ออท. พิศาลร่วมยินดีกับนักกิจกรรมไทย-อเมริกันที่คว้ารางวัลด้านการพัฒนาชุมชนจากสถาบันเอเชียนแปซิฟิกอเมริกันเพื่อการศึกษาด้านรัฐสภา

คุณสมศักดิ์ ชุติศิลป์ คุณแนนซี่ สุวรรณมณี ออท. พิศาล มาณวพัฒน์ คุณชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์แรล คุณอาชวี ธรรมวาสี คุณพอล ชุมสาย คุณเอียน อัศวโกวิท

คุณพอล ชุมสาย คุณอาชวี ธรรมวาสี คุณชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์แรล คุณมีนา และคุณเอียน อัศวโกวิท

คุณคริสทีน เชน คุณมีนา อัศวโกวิท คุณอาชวี ธรรมวาสี คุณพอล ชุมสาย คุณฟลอยด์ โมริ คุณชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์แรล คุณเอียน อัศวโกวิท

เมื่อช่วงค่ำวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตันร่วมแสดงความยินดีกับคุณชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์แรล (Chancee Marterrell) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุมชนไทยในเขตนครลอสแองเจลลิส ในโอกาสเข้ารับรางวัลความสำเร็จด้านการพัฒนาชุมชนในงานกาลาดินเนอร์ประจำปี ๒๕๖๐ ของสถาบันเอเชียนแปซิฟิกอเมริกันเพื่อการศึกษาด้านรัฐสภา (APAICS) ครั้งที่ ๒๓  ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมฮิลตันวอชิงตัน กรุงวอชิงตัน

คุณชัญชนิษฐ์เป็นนักพัฒนาชุมชนรุ่นบุกเบิกซึ่งได้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมและเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาชุมชนไทยในเขตนครลอสแองเจลิสเมื่อปี ๒๕๓๘  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนไทยและเผื่อแผ่ไปยังชุมชนเอเชียอื่นๆ และยังรวมถึงชุมชนผู้สูงอายุชาวอเมริกันในเขตนครลอสแองเจลิส และมีผลงานดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนทั้งจากภาคราชการและภาคธุรกิจเอกชนจำนวนมาก โครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาไทยทาวน์ โครงการตลาดไทยทาวน์จนชุมชนไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ และโครงการที่พักอาศัย เป็นต้น  นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาชุมชนฯ ยังมีบทบาทเป็นที่ยอมรับด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตั้งแต่คดีประวัติศาสตร์โรงงานเย็บผ้าเมืองเอลมอนเต เมื่อปี ๒๕๓๘ ซึ่งศูนย์พัฒนาชุมชนฯได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานช่วยเหลือแรงงานไทย ๗๒ ชีวิตให้ได้รับอิสรภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

งานกาลาของสถาบันเอเชียนแปซิฟิกอเมริกันฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดสถาบันหนึ่งและกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่มีบทบาทสำคัญในสถาบันฯ และได้รับเกียรติและสร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้นำชุมชนจากทั่วสหรัฐฯ ในการผลักดันส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง สร้างพลังและจุดยืนของชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก    และงานกาลาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จและมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่าพันคน ซึ่งรวมถึงนักการเมืองระดับสูง เช่น ส.ว. พันโทหญิง แทมมี่  ดักเวิร์ธ (อิลลินอยส์) ส.ส. จูดี้ ชู (แคลิฟอเนีย) ส.ส. สเตฟานี มอร์ฟี่  (ฟลอริดา) และ ส.ส. เกรซ เมง (นิวยอร์ก) ทั้งนี้ ท่านทูตพิศาลฯ ได้ร่วมงานและแสดงความยินดีกับคุณชัญชนิษฐ์ตามคำเชิญของนายฟลอยด์ โมริ ประธานสถาบันเอเชียนแปซิฟิกอเมริกันเพื่อการศึกษาด้านรัฐสภา

คุณพอล ชุมสาย คุณอาชวี ธรรมวาสี อท. ภัทราวรรณ เวชชศาสตร์ คุณชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์แรล ออท. พิศาล มาณวพัฒน์ คุณภัทรียา วัฒนสิน (ภาพเมื่อช่วงบ่าย)

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คุณชัญชนิษฐ์พร้อมคณะผู้นำคนไทย-อเมริกันรุ่นใหม่จากสมาคมไทยสามัคคีซัมมิท ได้แก่ คุณเอียน อัศวโกวิท (กรุงวอชิงตัน) คุณอาชวี ธรรมวาสี (ชิคาโก) คุณพอล ชุมสาย (ชิคาโก) ได้เข้าพบ ออท. พิศาลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นถึงแนวทางพัฒนาชุมชนไทยอเมริกันในอนาคต  ซึ่ง ออท. พิศาลแสดงความชื่นชมคุณชัญชนิษฐ์ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าภาคภูมิใจให้คนไทย-อเมริกันรุ่นที่ ๒ ที่มีความเข้าใจ เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากกลไกภาครัฐของสหรัฐอเมริกาทั้งในระดับท้องถิ่น มลรัฐและรัฐบาลกลาง และกลุ่มผู้นำคนไทยรุ่นใหม่ยังเป็นผู้นำทาง สร้างบทบาทและโอกาสการเข้าถึงทางการเมืองให้ชุมชนไทยในสหรัฐฯ และได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งไทยสามัคคีซัมมิทที่สลับหมุนเวียนทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ เพื่อจัดประชุมร่วมกันตามเมืองสำคัญทุกปี ที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จและถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้คนไทยรุ่นใหม่ผ่านการบอกเล่าเส้นทางและประสบการณ์ความสำเร็จ และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายและเส้นทางสู่การเมือง

สถานทูตไทยเฝ้าติดตามและสนับสนุนชุมชนไทยอเมริกันเหล่านี้อย่างต่อเนื่องให้มีโอกาสเข้าถึงทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา สถานทูตไทยได้สนับสนุนโครงการทานิพนำเยาวชนไทยอเมริกันเข้าฝึกงานและสร้างเสริมประสบการณ์และทำความรู้จักกับนักการเมืองสำคัญของสหรัฐฯ และสนับสนุนงานของไทยสามัคคีซัมมิท และหวังว่าชุมชนไทยในสหรัฐฯ จะสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น  โดยอาจเริ่มต้นจากการเข้าร่วมในบอร์ดกรรมการโรงเรียนซึ่งเป็นหัวใจของทุกชุมชนในสหรัฐฯ และการจับมือกับชาวเอเชียอเมริกันเชื้อสายอื่นๆ ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้คนเอเชียและชาวอเมริกันซึ่งจะทำให้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลท้องถิ่นและยังเป็นการสร้างเครือข่ายการเข้าถึงทางการเมืองให้แก่ชุมชนไทย  ซึ่งการสร้างพลังของชาวเอเชียแปซิฟิกอเมริกันที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการร่วมกันจัดงานกาลาของสถาบันฯ ที่กำลังได้รับความนิยมในสังคมชั้นนำของคนอเมริกันและช่วยยกฐานะของคนเอเชียแปซิฟิก

เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย คุณเอียน อัศวโกวิท