ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 เวลา 20.15 น.
ดังนั้นผมอยากให้ทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ หรือเล็กช่วยกันเป็นแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วน ทั้งคนในชาติ และเพื่อนบ้าน ชาติพันธมิตร ได้มีการกระชับความร่วมมือ หันหน้าเข้าหากัน เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตลอดไปทั้งนี้ปัญหาความไม่มั่นคง ทุกรูปแบบ ย่อมบั่นทอนความเจริญก้าวหน้า และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งของไทยและประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับงานด้านข่าวกรองนั้น หน่วยงานความมั่นคงได้ปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องด้วยการทำงาน ของ “ประชาคมข่าวกรอง” ที่ได้มีกระบวนการตามวงรอบข่าวกรองอย่างรัดกุม มีการวิเคราะห์ ทั้งจากแหล่งข่าวเปิดและทางปิดจำนวนมาก เพื่อกำหนดความน่าเชื่อถือของแต่ละข่าวได้ ไม่ใช่เอาข่าวลือหรือข่าวที่พูดต่อกันไปมาปากต่อปากมาเอาคิดเอง วิเคราะห์เอาเอง ที่สำคัญการข่าวกรองจะต้องแม่นยำและทันเวลา นำสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่อาจจะทำไม่ได้ถึง 100% เช่น การกำหนดมาตรการระวังป้องกันต่อเป้าหมาย หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุ พร้อมทั้งหน่วยงานความมั่นคงจะต้องกำหนดมาตรการในการปฏิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นแล้ว จะเป็นกระบวนการสืบสวนสอบสวนต่อไป เพื่อที่จะหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีความชัดเจนด้วยพยานหลักฐาน ทั้งบุคคล และวัตถุพยานการทำงานของหน่วยการข่าว หน่วยงานความมั่นคง และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนนั้นจำเป็นต้องมีความสอดคล้อง มีขั้นมีตอน และต้องทำงานอย่างรอบคอบรัดกุม โดยไม่ทำตามกระแส
ที่สำคัญประชาชนทุกคนต้องเข้าใจ ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง บ้านเมืองของเรายังมีผู้ประสงค์ร้าย ทำลายประเทศอยู่ ถ้าหากว่าทุกคนช่วยกัน จะทำให้งานการข่าวของเราดีขึ้น และจะสามารถกำจัดคนเหล่านั้นให้หมดไปได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ปัจจุบันมีข้อมูลเครือข่ายการก่อเหตุร้ายอยู่เป็นจำนวนมาก ในหลายๆพฤติกรรม ทั้งกลุ่มบุคคลและบุคคล แต่เราจะต้องดำเนินการพิสูจน์ทราบให้เกิดความแน่ชัดก่อน และจะต้องระมัดระวังการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การที่จะให้มีข่าวออกมาก่อน เป็นไปไม่ได้ทุกเรื่อง ทั้งนี้ ผมไม่อยากให้สังคมมองว่าการข่าวกรองของรัฐล้มเหลว เพราะงานการข่าวกรองนั้นไม่มี 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
(1) การแก้ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมานานในอดีต ต้องแก้ทั้งระบบ แก้ทั้งเป็นปัญหาองค์รวม แล้วปัญหาปลีกย่อยอีกด้วย
(2) เรื่องการปฏิรูปประเทศ เรามีทั้งหมด 11 ด้าน และ
(3) การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ คือสิ่งที่เราคาดหวังว่าอยากให้เกิดขึ้นในอนาคตให้ได้แล้วก็ทำไปตามนั้น ให้ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นพื้นฐานในการวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่นำมิติความมั่นคงมาร่วมในการพิจารณาด้วย อย่าไปมองด้านใดด้านหนึ่ง เกี้อกูลซึ่งกันและกันทั้งหมด ความมั่นคง เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม ทั้งหมด มีผลกระทบทั้งสิ้น รวมทั้งในเรื่องของการการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทย และประชาคมโลก ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ในการประยุกต์ “ศาสตร์พระราชา” ดังกล่าว ไปใช้ในการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา SDG 2030 ของสหประชาชาติอีกด้วย ถึงแม้ว่าปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นอุปสรรคกีดขวางการทำงานของรัฐบาลและ คสช. แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่ความล้มเหลวแต่อย่างใด ผมอยากยืนยันอย่างนั้น
รัฐบาลสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จาก GDP ร้อยละ 0.1 ในครึ่งแรกของปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2558 นี่คือก่อนหน้าที่เราเข้ามา แล้วเราเข้ามาแล้วในปี 2557 ในเดือนพฤษภาคม และมีการขยายตัวต่อเนื่องตามศักยภาพและภายใต้ข้อจำกัด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2559 และ 3.3 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ผมอยากจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ระดับของความเข้าใจ ไว้ใจ และความร่วมมือ” ของพี่น้องประชาชน ทุกคน ทุกฝ่าย ที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างแท้จริง และผมเชื่อว่า เมื่อสุขภาพกายและใจของเราดี เข้มแข็งแล้ว ก็จะเป็นภูมิต้านทานคุ้มกันเรา ให้ปราศจากโรคภัยและเชื้อโรคจากภายนอกได้
