด้านการต่างประเทศ
เนื่อง ในโอกาส 125 ปีแห่งชาตกาลของพระองค์วรรณฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมปีนี้ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “มรดกทางภูมิปัญญาการทูตไทยของพระองค์วรรณฯ” ขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงานเสวนาโดยย้อนรำลึกถึงพระองค์วรรณฯว่า “ทรงเป็นนักการทูตที่ยิ่งใหญ่” ภารกิจทางการทูตของพระองค์มีมากมายเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในการเผยแพร่ชื่อเสียงและยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงการเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เพื่อรักษาอธิปไตยและกอบกู้ผลประโยชน์ของไทยในห้วงเวลาที่สำคัญยิ่งช่วงหลัง สงครามโลกทั้งสองครั้ง และในช่วงเวลาของสงครามเย็นที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองค่าย อีกทั้งเป็นยุคสมัยที่มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การทูตไทย
ภารกิจ ของพระองค์ที่สมควรได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้รับ ทราบและเกิดความภาคภูมิใจมีอยู่มากมาย อาทิ ทรงเป็นผู้แทนการเจรจาตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่ เสมอภาคระหว่างไทยกับนานาชาติ จนบรรลุผลสมบูรณ์ในปี 2480 ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเจรจาสันติภาพในกรณีพิพาทอินโดจีนเพื่อกำหนดเขต แดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี 2484 ทรงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเจรจาเพื่อให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสห ประชาชาติได้ในปี 2489 ทรงเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกาคนแรก ซึ่งในช่วงนั้นได้ทรงมีบทบาทสำคัญช่วยให้ไทยพ้นวิกฤตการณ์หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมเอเชีย-แอฟริกา ณ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย ในปี 2498 ซึ่งในโอกาสดังกล่าวทรงได้รับเลือกเป็น
ผู้เสนอรายงาน (RAPPORTEUR) ของที่ประชุมฯ ทรงได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการที่ 6, 4, 5 ของสมัชชาสหประชาชาติในช่วงปี 2491-2495
ทั้งนี้ ทรงได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 11 ระหว่างปี 2499-2500 ซึ่งจนถึงบัดนี้ทรงเป็นคนไทยคนแรกและเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติดำรง ตำแหน่งดังกล่าว และในขณะที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ พระองค์ได้แสดงพระปรีชาสามารถที่สร้างชื่อเสียงของประเทศไทยในหมู่นานา ประเทศอย่างสูงส่ง จากการแสดงบทบาทในการแสวงหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศที่สำคัญถึง 2 ครั้งคือ เมื่อสหภาพโซเวียตยกกองทัพเข้าไปในฮังการี และเมื่ออังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ยกกำลังเข้าโจมตีอียิปต์เพื่อแย่งชิงคลองสุเอซ จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นได้จากเมื่อทรงมอบตำแหน่งประธานสมัชชาใหญ่ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นประธาน คนใหม่ ในสมัยที่ 12 ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติได้ยืนขึ้นปรบมือเป็นเกียรติประวัติแด่พระองค์ ซึ่งเป็นเกียรติคุณที่ไม่เคยมีประธานท่านใดได้รับมาก่อน นับเป็นการสร้างเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของการต่างประเทศไทยในเวทีโลก
ผู้ ช่วยรัฐมนตรีฯวีระศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากทรงเป็นนักการทูตที่ทรงพระปรีชาดังที่กล่าวมาแล้ว พระองค์วรรณฯยังทรงเป็น “นักปราชญ์และราชบัณฑิต” ที่ได้สร้างคุณอนันต์ต่อวงการวรรณกรรมและการศึกษาของไทยตกทอดมาถึงปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้หลากหลายซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ทรงเป็นกวี นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ นักบัญญัติศัพท์ นักแปล นักพูด นักศาสนา นักประชาธิปไตย และรวมทั้งก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ซึ่งในทุกวันนี้มีการเชิดชูพระเกียรติรำลึกถึงพระองค์ท่านในด้านนี้ในวาระ ต่างๆ
คำศัพท์หลายคำที่เรารู้จักกันดีในวันนี้ มาจากภูมิปัญญาความคิดของพระองค์ที่ได้บัญญัติศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษา ไทยมากมายนับร้อยคำ จนกระทั่งถวายพระสมัญญาว่า “ศัพท์ท่านวรรณ” ซึ่งติดปากและใช้กันจวบจนปัจจุบัน อาทิ citizen-พลเมือง, civilisation-อารยธรรม, company-บริษัท, country-ประเทศ, democracy-ประชาธิปไตย, executive-บริหาร, foreign-ต่างประเทศ, international-ระหว่างประเทศ, king-พระมหากษัตริย์, kingdom-ราชอาณาจักร, legislation-นิติบัญญัติ, nation-ชาติ, organisation-องค์การ, parliament-รัฐสภา, policy-นโยบาย, power-อำนาจ, Prime Minister-นายกรัฐมนตรี, science-วิทยาศาสตร์, trade-การค้า เป็นต้น
