ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 5 พฤษภาคม 2560

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ช่วงที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเยือนต่างประเทศต่าง ๆ เพื่อดำเนินนโยบายเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยของเรา ผมได้ใช้เวทีเหล่านี้ ในการนำเสนอ “ศาสตร์พระราชา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กับผู้นำประเทศต่าง ๆ รับทราบด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เกือบทุกประเทศรู้จักและเข้าใจหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ชุมชน ประเทศ และประชาคมโลกได้ในที่สุดนะครับ ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน ผมและคณะได้เดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ครั้งที่ 10 เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ มีประเทศมีฟิลิปปินส์เป็นประธาน โดยจัดขึ้นในปีที่อาเซียนก่อตั้งครบรอบ 50 ปี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ยาวนานและแน่นแฟ้นยิ่งกว่าความร่วมมือในภูมิภาคใด ๆ ในโลกใบนี้
ในปีนี้ ผมและผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันย้ำถึงความสำคัญในการที่จะทบทวนและพิจารณาเพิ่มศักยภาพการดำเนินการของประชาคม โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถึงแม้ความร่วมมือในอาเซียนจะประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่งแล้ว แต่เราต้องยอมรับว่า ยังต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในภูมิภาค และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากขึ้นควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ทำให้อาเซียนต้องรักษาความเป็นแกนกลางในด้านความมั่นคงของภูมิภาค และบริหารความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศมหาอำนาจให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ มั่นคง และยั่งยืน ขณะเดียวกัน อาเซียนต้องสร้างความแข็งแกร่งภายใน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน การจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียน และ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation เพื่อดูแลการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งจะต้องยืนหยัดในการส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างกัน และเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้สำเร็จโดยเร็ว และยังต้องมุ่งที่จะเพิ่มการค้าภายในระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่น ๆ ลงด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือเรื่องของความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นพ้องในการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด และเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ให้เกิดความรุนแรงและสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม
สำหรับการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือที่เรียกว่า IMT-GT นั้น ก็ได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของอนุภูมิภาคนี้ ในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ ให้สมบูรณ์ ในการสนับสนุนวิสัยทัศน์ 20 ปี ของอาเซียน และยังได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการ 5 ปี ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
อีกประเด็นความร่วมมือของกลุ่มสมาชิกอาเซียน ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อลดอุปสรรคในการเดินทางท่องเที่ยว และยกระดับให้ภูมิภาคนี้เป็น “จุดหมายปลายทางเดียวกัน” ที่เรียกว่า “Single Tourist Destination” ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ชื่อ “Visit ASEAN at 50” เพื่อฉลองการก่อตั้งอาเซียนครบรอบ 50 ปี รวมทั้งเพื่อแสดงความแตกต่างอันเป็นหนึ่งเดียวอย่างลงตัว ของกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา ในสายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 121 ล้านคน และทำรายได้ให้กับประเทศสมาชิกถึง 29 ล้านล้านบาท ประมาณ 828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในการเตรียมความพร้อม ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มุ่งเน้นการเติมเต็มเครือข่ายความเชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ ระหว่างกันให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาเครือข่ายเส้นทาง การพัฒนาโครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง – สิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 การพัฒนาทางหลวงอาเซียน โดยเน้นการเชื่อมต่อของไทยกับเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถยกฐานะขึ้นเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้อย่างเต็มตัว และจะเอื้อประโยชน์ในการเชื่อมต่อให้กับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพื่อให้เราเติบโตไปด้วยกัน และสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน ผมได้มีโอกาสไปเปิดการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก ประจำปี 2560 หรือ World Travel and Tourism Council Global Summit 2017 ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนี้ เพราะถือเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก จึงเป็นการเน้นย้ำ ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ในการจัดการประชุมระดับโลก และการมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของเอเชียและของโลกต่อไป