ทั้งนี้ ในการรายงานผลความคืบหน้า การบริหารราชการแผ่นดิน ครบรอบ 3 ปี ของรัฐบาลและ คสช. นั้น ผมคิดว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็น อาจจะไม่เป็นประโยชน์มากนัก เพราะเราได้พยายามสร้างการรับรู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่เราก็ทำทุกอย่างมาโดยตลอด แต่ยังมีผู้ที่พยายามรอจังหวะและโอกาส ในการที่จะบิดเบือน “ข้อเท็จจริง” บั่นทอนกันเอง ทั้งนี้ คงไม่ใช่เป็นการ “ติเพื่อก่อ” แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ผ่านกระบวนแสวงหาข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ฟัง ไม่อ่าน ก็เลยไม่มีข้อมูลที่รอบด้าน หยิบเอาเฉพาะบางประเด็น ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องแก้ไขอยู่มาโจมตี จนงานใหม่ หรืองานใหญ่ทำไม่ได้ เมื่องานเล็กทำไม่ได้ งานใหญ่ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะอยู่ในกลุ่มงานเดียวกัน เพราะฉะนั้นอยากจะฝากว่า ถ้าหากพี่น้องประชาชนได้มีการติดตามการดำเนินการของทุกกระทรวง หรือทุกหน่วยงาน ตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ความพยายามเหล่านั้นที่ไม่เป็นกุศลไม่มีเจตนาดีเหล่านั้น คงไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะเราต้องอยู่กันบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้ใจ ที่พี่น้องประชาชน ให้โอกาสผม รัฐบาล และ คสช. ได้ทำงาน ตามที่ได้แถลงไว้ตั้งแต่ต้น
สำหรับพี่น้องสื่อมวลชนนั้น ผมอยากจะขอร้อง ขอให้ทบทวน ได้มีการปรับทัศนคติใหม่ เราคิดอย่างเดิมทำอย่างเดิมกันไม่ได้แล้วต่อไปในช่วงนี้ หรือช่วงหน้าด้วย จากเดิมบางส่วนอาจจะเข้าใจกันว่าเราจำเป็นต้องรายงานข่าวให้ดึงดูด ให้โดนใจโดยอาจจะละเลยจรรยาบรรณของสื่อไปบ้าง แบบนี้เป็น “การขายข่าว” ไม่ใช่ “การขายความรู้” ประชาชนอาจจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการทำงานของท่านเลย สื่อที่ดีๆ มีอีกมากมาย ผมเห็นว่าพี่น้องประชาชนในปัจจุบันนั้นมีการศึกษาสูงขึ้น วุฒิภาวะเพียงพอ มีความรู้เท่าทันและรู้จักการตรวจสอบมากขึ้น ก็น่าจะสามารถแยกแยะในการเสพสื่อที่มีความรับผิดชอบ สื่อที่มีคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น ก็คงมีคนหรือสื่อ “ส่วนน้อย” เท่านั้น ที่อาจจะยังไม่พัฒนาตนเอง ชอบความขัดแย้ง ไม่เปิดรับความเห็นต่างๆที่มีหลายด้านด้วยกัน มาประมวล ประยุกต์ เพื่อจะสร้างความเชื่อมั่น ให้กับตนเองให้กับสังคม เพราะฉะนั้นอาจจะยังนิยมสื่อฯ หรือนิยมการเสนอข่าว ขายข่าวแบบเดิมๆ ที่อาจจะมีผลเสียในเรื่องของการทำลายประเทศ ในด้านต่างๆ ทำลายสังคม บั่นทอนบรรยากาศความปรองดองของคนในชาติ บรรยากาศของความมีเสถียรภาพ ในการลงทุน ในด้านเศรษฐกิจด้วยโดยอาจจะมีทั้งเจตนา ไม่เจตนา หวังดี ไม่หวังดี ซึ่งต่างฝ่าย ต่างไม่ยอมให้มีการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น แล้วข้อสำคัญคือไม่มีความรับผิดชอบ รัฐบาลก็ต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำงานได้ช้า ช้าเกินไป เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปประเทศเช่นนี้ ประเทศชาติของเรานั้น เราต้องการมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้ แล้วนั้น เราไม่ควรจะถือเอาว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือไม่สนใจแต่เพียงการมี “อำนาจอธิปไตย” จากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่หากเราไม่มีการตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านั้น กำลังปลูกฝัง เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เราอาจจะห่างหายลืมเลือน หรือขาดแคลน บนเส้นทางของการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืนอันได้แก่
1. การพัฒนาที่ยั่งยืนและทั่วถึง โดยเราอาจจะวัดได้จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness : GNH) แทน “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” (Gross Domestic Product : GDP) ที่มุ่งสร้างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับตัวเลข แต่ละเลยมิติด้านคุณภาพ เช่น การอัดฉีดมาตรการประชานิยมที่ไม่เป็นประโยชน์ ไร้วินัยทางการคลัง ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืนและกลับสร้างปัญหามากมายในภายหลัง โดยรัฐบาลนี้ได้ให้ความ สำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิเช่น
(1)การสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม ยุติยับยั้งกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของผู้ที่มีอิทธิพล มาเฟีย เร่งขจัดปัญหายาเสพติด รวมไปถึงการจัดระเบียบสังคมในเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อยน่าอยู่ มีวัฒนธรรม