ด้วย พระเกียรติประวัติ พระเกียรติคุณ และพระจริยวัตรของพระองค์ ทรงประกอบภารกิจหลากหลายด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ ตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผลงานของพระองค์ปรากฏพระเกียรติคุณอเนกประการทั้งภายในและนานาประเทศ ทำให้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2534 อันเป็นวันคล้ายวันประสูติครบ 100 ปี องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่อง พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นปูชนียบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่านานาประเทศให้การยอมรับความสามารถของพระองค์ ท่าน อันเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรรู้สึกภาคภูมิใจ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯวี ระศักดิ์กล่าวว่า แม้ประวัติศาสตร์ไม่อาจย้อนคืน แต่เราสามารถเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ได้ ความเป็นนักการทูตที่มีพระปรีชาสามารถของพระองค์วรรณฯ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองระหว่าง ประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 วันนี้ประเทศไทยอาจหาบุคคลผู้มีความสามารถเฉกเช่นพระองค์ท่านได้ยากยิ่ง แต่เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาตัวเองเพื่อสืบสานบทบาททางการ ทูตไทยและรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในอดีตได้ จากบทบาทของพระองค์ท่าน เราได้ตระหนักถึงมรดกภูมิปัญญาทางการทูตหลายประการที่ถึงวันนี้ก็ยังทรงคุณ ค่าและเป็นหลักในการทำงานทางการทูตการต่างประเทศ ประการแรกคือ
“การ ใช้เชาวน์และความแนบเนียน” ในการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ซึ่งพระองค์ได้ทรงสะท้อนไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “วิชาชีพการทูต” ความตอนหนึ่งว่า “วุฒิสำคัญที่สุดของการทูตคือเชาวน์และความแนบเนียนเข้าคนได้สนิทกับทั้ง ความจรรโลงใจ ใฝ่บำเพ็ญคุณประโยชน์สนองคุณชาติบ้านเมือง…” โดยพระองค์ทรงแนะนำอาชีพนักการทูตว่า “ถ้าจะเป็นนักการทูตที่ดีแล้ว ก็ต้องรู้จักใช้เชาวน์และความแนบเนียน คือการเข้าคนได้สนิท ในการที่เราจะเข้าคนได้สนิทนี้ เราก็ต้องผูกมิตรกับเขา จะต้องรู้จักนิสัยใจคอของเพื่อนมนุษย์ จะต้องพิจารณาดูว่า ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น”
คุณลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ นักการทูตทุกคนควรต้องมี เนื่องจากนักการทูตเป็นเสมือนด่านหน้าของประเทศในการติดต่อสัมพันธ์กับ ประเทศอื่น นักการทูตจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อที่ประเทศของตน จะได้สามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคและสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยราบรื่น
สอง “ไมตรีจิต” หรือ goodwill ซึ่งทรงหมายถึงความตั้งใจที่จะทำความเข้าใจ เป็นสิ่งที่นักการทูตหรือผู้ทำงานด้านนี้ควรจะพัฒนาขึ้นจากการเข้าร่วม กิจกรรมทางสังคมต่างๆ ทั้งนี้ เพราะนักการทูตต้องการไมตรีจิตมาสนับสนุน
การดำเนินงานของตน ใช้ในการเจรจาต่อรอง และสร้างความเชื่อมั่นในความจริงใจและไมตรีจิตของอีกฝ่ายหนึ่ง จนเกิด “การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ” หรือ confidence building เป็นขั้นตอนแรกเพื่อนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อไป
สาม “การมีศิลปะในการเจรจาและการประนีประนอม” ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำในข้อมูลวิธีการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศ และความสามารถในการใช้ภาษาทั้งอังกฤษและภาษาอื่นๆ ในการพูด การเขียน รวมถึงการยกร่างมติ และการทำสนธิสัญญา
ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯวีระศักดิ์ ระบุว่า วันนี้การต่างประเทศของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากหลายด้าน ทั้งที่เกิดจากสถานการณ์ภายในของประเทศเองและพลวัตในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การกำหนดหลักสากลและมาตรฐานระหว่างประเทศใหม่ๆ ในมิติต่างๆ พันธกรณีสนธิสัญญาและอนุสัญญา หรือความตกลงที่ไทยเป็นภาคีที่มีผลผูกพันหรือทำให้เกิดกระแสที่ทำให้ไทยต้อง ปรับตัว เพื่อป้องกันและรับมือกับผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยภารกิจทางการทูตควบคู่ไปกับองค์ความรู้ทางเทคนิค เฉพาะด้าน เพื่อหาหนทางปกป้อง แก้ไข รักษาและเสริมสร้างผลประโยชน์ของชาติไม่ให้เสื่อมถอย ด้วยการดำเนินการทูตเชิงรุก ก้าวออกไปข้างหน้า สร้างความเข้าใจความเชื่อมั่นกับประเทศต่างๆ พร้อมๆ กับความพยายามจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงปัญหาในบ้านเมืองให้เรียบร้อยและมี เสถียรภาพ
เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การทูตไทยจากในช่วงของพระองค์ วรรณฯ เราจะเห็นว่าไทยได้เคยก้าวผ่านความท้าทายในลักษณะเช่นนี้มาก่อน แม้จะต่างยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วงที่เราต้องสร้างมิตร สร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ เพื่อรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกและสร้างภาพ ลักษณ์ของประเทศ เราจะนำบทเรียนในอดีตมาปรับใช้กับการดำเนินการทางการทูตในปัจจุบันได้อย่าง ไร หวังว่าคนรุ่นใหม่จะตระหนักถึงความสามารถ ไหวพริบ ความอุทิศตนเพื่อชาติบ้านเมืองของบรรพบุรุษ และนำประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับไปพัฒนาตนเองเพื่อประโยชน์แก่ตน สังคม และประเทศชาติ
สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อถึงมุมมองของผู้อาวุโส ด้านการต่างประเทศของไทยต่อพระองค์วรรณฯ และสิ่งที่ถือเป็นมรดกทางการทูตที่พระองค์ทิ้งไว้ให้ต่อไป