ในงานนี้ ผมได้นำเสนอนโยบาย ไทยแลนด์บวกหนึ่ง หรือ Thailand Plus One ซึ่งได้นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2557 เป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างประเทศ ที่สามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานสำคัญของภูมิภาคเข้าสู่ตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีผู้บริโภคกว่า 620 ล้านคนได้ ทั้งนี้ ตลาดโลก นักลงทุน นักธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวจะพบว่า ประเทศไทยมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทางเรือ และทางอากาศที่ทันสมัย ประกอบกับมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ดี จึงทำให้การเดินทางเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์นโยบาย Single Tourist Destination ของอาเซียนที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น และให้มีการกระจายไปสู่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกด้วย
รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวปี 2558 – 2560 ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในการที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีจำนวนมากขึ้น มีคุณภาพนักท่องเที่ยวดีขึ้น และการใช้จ่ายต่อรายสูงขึ้นไปพร้อม ๆ กัน โดยมีการวางแผนส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวไทยสู่การเป็น “จุดหมายปลายทางเพื่อการเดินทางมาพักผ่อนที่มีคุณภาพ” หรือ “Quality Leisure Destination” โดยจะต้องทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทั้งต้องกระจายช่วงเวลาการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวไทย และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ตลอดปี เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และเป็นการกระจายแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนในจังหวัดรองให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสร้างการจ้างงานในท้องถิ่นและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น
ผมขอยกตัวอย่างกิจกรรมขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดให้จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่พิเศษในการท่องเที่ยว และมีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของ “ชุมชนบ่อสวก” และ “ชุมชนในเวียง” เป็นต้นแบบ โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดแนวทาง สร้างการมีส่วนร่วม สร้างอาชีพ สร้างการกระจายรายได้ภายในชุมชน โดยให้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม รักษาอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการน้อมนำเอาหลักการของศาสตร์พระราชาที่การพัฒนาต้อง “ระเบิดจากข้างใน” เพื่อให้ชุมชนเข้าใจ เห็นประโยชน์ และอยากเข้าร่วม มาใช้สร้างความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงให้ชุมชน ก่อนที่จะเปิดรับการพัฒนาจากภายนอกเพื่อต่อยอดต่อไป ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่สร้างความเข้มแข็งโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อน ผมขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้มีการขยายงานออกไปให้ครอบคลุม และอยากให้พื้นที่ต่าง ๆ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชานี้ไปใช้ในชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วย
พี่น้องชาวไทยที่รักครับ
การประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้ ผมได้กำชับให้ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณในแผนงานโครงการต่าง ๆ ของหน่วยทั้ง ระยะสั้นและระยะยาว ให้ลงไปสู่พื้นที่ เข้าถึงพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยแผนงานโครงการระยะยาวเรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้ในปีนี้ โดยให้เริ่มดำเนินการทันทีเพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป และเห็นผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนด สำหรับโครงการระยะสั้น และเร่งด่วน หลายโครงการ ก็ได้เห็นผลสัมฤทธิ์มาแล้ว ซึ่งผมได้ชี้แจงให้พี่น้องประชาชนรับทราบเป็นระยะ ๆ ทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น การปฎิรูประบบสาธารณสุขทุกมิติ การบังคับใช้กฏหมาย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย สำหรับสัปดาห์นี้ ผมขอชี้แจงผลงานของรัฐบาลในด้านอื่น ๆ ดังนี้
(1) การบริหารจัดการที่ดินและผืนป่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการทวงคืนผืนป่าได้แล้วจำนวน กว่า 349,000 ไร่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ จำนวนกว่า 212,498 ไร่ นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยเหลือในการวิเคราะห์ และติดตามผลการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับศูนย์ปฏิบัติการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครองอื่น ๆ ด้วย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เร่งให้มีการบูรณาการระหว่างของกระทรวงต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยรัฐบาลได้จัดหาที่ดิน และอนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แต่จะไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐออกเอกสารสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน ให้ได้ในภายหลัง โดยรัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการใน 5 ประเภทที่ดิน ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่ราชพัสดุ