(2) การจัดระเบียบชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ มีเป้าหมาย 52 ชุมชน 7,000 กว่าครัวเรือน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 9 ชุมชน 700กว่าครัวเรือนนะครับ
(3) การฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ซึ่งมีความคืบหน้า ร้อยละ 12 เร็วกว่าแผนที่วางเอาไว้ คาดคะเนว่าจะแล้วเสร็จ และผู้อยู่อาศัยเดิม สามารถย้ายเข้าไปอยู่ได้ ประมาณเดือนมิถุนายนปีหน้า
(4) การส่งเสริมการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพิ่มช่องทางการออมหลังเกษียณ ตั้งแต่อยู่ในวัยทำงานเกือบ 40 ล้านคน ทั้งแรงงานในและนอกระบบ และ
(5) การพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรยอดมูลหนี้กว่า 3 แสนล้านบาท เป็นต้น
สำหรับ กรณีการปฏิรูประบบสาธารณสุข การบริการประชาชน ในโครงการบัตรทองเราต้องมาดูว่าที่ประชาชนไม่ได้รับการบริการดีเพียงพอ เราต้องมาร่วมกันพิจารณาดูว่า งบประมาณด้านสาธารณสุขนั้น ต้องใช้ในงานอะไรบ้าง อาทิเช่น
1. บุคลากรทางการแพทย์
2. ค่ารักษาพยาบาลคนไทยเกือบ 70 ล้านคน ซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและเข้ามารับบริการทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
3. งบประมาณในการพัฒนาปรับปรุงโรงพยาบาล สถานพยาบาลรัฐ เครื่องมือทางการแพทย์
4. งบประมาณผลิตบุคลากร งบประมาณบริหารงาน
5. งบประมาณค่ายา ทั้งยาทั่วไปราคาปกติ ราคาแพง ใช้ตามการวินิจฉัยของแพทย์ และตามความร้ายแรงของโรค งบประมาณเหล่านี้ ถือว่าสูงมาก อย่างไรก็อาจจะไม่พอในขณะนี้ เพราะว่าโรงพยาบาลมีรายได้จำกัด รัฐบาลก็มีรายได้จำกัด หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องใช้มากเกินไปก็ย่อมมีผลกระทบซึ่งกันและกัน แต่รัฐบาลนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ ดังนั้นเราต้องมาพิจารณาร่วมกันให้ดี ในการใช้จ่ายงบประมาณทั้งจากรัฐ และงบประมาณของ สสส. ที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกันให้สอดคล้อง ไม่เช่นนั้นก็แก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้เลยทั้งสิ้น
เรื่องการใช้ยาแพงมารักษาพยาบาลในการบริการบัตรทองก็เป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน อาจจะทำให้คนเข้าไม่ถึงยาราคาแพงเหล่านั้น เพราะงบประมาณมีจำกัด รัฐบาลก็ต้องหาวิธีแก้ วันนี้ก็เริ่มแก้โดยเร่งรัดส่งเสริมการผลิตยา หรือวัคซีนบางประเภทเอง แล้วนำมาใช้ให้ได้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาราคาแพงเหล่านั้น เพราะเราซื้ออย่างเดียวไม่ได้แล้วต่อไปนี้ ขอฝาก คณะกรรมการต่าง ๆ ทางการแพทย์ ให้ช่วยกันมาดูตรงนี้ด้วย เราจะลดค่าใช้จ่ายอะไรกันได้บ้าง ต้องทำอะไรขึ้นมาเองบ้าง คงต้องมาช่วยกัน จะได้เห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลได้มองทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน การผลิตยา การซื้อยา การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล สถานพยาบาล การควบคุมราคายา การผลิตยาเอง หรืออื่นๆ หากเราแก้ได้ทั้งระบบด้วยความเข้าใจ ด้วยความร่วมมือ มากกว่าที่เราจะมาติติงกันว่านั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ใช่ ไม่เห็นใจ ไม่เข้าใจกัน ก็แก้อะไรไม่ได้ ทุกคนมีความต้องการงบประมาณทั้งสิ้น ไปๆ มาๆ ก็มีผลกระทบพันไปพันมาจนยุ่งเหยิง เราต้องช่วยกันแกะออกมาแล้วก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ทั้งรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการยา สสส. แพทยสภา บุคลากรทางการแพทย์ทุกประเภทว่าเราจะแก้ไขปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการด้านสาธารณสุขอย่างไร อันนี้หมายความถึงงานอื่นด้วย ทุกกระทรวง ทุกกลุ่มงาน ปัจจุบันนั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการแพทย์ชุมชนออกเยี่ยมเยียนตรวจจ่ายยาในทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียเวลามารอที่โรงพยาบาล เสียเวลาเดินทาง คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงจะทำได้ครบทุกพื้นที่ โดย 1 ชุดนั้นจะรับผิดชอบประชาชน 30,000 คน และเราก็จะต้องเร่งการพัฒนายาสมุนไพรราคาถูกเพื่อใช้รักษาพยาบาลในขั้นต้น ป้องกันตนเองไว้ก่อน ก่อนที่จะเป็นมากขึ้น การเจ็บป่วยจะร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็ที่จะทำให้เราไม่ต้องใช้ยา ไม่สิ้นเปลือง ไม่ต้องหาหมอ ก็คือทำให้ตนเองแข็งแรง นโยบายรัฐบาลก็ไห้ทุกคนออกกำลังกาย ลดการป่วยเจ็บรักษาตัวเองให้ได้ก่อน
2. การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งนั้น เราต้องทำด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนใหญ่ที่เราทำวันนี้ก็จำเป็นต้องทำเพื่อเป็นการลงทุนในอนาคตไปด้วย จากแทบไม่เคยมีผลการดำเนินการในโครงการใหญ่มาเลย ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าที่เราทำวันนี้ยังไม่เห็นผลในวันนี้ หลายคนอาจจะมองว่าเราลงทุนมากเกินไปหรือเปล่า “ขาดทุน” แต่เราต้องทำระยะยาว ถึงจะเกิดผล ถ้าทำสั้นๆ เราก็ได้ผลตอบแทนน้อยมาก แต่ที่เราทำในวันนี้ ก็จะเป็น “กำไร” หรือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ประเทศชาติก็มีรายได้มากขึ้น กลับมาดูแลประชาชนได้มากยิ่งขึ้น พัฒนาประเทศได้มากยิ่งขึ้น เช่น
(1) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ในภาพรวม ทั้งรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ การขยายท่าเรือ ท่าอากาศยาน และมอเตอร์เวย์ เป็นต้น ระยะเร่งด่วนปี 2559 จำนวน 20 โครงการ 1.38 ล้านล้านบาท และแผนในปีนี้ จำนวน 36 โครงการ 8.95 แสนล้านบาท
(2) โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐระยะ 2 ปี 40,000 หมู่บ้าน เดิมก็มีประมาณ 30,000 กว่าหมู่บ้าน วันนี้ก็ต้องเพิ่มเติม เอกชนก็ไม่ลงทุน เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาล เมื่อเราไปส่งเสริมเศรษฐกิจ แล้วก็ต้องมาเพิ่มเรื่องดิจิตอลเข้าไปด้วย เพื่อเสริมซึ่งกันและกัน ก็จำเป็นต้องลงทุน รัฐบาลไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้อีกต่อไป
(3) การส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ทุกประเภท ในปี 2559 มีจำนวน 37 โครงการ วงเงิน 5,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการ SME ได้รับประโยชน์มากกว่า 2 แสนราย ซึ่งที่ผ่านมานั้น SME มีการฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากส่วนใหญ่ที่ผ่านมายังไม่แข็งแรงมากนัก ฐานะทางการเงินไม่ดีนัก ขาดสภาพคล่อง ขาดมาตรการลดความเสี่ยง แล้วก็มีอีกหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผลิตสินค้าเดิมๆ ที่แข่งขันกับใครไม่ได้ ไม่มีการสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ออกมา เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดความรู้ ในการบริหาร ในการประกอบการ ความรู้ในด้านระบบบัญชี ระบบภาษี ที่เรียกได้ว่าการดำเนินการยังไม่เป็น “มืออาชีพ”
ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไข ฟื้นฟู สภาพเหล่านั้นให้ได้ ด้วยการจัดตั้งกองทุน หลายหมื่นล้านบาทนะครับ หลายประเภทด้วยกัน เพื่อจะฟื้นฟู ปรับปรุง SME ให้สามารถขยายกิจการเดิม ให้อยู่ต่อไปได้ โดยใช้ความรู้ต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว รวมทั้ง แสวงหาโอกาสเพื่อจะเข้าร่วมในห่วงโซ่เดียวกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งก็เป็นปัญหาของ SME ไทยมายาวนาน ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลนี้ก็ได้เข้ามาจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด ก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หลายสถานประกอบการก็ยังเข้าไม่ถึงดังกล่าว ก็เป็นระยะๆ ไปทุกคนก็ต้องปรับตัวเองด้วย ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปเลย หรือมองว่ารัฐบาลนี้ ไม่แก้ไข ไม่ดูแล SMEs เข้าอีกยิ่งกว่านั้นปัญหาแบบนี้ ลักษณะใกล้เคียงกันแบบนี้ มีมากมาย เพราะอยู่กันมาท่ามกลางความไม่พร้อม ท่ามกลางการไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็เลยทำให้ทุกระบบของประเทศไทยค่อนข้างจะมีปัญหา ถ้าหากว่าเราลงรายละเอียดกันบ้าง หรือจริงจังกับการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือการใช้จ่ายงบประมาณรัฐที่ไม่คุ้มค่า ก็แก้ ปัญหาเป็นปีๆ ไป ก็ไม่เกิดความยั่งยืน ไม่เกิดความต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจำเป็นต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา อย่างต่อเนื่องทุกสถานการณ์ ทุกห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายใน ภายนอก
สำหรับเงินในระบบเศรษฐกิจฐานราก ที่เรามองว่า ทำไมคนจนมากขึ้นหรือไม่ ผมยอมรับว่าวันนี้อาจจะต้องน้อยลงเพราะว่าเงินจากธุรกิจสีเทาๆ หรือสีดำที่ออกมาหมุนเวียนในพื้นที่น้อยลง จากการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น การจับกุมดำเนินคดีในการหลอกลวง ต่างๆ มากขึ้น คดีทุจริตต่างๆ ถูกนำเข้าพิจารณามากขึ้น เงินจำนวนนี้ก็หายไป ก็แน่นอน มีคนจำนวนมากที่เคยได้รับประโยชน์ในเงินส่วนนี้ ต้องเกิดปัญหาแน่นอน เพราะเป็นเงินที่ผิดกฎหมายที่มาหมุนเวียนอยู่ในห่วงโซ่ ของการใช้จ่ายในภาคประชาชนก็แน่นอน ต้องลดลง ก็เดือดร้อน ก็อาจจะมองว่า รายได้ไม่ดีขึ้น หาการหางานทำยาก แต่ก็เป็นงานที่ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวกันไปทำงานที่ถูกกฎหมาย อาจจะลำบากบ้างในช่วงนี้
สำหรับการกำหนดทิศทางในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เราจำเป็น ต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแนวโน้มของโลกในภาพรวมด้วย รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือ ในรูปแบบ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” เพื่อเชื่อมโยง “ห่วงโซ่คุณค่า” และเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนของทุกประเทศภาคีเครือข่าย ให้ “เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน” (Stronger together) อาทิ แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เยกว่าIMT-GT นะครับ ก็ถือว่าเป็นอนุภูมิภาคที่สำคัญ ที่จะสนับสนุนบทบาทของประชาคมอาเซียน โดยมุ่งดำเนินการใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ
(1) การสร้างความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ได้แก่ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก และ สะพานระหว่างเมืองรันเตาปันยัง อ.สุไหงโกลกแห่งที่ 2 โครงการทางหลวงพิเศษหาดใหญ่-สะเดา-สตูล-ปะลิส และการสร้างรถไฟทางคู่ การพัฒนาท่าเรือสำราญที่กระบี่และสุราษฎร์ธานีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง และ การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เป็นต้น
(2) การปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้แก่ ความตกลงด้านการขนส่งข้ามแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย การให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รถบัสและรถตู้บริการนักท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรตรวจคนเข้าเมือง และตรวจโรคพืชและสัตว์ เป็นต้น รวมทั้ง
(3) การพัฒนาด้านนวัตกรรมในลักษณะเดียวกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของเรามีการลงทุนโครงข่ายระบบข้อมูลสารสนเทศ และ การพัฒนาเมืองสีเขียวที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระหว่าง 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับ 8 รัฐของมาเลเซีย และ 10 จังหวัดในเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย กับห่วงโซ่มูลค่าในระดับอาเซียน รวมทั้ง ตลาดสำคัญในภูมิภาค และโลกอีกต่อไป อีกทั้งการเชื่อมโยง (Connectivity) ของ 64 ประเทศ ทั้งในเอเชีย – แอฟริกา – ยุโรป รวมทั้งจีน ตามยุทธศาสตร์ One Belt , One Road นั้น (OBOR) ก็เพื่อจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการพัฒนา เชื่อมโยง เครือข่ายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการรถไฟจีน – ไทย นั้นถือเป็น 1 ใน 10 โครงการสำคัญ ตามยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งเราจะต้องเร่งดำเนินการ เป็นการเชื่อมโยงการขนส่งทางราง กับเส้นทางรถไฟจีน – ลาว ที่เป็นเส้นทางสำคัญ ในเครือข่ายระบบรางของเอเชีย (Pan-Asia Railway Network) และ เส้นทางรถไฟสายด่วน จีน – ยุโรป ที่เป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าจากจีนสู่ยุโรป รวมทั้งส่งเสริมการถ่ายโอนด้านการลงทุนทรัพยากร เทคโนโลยี และแรงงานที่มีทักษะ ในอนาคตอีกด้วย ขอให้ช่วยกันสนับสนุน ให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว อย่ามัวคัดค้านกันอยู่เลยเสียเวลา
3. การเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ มีประเด็นสำคัญๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ได้แก่
(1) การป้องกันการทุจริตโดยได้ผลักดัน พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นต้น
(2) การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวก ในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ โดยวางโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (e-Payment) รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายด้านการเงินการคลัง เช่น ร่าง พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน ร่าง พ.ร.บ. วินัยการคลังของรัฐ และ กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น รวมทั้ง ได้มีการเพิ่มเติม
รวมทั้ง อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ให้สามารถลดขั้นตอน ด้วยการการบันทึกข้อมูลเพียงครั้งเดียว แล้วสามารถนำข้อมูลดังกล่าวนั้นไปจัดทำใบอนุญาต – ใบแจ้งการนำเข้าส่งออกสินค้า พร้อมทั้ง สามารถส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที เป็นต้น
ในเรื่องการนำบุคคลภายนอกทั้งภาคเอกชน ธุรกิจ หรือบุคคลากรทางการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศมาช่วยในการปฏิรูป ก็เป็นการทำในช่วงเวลาจำกัดนะครับ ในสิ่งที่เราพัฒนาเห็นได้ช้า อาจจะต้องมีบุคลากรภายนอกมาเสริม เรามีบุคคลากรของไทยอยู่แล้ว แต่อาจจะมีน้อยในบางสาขา เราก็จำเป็น เพื่อให้เขามาถ่ายทอด เอาเขามาเร่งพัฒนาของเรา ถ่ายทอดวิชาความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ เมื่อของเราเข้มแข็งแล้ว ของเขาก็หมดความจำเป็นไป ในวันหน้าเราก็ไม่ต้องพึ่งใครมากนัก ผมอยากให้ทุกคนคิดกันแบบนี้ ถ้าเราปิดกั้นตัวเราเองไม่เปิดในให้กว้าง ทุกอย่างก็เดินหน้าเร็วอย่างที่เราต้องการ เราต้องพาคนมาช่วยมากๆ แต่เราก็ต้องมีมาตรการที่จะทำอย่างไรไม่ให้คนของเรานั้นเสียเปรียบ เสียประโยชน์ของชาติ อันนี้รัฐบาลระมัดระวังอย่างเต็มที่ ขอให้ทุกคนคิดอย่างมีวิสัยทัศน์
