ครม.ไฟเขียวต่ออายุ ‘เชฟรอน’ ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยได้อีก 10 ปี

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบต่ออายุสัญญาสัมปทานการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม นอกชายฝั่งทะเลชุมพร-สุราษฎร์ธานี ให้ “เชฟรอน” ออกไปอีก 10 ปี จากปี 63 เป็นปี 73 ระบุ รัฐได้ประโยชน์มากกว่าการใหยุติตามสัญญา …
วันที่ 7 ธ.ค. 59 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่ออายุสัญญาสัมปทานการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม เลขที่ 1/2534/36 แปลงสำรวจหมายเลข B8/32 นอกชายฝั่งทะเลจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะ ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63 – 31 ก.ค.73 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“สัญญาสัมปทานเดิมจะหมดในปี 2563 เขาขอต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี เป็นการต่อสัญญาตามข้อผูกพันที่มีต่อกัน” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว มีกำลังการผลิตน้ำมัน 2.6 หมื่น บาร์เรล/วัน และก๊าซธรรมชาติ 180 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่ประเทศไทย มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และความต้องการใช้น้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วัน
สำหรับการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ จะดึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ขึ้นมาได้อีกราว 148 ล้าน บาร์เรล ซึ่งหากไม่มีการต่อสัญญา สัดส่วนผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ 63% และเชฟรอน 37% แต่เมื่อ ต่อสัญญาแล้ว สัดส่วนผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับเพิ่มเป็น 71% และเชฟรอนฯ เหลือ 29%
“หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วบริษัทฯ จะทำทำไมเมื่อผลประโยชน์ลดลง เพราะเวลานี้การขุดเจาะสำรวจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้ แต่ทำเพื่อการดำรงอยู่ของบริษัทต่อไป แม้จะได้ผลประโยชน์ลดลง” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ การอนุมัติต่ออายุสัมปทานครั้งนี้ รัฐบาลขอผลตอบแทนพิเศษจากเอกชน 3 ประการ คือ 1. โบนัสจากการลงนามจำนวน 5 แสนเหรียญสหรัฐ โดยให้ชำระภายใน 30 วัน นับจากวันลงนามต่อสัญญา 2. โบนัสจากการผลิตในอัตรา 1% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้จริงตลอดอายุสัญญา 10 ปี หรือมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 3. การจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนปีละ 1 แสนเหรียญสหรัฐ เป็นระยะเวลา 10 ปี เริ่มปี 2561.
แหล่งที่มา: http://www.thairath.co.th/content/804661