ในปี 2558 – 2560 ที่ผ่านมา การดำเนินการมีความก้าวหน้าไปพอควร ต้องใช้เวลา ต้องมีการเดินสำรวจ ตรวจสอบแผนที่อะไรมากมาย แล้วมาคัดแยก คัดกรองประชาชน เพราะฉะนั้นอาจจะดูเหมือนช้าเกินไป แต่จำเป็นจริง ๆ ได้มีการจัดหาที่ดินในพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้นกว่า 680,000 ไร่ ใน 203 พื้นที่ รวม 64 จังหวัด มีการจัดพี่น้องประชาชนลงในพื้นที่แล้วทั้งสิ้น 70 พื้นที่ ใน 43 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการจัดการที่ดินทั้งหมดมากกว่า 27,000 แปลง รวม 170,000 ไร่ ให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น 21,681 ราย ทั่วประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องทำต่อไปตามเวลาที่มีอยู่ แล้วก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ
นอกจากเรื่องที่ดินทำกินแล้ว รัฐบาลยังดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลยังจะเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่และรายได้ของพี่น้องประชาชนอีกด้วย
วันนี้ สิ่งที่สำคัญคือต้องแก้ปัญหาการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด หรืออื่น ๆ จะต้องไม่ปลูกในพื้นที่บุกรุกอีกต่อไป ตลาดจะต้องไม่รับซื้อผลผลิตที่ผิดกฎหมาย ผมขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนด้วย
เรื่องที่ 2 การบริหารจัดการน้ำ ประเทศไทยเริ่มย่างเข้าฤดูฝนแล้ว ในปีนี้ผมได้รับรายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 มกราคม ถึง เมษายน เรามีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 13 แต่เราก็ไม่อาจวางใจได้ เพราะคาดว่าทั้งปี ปริมาณฝนรวมของทั้งฤดูฝนจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีแผนการจัดสรรน้ำสำหรับฤดูฝนปีนี้เอาไว้แล้ว ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยคำนึงถึงสถานการณ์น้ำในแต่ละห้วงเวลา รวมถึงความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพียงพอตลอดทั้งปี
เรื่องน้ำนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดนะครับ ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เช่น
(1) การพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งตั้งแต่ปี 2557-2560 ทำไปแล้วรวม 6,309 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 84 ของเป้าหมาย รวมทั้งการหาแหล่งน้ำในพื้นที่ ด้วยการดำเนินการขุดบ่อ ขุดสระ และสร้างฝายทดแทนอีก 100 หมู่บ้าน
(2) การพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ได้ 235 ล้านลูกบาศ์กเมตร
(3) การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ทำแล้วสามารถเพิ่มความจุได้ 2,069.30 ล้านลูกบาศ์กเมตร คิดเป็นร้อยละ 25 ของเป้าหมายระยะยาวด้วยนะครับ
(4) โครงการบูรณาการการขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 1,267 รายการ ในปี 2559 ใช้งบประมาณกว่า 1,513 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับรายงานว่าดำเนินการไปแล้วร้อยละ 88.57 ของเป้าหมาย
นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงน้ำ การควบคุมการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การพัฒนา การคุ้มครอง ฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วมและน้ำขาดแคลน การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำในระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ รวมทั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งเราต้องใช้งบประมาณ และใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ต้องซ่อมแซมของเดิมที่ชำรุด ทั้งสร้างใหม่ด้วย แล้วก็มีการจัดทำระบบส่งน้ำเพิ่มเติมนะครับ บางที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ยั่งยืน
(3) การปรับโครงสร้างเกษตร คนไทยเป็นเกษตรกรกว่า 11 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด การสร้างความเข้มแข็งให้แก่พี่น้องเกษตรกรจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก รัฐบาลจึงได้ดำเนินโครงการเพื่อการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เช่น
(1) การวางแผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจร ตั้งแต่การขยายการรวมกลุ่มเพื่อทำนาแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนแปลงข้าวอินทรีย์ และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากข้าว
(2) การส่งเสริมการใช้ยางและผลิตภัณฑ์จากยางพาราในภาครัฐ และการควบคุมพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งผมได้สั่งการให้ การยางแห่งประเทศไทย นำส่งชื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้ประสานขึ้นบัญชีรายชื่อผลิตภัณฑ์ กับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง เพื่อที่ทางราชการจะได้จัดซื้อสิ่งของเหล่านี้มาใช้งานได้ เช่น ยางล้อ เป็นต้น ก็ขอความร่วมมือจากส่วนราชการด้วย
(3) การปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน การพัฒนาเปอร์เซ็นต์น้ำมัน เพื่อลดการเก็บผลดิบ เพิ่มมาตรฐานการสกัด ลานเทต้องได้มาตรฐาน ปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการพยากรณ์ผลผลิตและราคา รวมทั้งลดการใช้พื้นที่ปลูกที่บุกรุก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
(4) ระบบประกันสังคม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีการสร้างโอกาส ความเสมอภาค เท่าเทียมกันทางสังคม
