นวัตกรรมน่ารู้ ตอนที่ 2 : แก้ปัญหาขยะในทะเล
ในปี 2015 ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงในทะเลมากที่สุดอันดับที่ 6 ของโลก รองลงมาจากประเทศ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ ศรีลังกา โดยประเทศไทยปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากถึง 1 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านตันต่อปี ในปี 2025
องค์กร Ocean Conservancy ได้คาดการณ์ว่า จะมีพลาสติกประมาณ 8 ล้านตันต่อปี ถูกปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งน่าจะมีขยะพลาสติกในทะเลอยู่แล้วประมาณ 150 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเหล่านี้ สูงถึง 5 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี นอกจากนั้น ขยะที่ลอยอยู่ให้เราเห็นนั้นเป็นเพียง 5% ของขยะทั้งหมด ซึ่งที่เหลือจมอยู่ใต้น้ำ
ภาพขยะในคลองในกรุงเทพมหานคร (https://pantip.com/topic/33805032)
ขยะที่เป็นพลาสติกได้สร้างปัญหามากมายให้กับระบบนิเวศ สัตว์น้ำ และกำลังย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ ในรูปของไมโครพลาสติก คือพลาสติกที่แตกตัวเล็กลงเรื่อยๆ จนเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร หรือจนกระทั่งเรามองไม่เห็น ไมโครพลาสติกจะไปสะสมอยู่ในตัวของสัตว์น้ำต่างๆ และสุดท้ายมนุษย์ก็จะได้รับไมโครพลาสติกจากการบริโภคสัตว์น้ำ นอกจากการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนด้วยนโยบายต่างๆของประเทศต่าง ๆ แล้ว นวัตกรรมหลายอย่างก็ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะในน้ำ
(1) ทุ่นลอยเก็บขยะในทะเล (Floating Garbage Collector)
จากจินตนาการและความฝันของเด็กหนุ่มชาว Netherlands อายุเพียง 20 ปี ชื่อ Boyan Slat เขาได้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup ขึ้น (https://www.theoceancleanup.com/) และได้ออกแบบทุ่นลอยแบบยาว ที่สามารถนำมาต่อกันเป็นแถวได้ยาวมากกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อใช้เก็บขยะในทะเล
Slat ออกแบบด้านล่างของทุ่นลอย ให้มีลักษณะเป็นแผ่นไม่มีรู เพื่อใช้ดักจับพลาสติกที่ลอยอยู่บนพื้นผิวทะเล และสัตว์ทะเลสามารถรอดใต้ทุ่นลอยออกไปได้ ดังรูปต่อไปนี้
ตอนนำไปติดตั้ง ทุ่นลอยจะถูกนำมาเรียงต่อๆกัน เป็นรูปตัว V เพื่อดักขยะที่ลอยมาตามกระแสน้ำ
ภาพจาก www.theoceancleanup.com
องค์กร The Ocean Cleanup วางแผนที่จะติดตั้งระบบเก็บขยะนี้ ขนาดยาว 100 กิโลเมตร เพื่อเก็บขยะที่ลอยอยู่ระหว่างรัฐ Hawaii และ California (Great Pacific Garbage Patch) ภายในปี 2017 นี้
(2) ถังเก็บขยะในทะเล (Seabin : Ocean Trash Collector)
นวัตกรรมนี้เหมาะสำหรับเก็บขยะในพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก สามารถใช้เก็บขยะหรือน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ตัว Seabin ถูกออกแบบให้ยึดอยู่กับท่าเรือลอยน้ำ (Floating dock) ขอบของ Seabin จะอยู่เสมอกับผิวน้ำ และน้ำจะถูกดูดเข้าไปใน Seabin โดยปั้มน้ำแล้วถูกปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำอีกทางหนึ่ง
ภาพจาก http://inhabitat.com/floating-seabin-sucks-up-ocean-waste-including-oil-and-detergents/
(3) โดรนเก็บขยะอัตโนมัติ (Garbage-eating Drone)
โดรนเก็บขยะแบบใหม่ พัฒนาขึ้นโดย RanMarine Technology (https://www.ranmarine.io/aquadrone-wasteshark) สามารถเก็บขยะบนผิวน้ำได้อัตโนมัติ และสามารถตรวจวัดสภาพแวดล้อม แล้วส่งข้อมูลกลับไปที่ศูนย์ควบคุม นอกจากนั้นยังสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างโดรนด้วยกัน
โดรนชนิดใหม่นี้สามารถเก็บขยะได้ถึง 500 กิโลกรัมต่อครั้ง โดยอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่และโซล่าร์เซลล์เท่านั้น ซึ่งทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ภาพจาก RanMarine Technology (https://www.ranmarine.io/aquadrone-wasteshark)
การทิ้งขยะลงในแม่น้ำ คูคลอง จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ส่งผลเสียอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ภาพลักษณ์ของประเทศไทย สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ หรือแม้กระทั่งตัวพวกเราเอง เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนเองเคยใช้ชีวิตอยู่ริมคลองแสนแสบอยู่หลายปี อาศัยการเดินทางโดยเรือในคลองแสนแสบเกือบทุกวัน ปัจจุบัน เกือบทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมครอบครัว เมื่อมีโอกาสก็จะไปเดินถ่ายรูปสภาพแวดล้อมในคลองต่างๆในกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนสามารถบอกได้ว่า เมื่อก่อนขยะในคลองก็เยอะและน้ำก็เน่าเสียมากอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ขยะในคลองต่างๆมีมากกว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วมาก น้ำก็มีกลิ่นเน่าเสียมากขึ้น ถ้าเราทุกคนไม่ช่วยกันรักษาและหยุดทิ้งขยะ ลงในแม่น้ำ คูคลอง วันนึงผลกระทบก็จะย้อนกลับมาหาเราเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้เขียนขอจบบทความนี้ ด้วยภาพบางส่วนของสัตว์ทะเลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากขยะที่เราทิ้งลงไปในแหล่งน้ำต่างๆ และอยากขอให้พวกเราคิดสักนิด ก่อนที่จะทิ้งขยะลงไปในน้ำ
23 เมษายน 2560
ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, Miami, FL