โดยกระทรวงแรงงานได้มีการปฏิรูปการให้บริการทางการแพทย์ให้เหมาะสม ทั่วถึง และมีคุณภาพ ได้มีการเพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพทั่วไป ผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 มีนาคม 2560 สรุปได้ดังนี้ครับ
(4.1.) โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ประกันตนทั้งหมด 176 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล 105 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 71 แห่ง
(4.2.) ผู้ประกันตนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ จำนวน 73,943 ครั้ง โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาลเป็นจำนวนเงินกว่า 41 ล้านบาท ผ่านระบบการเบิกจ่าย e – claim
(4.3.) ดำเนินโครงการสถานพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วประเทศ จำนวน 40 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการบริการตรวจสุขภาพ รวมถึงให้โรงพยาบาลได้มีการติดตามดูแลการรักษาผู้ประกันตนต่อเนื่องหากพบความผิดปกติ โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น มีระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) มีระบบนัดหมายก่อนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ มีจุดคัดกรองโดยการซักประวัติผู้ประกันตน และมีป้ายแสดงขั้นตอนการเข้ารับบริการตรวจสุขภาพและป้องกันโรคที่ชัดเจน เป็นต้น
(5) การรองรับสังคมสูงวัยและคนพิการ ที่ผ่านมา มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดวิชาชีพ และในปี 2560 นี้ คาดว่าจะมีการดำเนินการโครงการนำร่องโรงเรียนผู้สูงอายุได้ถึง 63 แห่ง และการดูแลผู้สูงอายุผ่านเบี้ยยังชีพ 8 ล้านราย รวมวงเงิน 65,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่ครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านหรือติดเตียงกว่า 1 แสนราย ครอบคลุมให้ทุกตำบลให้ช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยกลไกประชารัฐ
สำหรับระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อม และเตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย อย่างครอบคลุม ด้วยยุทธศาสตร์ 3 S คือ
(1) Strong เป็นการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง มีการพัฒนาระบบบริการที่เข้าถึงง่าย “ไร้รอยต่อ” จากสถานบริการสู่ชุมชน โรงพยาบาลมีการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ และจัดให้มีคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลตั้งแต่ 120 เตียงขึ้นไป
(2) Security สนับสนุนเรื่องความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ ผ่านการออมและการมีงานทำ การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 1 จังหวัด 1 เมือง และการคุ้มครองทางสังคม ไม่ให้มีกรณีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและโดนทำร้าย
และ (3) Social Participation การมีส่วนร่วมในสังคม ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบการบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และส่งเสริมพัฒนาชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ มีการสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับผู้พิการ รัฐบาลมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ออกสู่สังคม และดำรงชีวิตได้อย่างอิสระมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มอัตราเบี้ยความพิการจากเดิม 500 บาทเป็น 800 บาทต่อคนต่อเดือน และในปี 2560 นี้ คาดว่าจะดูแลผู้พิการได้เกือบ 1.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงิน 14,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มเงินกู้ยืมกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจาก 40,000 บาท เป็น 60,000 บาท เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพด้านอาชีพและการศึกษาของผู้พิการ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนให้คนพิการมีรายได้อย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้พิการในสถานประกอบการกว่า 40,000 ราย
(6) การจัดระเบียบขอทาน คนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา พบคนไร้ที่พึ่ง 302 ราย และคนขอทานจำนวนทั้งสิ้น 161 ราย แบ่งเป็นชาวไทย 66 ราย และต่างด้าว 95 ราย สาเหตุหลักมาจากปัญหารายได้ไม่เพียงพอ เจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ และไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งได้มีการให้ความช่วยเหลือโดยเข้ารับความคุ้มครองเพื่อฟื้นฟู พัฒนาคุณภาพชีวิต 234 ราย ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล สถานคุ้มครองตามกฎหมายเฉพาะ 58 ราย ประสานส่งคืนครอบครัว 76 ราย และสำหรับขอทานต่างด้าวได้ประสานส่งกลับประเทศไปแล้ว 54 ราย อีก 41 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ การดำเนินการทั้งหมดนี้ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู เพื่อพัฒนาศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคม ได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันด้วย
(7) การส่งเสริม SMEs ประเทศไทยมี SMEs ทั้งสิ้นเกือบ 3 ล้านกิจการ และหากนับรวมวิสาหกิจรายย่อยด้วย ก็จะมีถึง 5 ล้านกิจการ โดยเพียงแค่ SMEs กลุ่มเดียว ก็ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศถึง 10 ล้านคน และมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของรายได้ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเลย
ในเรื่องนี้ บทบาทสำคัญของภาครัฐก็คือการสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้ SMEs เหล่านี้ ดำเนินงานและปรับตัวภายใต้สภาวะแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างราบรื่น ในปีนี้ กองทุนเพื่อ SMEs ในแนวทางประชารัฐ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีวงเงิน 35,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 9,000 ราย และรักษาการจ้างงานไว้ได้กว่า 72,000 คน นอกจากการให้สินเชื่อสนับสนุนแล้ว ยังใช้หลัก “พี่ช่วยน้อง” ให้ธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการปรับปรุงสินค้าและบริการ มีการใช้อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) มาช่วยในการนำผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรจากพื้นที่ห่างไกล ไปสู่ผู้บริโภคที่มีกาลังซื้อในเมือง ทั้งนี้ เราหวังจะให้มีผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงรายย่อยรายใหม่ ๆ ได้กระจายไปยังพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัดอย่างทั่วถึง ช่วยให้คนรุ่นใหม่กลับไปทำธุรกิจในภูมิลำเนา ลดการแออัดในเมืองใหญ่และสร้างความเจริญในท้องถิ่น และช่วยเหลือ SMEs ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการที่นับวันจะเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วย
(8) การบริหารจัดการข้าราชการรุ่นใหม่ และการจัดหาบุคลากร สำหรับการปฏิรูประบบบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะสูงเข้ามาสู่ระบบราชการ โดย ครม. มีมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานะครับ ให้สำนักงาน กพ. และ สำนักงาน กพร. ไปปรับปรุงแนวทางการสร้างแรงจูงใจ การให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เหมาะสมกับลักษณะของงานและความเชี่ยวชาญ และพัฒนาบุคลากรภาครัฐในทุกระดับให้ได้รับความรู้ความสามารถและความเข้าใจให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการปรับรูปแบบการดำเนินการของภาครัฐในลักษณะของประชารัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการทำงานได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ข้าราชการทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ต้องตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งผมขอให้เร่งรัดการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น โดยมุ่งเน้นกิจกรรมการระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย หลักสูตรการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และหลักสูตรการสร้างผู้นำแห่งการบริหารการเปลี่ยนแปลง สำหรับข้าราชการระดับสูง เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจต่อภาวะแวดล้อมใหม่ ในการบริหารราชการ ตามกรอบของ ป.ย.ป. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และศักยภาพความเป็นผู้นำ ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
(9) ด้านนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า แนวทางของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจไทยให้เพิ่มมูลค่าแก่สินค้า คือการสนับสนุนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ สามารถจัดซื้อสินค้าและบริการด้วยวิธีกรณีพิเศษ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณที่ผ่านมาตรฐาน โดยผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบัญชีนี้ ล้วนเป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาของสถาบันวิจัยของไทย สถาบันการศึกษาของไทย หรือจากภาคเอกชนไทยทั้งสิ้น และเจ้าของผลิตภัณฑ์ ก็เป็นนิติบุคคลไทยที่มีผู้ถือหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หากเป็นไปได้ ผมอยากให้ภาครัฐซื้อสินค้าและบริการจากนวัตกรรมของผู้ผลิตไทยที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของงบประมาณที่จะซื้อทั้งหมด เพื่อที่เราจะได้ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างโอกาส ให้ต่อยอดทางธุรกิจบนพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรมตามแนวนโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 หน่วยงานสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จาก website ของสำนักงบประมาณ ด้วย
สำหรับการพัฒนาศักยภาพการวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และสนับสนุนทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาล โดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้สนับสนุนทุนการวิจัยไป แล้ว 3,260 ทุน เป็นเงินงบประมาณรวม 1,323 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มการลงทุนวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้เพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
(10) ด้านต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศต่างๆ ล้วนพัฒนาขึ้นตามลำดับ ตามที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้น ทุกประเทศเข้าใจสถานการณ์ในประเทศของเรา และพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับเราในทุกมิติ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้โทรศัพท์พูดคุย ซึ่งผมก็ได้กล่าวยินดีกับท่านที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 พร้อมกับขอบคุณที่ท่านแสดงความเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นไปด้วยดีตลอดระยะ 184 ปี และผมได้ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคง และพร้อมสนับสนุนบทบาทอันสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเราจะต้องร่วมมือกับบรรดามิตรประเทศของไทยอื่นๆ ด้วย
สำหรับในเรื่องการศึกษา เมื่อวันที่ 23-27 เมษายน 2560 รัฐบาลจีน โดยสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เรียนเชิญภริยานายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ จากกระทรวงศึกษาธิการ ไปดูงานด้านการศึกษา ในการนี้ภริยาประธานาธิบดีจีนให้เกียรติเป็นเจ้าภาพในการเลี้ยงอาหารค่ำเป็นการส่วนตัว ณ เรือนรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ สำหรับผลของการหารือกับฝ่ายการศึกษาของจีน และคณะจากกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการสะท้อนถึงความต้องการของผู้เรียน การพัฒนาระบบการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เห็นผล เกิดเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผมจะนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนรับทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน อยากให้ได้รับทราบ ทำความเข้าใจ แล้ว เดินหน้าไปด้วยกัน ผมไม่อยากเห็นใครต้องเสียโอกาสเพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับแต่ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง
พี่น้องประชาชนที่รัก
ที่ผ่านมา ทางหนึ่งที่รัฐบาลได้สนับสนุนกิจกรรมของพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง คือการจัดให้มีงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของพี่น้องประชาชน กลุ่มจังหวัด และกลุ่มพลังประชารัฐต่าง ๆ ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาลนี้เอง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อนำสินค้าของพี่น้องในพื้นที่ต่าง ๆ มาจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ต่อยอดการตลาดและสร้างรายได้ให้เป็นวงกว้างขึ้น ผมขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ในวันที่ 4 พฤษภาคม ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม นี้ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม จะมีกิจกรรมภายใต้ชื่องาน “Thailand’s Best Local Product” โดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อจำหน่ายสินค้าดีเด่น ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารชวนชิมทั่วประเทศที่คัดสรรมาจากกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม อีกทั้งยังมีสินค้าชุมชน ที่บริษัท ประชารัฐสามัคคีจำกัด และบริษัทเอกชนผู้สนับสนุนโครงการประชารัฐ ได้ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมกว่า 900 ราย เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย ตลอดทั้ง 3 เดือนนี้ จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนสินค้ากันไป โดยในเดือนพฤษภาคม จะเป็นสินค้าจักสาน อาหารไทย ผ้า และสินค้าที่เน้นนวัตกรรม เดือนมิถุนายน จะเป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย มีข้าวไทย ผัก ผลไม้ต่าง ๆ และในเดือนกรกฎาคม จะเน้นการท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการให้บริการทำบัตรประชาชน การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด สินค้าลดราคาจากบริษัท เพื่อเป็นสวัสดิการประชาชน รวมถึง OTOP ชวนชิมอีกด้วย และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดต่าง ๆ
ในโอกาสนี้ ผมจึงอยากจะขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ช่วยกันมาอุดหนุนสินค้าของพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างรากฐานของประเทศให้เข้มแข็ง พื้นที่ของตลาดกว้างขวาง กันแดด กันฝนได้ ไม่ว่าอากาศจะร้อน หรือฝนจะตก ก็ช่วยกันมาเดิน มาช่วยกันอุดหนุนได้
สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวพุทธที่รักทุกท่าน ในวันวิสาขบูชา คือวันพุธที่ ๑๐ พฤษภาคมนี้ เป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมีการบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ร่วมกันทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญจิตภาวนา และเวียนเทียน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ และขอเชิญชวนประชาชนร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลา 17.30 ด้วย
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วน ภายใต้กลไก “ประชารัฐ” ได้มีการร่วมกันจัดงาน “สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา” พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๔-๑๐พฤษภาคมนี้ โดยมีกระทรวงและจังหวัด ต่าง ๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ เป็น“ต้นแบบ”ที่ดีงาม ให้กับพี่น้องประชาชน
สำหรับในส่วนกลาง จะจัดขึ้นที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานในวันที่ 6 พฤษภาคมด้วย ปีนี้นับเป็นปีแรก ที่มีการรณรงค์ให้ชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศ แต่งกายด้วยชุดขาว รักษาศีล ตลอดเทศกาลวิสาขบูชา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ที่มุ่งหวังจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรมที่ร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล ทั้งทางวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป
โดยให้ “คุณธรรมนําการพัฒนา” สร้าง “สังคมคุณธรรม” เพื่อให้สังคมเกิดความมั่นคง สงบสุขร่มเย็นด้วยมิติทางศาสนา ตลอดจนนําเทคโนโลยีนวัตกรรมความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บนฐานของการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง อย่างมีพลัง ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