สำหรับกลไก “ประชารัฐ” นั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐ ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่าง “พีพี โมเดล” ที่เรียกว่า แผนพัฒนาฟื้นฟูหมู่เกาะพีพี จากที่เก็บรายได้ เพียง 1 ล้านบาทต่อปี จนสามารถนำหลายได้เข้าประเทศ นับ “พันล้านบาท” ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ ให้มีวิสัยทัศน์ รู้จริง ที่สำคัญคือโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต ภายใต้การร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชนและนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งนี้ ปัจจุบันอุทยานหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพีแห่งเดียว สามารถทำเงินได้ ร้อยละ 20 จากอุทยาน 149 แห่ง ทั้งประเทศเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าทุกอุทยานทำแบบนี้ได้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามลำดับ และถ้าหน่วยงานภาครัฐได้รับการเพิ่มเติมศักยภาพ และเติมเต็มด้วยกลไกประชารัฐแล้ว ประเทศของเราก็จะสามารถขับเคลื่อนก้าวข้ามกับดักต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และ
4. การส่งเสริมหลักนิติรัฐนิติธรรม ในสังคมไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ผู้ใช้อำนาจรัฐ และการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยกฎหมายที่ดี ต้องชัดเจน ต้องมีเหตุมีผล ต้องปฏิบัติได้ ต้องนำไปสู่ความยุติธรรม ขจัดความขัดแย้ง ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พิจารณาร่างกฎหมายไปแล้ว 401 ฉบับ และมีผลใช้บังคับแล้วมีจำนวน 230 ฉบับ ประกอบด้วย การผลักดันกฎหมายใหม่ที่จำเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ล้าสมัย และยกเครื่องกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งกฎหมายด้านเศรษฐกิจ กฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการและมนุษยธรรม และกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือกับรัฐบาลในทุกๆ นโยบายแล้ว การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับทั้งปวง ก็มีส่วนสำคัญช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยปัญหาของประเทศที่ผ่านมา และสะสมจนถึงทุกวันนี้ มักเกิดจากความไม่เข้าใจ จึงไม่ร่วมมือ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จนมองข้ามผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ นำไปสู่การละเมิดกฎหมาย ปัจจุบัน หลายโครงการ หลายนโยบายสาธารณะของรัฐบาล กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หากทุกคนเข้าใจธรรมะง่ายๆ ที่ว่า “หิริโอตตัปปะ” คือ ความละอายต่อบาป และความกลัวต่อผลของความชั่ว ก็จะช่วยให้สังคมของเราน่าอยู่ ยิ่งๆ ขึ้น
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
มีอีกหลายประเด็น ที่ผมอยากให้ช่วยกันทบทวน ลองขบคิดดูว่า สิ่งที่บางคน คิดดังๆ ออกสื่อฯ Social นั้น อยู่บนพื้นฐานหลักการและเหตุผล ที่ถูกที่ควร หรือไม่ อย่างไร เช่น หลายคนมักพูดติดปากว่ารัฐบาลและ คสช. จำกัดเสรีภาพ คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ให้ถ่องแท้ อันนี้คงจะไม่ไปพูดถึงกรณีละเมิดสถาบันซึ่งยังมีอยู่ บุคคลธรรมดาก็เราก็ยังมีกฎหมาย ในเรื่องของการฟ้องหมิ่นประมาท แต่เราก็ยังต้องดูแลสถาบันอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทย กฎหมายฉบับนั้นมีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน แล้วพระองค์ท่านก็ปกป้องพระองค์เองไม่ได้ เพราะฉะนั้นสถาบันก็มีแต่พระเมตตามาโดยตลอด มีการลดโทษให้ มีการนิรโทษให้ตลอดมา ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้ หลายคนก็เคยตัววันนี้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่เลย อย่าแชร์ อย่าแพร่ เพราะผิดกฎหมายมาแล้วก็เป็นปัญหาอีกเพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออกครับ เช่น ประเด็นของเสรีภาพในที่ต่างๆ ที่ว่ามานั้น การเดินขบวน สร้างความวุ่นวาย การปราศรัยที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน โดยการขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ไร้ความน่าเชื่อถือนั้นเพราะว่า นอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้ว ยังกีดขวางการจราจร กีดขวางการใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมลักษณะดังกล่าว หากไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนะครับ กฎหมายออกมาแล้ว ต้องมีกำหนดเวลา มีจำนวน มีสาเหตุประเด็น ทั้งหมดต้องมีกติกา อย่าไปมองรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าทุกคนมีสิทธิโน่นสิทธินี่ แต่กฎหมายอื่นๆ มีข้างล่างหลายตัว จะมาอ้างอันโน้นอันเดียว มาทับอันล่าง ข้างล่างก็ไม่ต้องมีกฎหมายถ้าเป็นแบบนั้น
เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วที่มีปัญหาทุกวันนี้ เป็นการดำเนินการที่มีเบื้องหน้า เบื้องหลังทั้งสิ้น หวังผลทางการเมืองด้วย อาจเดือดร้อนจริง แต่ก็มีการเมืองมาใช้ประโยชน์ด้วย นำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ในการสร้างความชอบธรรมทำนอง เพราะฉะนั้นลักษณะเช่นนี้ ท่านจะอ้างประชาธิปไตย อ้างสิทธิเสรีภาพ อ้างรัฐธรรมนูญต่างๆ แล้วเราไปปิดกั้น คงไม่ถูก ช่องทางที่ทุกคนจะแสดงความคิดเห็นได้ รัฐบาลได้ทำให้แล้ว อาทิเช่น ศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567) หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สายด่วน 1111) ซึ่งทุกคนก็สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย และเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติชม ได้ด้วยตนเอง อย่าทำอะไรให้เสียภาพลักษณ์ เสียความน่าเชื่อถือของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในสายตาชาวต่างชาติอีกเลย บางคนก็เอาไปขยายความให้ต่างชาติมาโจมตีประเทศไทย ไม่รู้เป็นคนไทยหรือเปล่า เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง
อยากให้พี่น้องประชาชนลองคิดตามดูว่าสิ่งเหล่านี้สมควรหรือไม่ คนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่ มีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นักกฎหมาย อดีตรัฐบาล นักการเมืองบางคน ออกมากดดันให้รัฐบาล และ คสช.ทำโน่น ทำนี่ ที่ผ่านมาปัญหามากมาย ก็ไม่ได้ทำไม่ได้แก้ไขกันมาก่อน มาคิดได้ตอนนี้ แล้วมาไล่รัฐบาลนี้ให้ทำ แล้ววันหน้าถ้าไม่มีใครทำ ผมก็คงจะทำเริ่มไว้ให้แล้ววันนั้นท่านมีอำนาจหน้าที่เข้ามาทำใหม่แล้วกัน ให้ประชาชนเขาตรวจสอบ ติดตามดูบ้าง เพราะฉะนั้นทุกคนลองเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาตัวเองกันบ้างในขณะนี้ ลองมาช่วยกันทำอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ชี้ประเด็นปัญหา จุดอ่อน ประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเจอ แล้วพบ แล้วถ้าแก้ไม่ได้ แล้วท่านมาทำให้ผมแก้ให้ได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผมรับได้หมด ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ขอให้เสนอแนะแนวทางในทัศนะของท่านมา แต่อย่ามาโจมตีผมว่าผมทำโน่นทำนี่อะไรทำนองนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าปัจจุบันที่เขาทำกันมา เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ท่านมีแนวทางบริหารจัดการปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไรทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และโดยเฉพะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้รับการเลือกตั้งมาในวันหน้าถ้าหากได้เป็นรัฐบาล
อีกตัวอย่าง เรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ อยากให้ช่วยกันพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย ชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบ อันตรายให้รอบคอบ ไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ หากทุกคนต้องการ ความปลอดภัยที่สูงขึ้น ก็ต้องแลกด้วยเสรีภาพที่ลดลง เสรีภาพที่ทุกคนต้องยอมรับว่าควรจะมีแค่ไหนอย่างไร ทุกประเทศในโลกก็มีเช่นนี้ เสรีภาพที่ต้องจำกัดบางอย่างให้อยู่ในกรอบ แต่ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นไปตามกฎหมาย เพราะว่าถ้าทุกคนต้องการจะเอาทุกอย่าง ไม่มีใครทำอะไรได้ทั้งสิ้น วุ่นวาย ป้องกันตัวเองก็ไม่ได้ ป้องกันองค์กรก็ไม่ได้ ให้ปลอดภัยจากการถูกโจมตี หรือการละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทุกคนก็ต้องมีวินัย และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่วางเอาไว้ โดยเริ่มจากตนเองก่อนเสมอ ไม่ใช่พอมีปัญหาก็โทษเจ้าหน้าที่ไม่เอาใจใส่ กฎหมายมีแต่ไม่ปฏิบัติ แบบนี้ก็แก้อะไรไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน
สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ เพื่อตรวจราชการและติดตามความคืบหน้า การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ณ จังหวัดสงขลา เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ข้าราชการ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งผู้ประกอบการและผู้แทนภาคเอกชน ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ที่สำคัญคือ การให้ความร่วมมือ ในการดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล จนประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรมอาทิ การขับเคลื่อน “ไทยแลนด์ 4.0” ในภาคใต้ ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ จนหลายผลงานได้นำไปสู่การสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์แล้ว ในเรื่องการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs ตามโครงการ “คลินิกสัญจรแนวประชารัฐ”ที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อนำไปสู่การยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิต ของประชาชนและชุมชน รวมทั้ง “ตลาดเกษตร มอ.” ที่อาจมีแนวทางแตกต่างจากตลาดคลองผดุง ตลาดชุมชน ของรัฐบาล แต่มีความมุ่งหมายเดียวกัน ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ซึ่งนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี เหล่านี้เป็นต้นเป็นตัวอย่างที่ดี
หลายอย่างที่เป็นผลงานวิจัย ผมขอสั่งการให้ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงให้ความสนใจ สนับสนุนการผลิต การใช้งาน อันนั้นต้องช่วยกันส่งเสริม ช่วยกันใช้ ช่วยกันผลิตให้เป็นของไทย หลายอย่างที่ผมเห็นเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับด้านการเกษตร เกี่ยวกับดิจิตอล เกี่ยวกับเรื่องของการสาธารณสุข
ประเด็นเพิ่มเติมของผมคือ ผมสังเกตในการนำเสนอข่าวการลงพื้นที่ต่างๆเพื่อตรวจราชการ ในแต่ละครั้ง ไม่อยากให้เป็นเพียงการนำเสนอภาพ การปาฐกถา ภาพผม ภาพรัฐมนตรีเดินชมนิทรรศการ หรือการมอบทุน รางวัล ผมอยากให้เอา หรือเอาภาพของนายกรัฐมนตรี อย่างเมื่อวันก่อน ครั้งที่แล้วไปออกกำลังกายกับประชาชนที่เค้าอยู่ในตลาด ที่ทำทุกวันพุธ ผมไปพอดี เขาก็เชิญผมไปออกกำลังกาย ก็เอาภาพนี้มาออกกัน ไม่ได้มองว่าผมไปตลาดทำอะไร ไปเยี่ยมประชาชน เขาค้าขาย ให้กำลังใจเขาไปดูตลาดประชาชนเขา ของมอ.เขาทำได้เป็นอย่างดี กลายเป็นว่าเอาผมไปเป็นเรื่องสนุกสนาน ขบขันกันไป ขอให้สนใจในการนำเสนอข่าวที่เป็นสาระสำคัญ ด้วยในการนำเสนอควรจะมีวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมเยือน มีหลักการอย่างไร มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ใครบ้าง แนวทางการดำเนินงาน ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ใครที่จะได้รับจากกิจกรรมเหล่านั้น ผมได้รับฟังความคิดเห็น ปัญหาใครมาบ้าง แล้วผมได้พูดอย่างไร ผมแก้ปัญหาอย่างไร พูดทุกเรื่องแต่ออกมา เป็นเรื่องผมออกกำลังกายอย่างเดียวเป็นหลัก ผมดูแล้วไม่ได้สาระนะ
เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมผมมุ่งหวังว่า “องค์ความรู้” ดังกล่าวนั้น จะก่อให้เกิดปัญญา หมายถึง การรับรู้ เข้าใจ ร่วมมือ หรือสามารถนำไปต่อยอด สามารถดำเนินการได้เอง ในชุมชน ในท้องถิ่นของตนเอง ผมอยากให้เสนอข่าวแบบนี้ ในความเป็นจริงนั้น ผมยอมรับ เราต้องยอมรับว่า ในความเป็นจริง กลไกการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ไม่อาจมีความสมบูรณ์แบบได้ หลายคนก็ติติงขึ้นมา เพราะเป็นข้าราชการ ถ้าหากว่าปราศจากการเติมเต็มจาก “สื่อมวลชนทุกแขนง” เราไม่สามารถจะทำได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้นเพียงแต่ว่าเราเริ่มมีข้อมูลให้ ท่านก็เอาไปช่วยขยายให้ สงสัยอะไรก็ถามมาในประเด็นที่เป็นประโยชน์ อันนี้ถ้าเราสามารถที่จะร่วมมือกันได้ก็จะเป็นการดีมากยิ่งขึ้น รัฐบาลทำไม่ได้ทั้งหมดถึงแม้ว่าเราจะมีช่องทางการสื่อสารของหลักของรัฐบาล คนไม่ดูซะอย่างก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน บังคับไม่ได้ เพราะออกอากาศไปไง ฉะนั้นเครื่องมือและสื่อรูปแบบต่างๆ ของโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวง กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้มีการออกอากาศ หรือทำงานมาโดยตลอด มีเสียงตามสาย วิทยุชุมชน และหอกระจายข่าวที่เป็นเซลล์เล็กๆ ของงานประชาสัมพันธ์ เสียงแห่งความหวังดี ของภาครัฐ ถึงหูพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง
ที่ผ่านมา ยังมีอุปสรรคในเรื่องระเบียบข้อบังคับด้านงบประมาณและการบริหารจัดการ ซึ่งเราทำเองไม่ได้และกฎหมายไม่ได้เปิดช่อง ก็ต้องอาศัยพึ่งพวกเราสื่อต่างๆ รัฐบาลและ คสช. กำลังหาแนวทางขจัดปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งจะส่งเสริมศักยภาพ “เซลล์เล็กๆ ทั่วประเทศ” เหล่านั้น เชื่อมโยงเข้ากับ “เครือข่ายประชาสัมพันธ์ภาครัฐ” เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียม ไม่ตกข่าว ไม่ตกสำรวจ จนเสียสิทธิประโยชน์อันพึงได้พึงมี อย่างเช่นที่ผ่านมา
พี่น้องประชาชน ครับ
ผมมีเรื่องที่เป็นการสร้างความภูมิใจและชื่นใจให้กับประเทศไทยของเรา คือ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา นักเรียนไทยสามารถไปคว้ารางวัลสำคัญในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ที่นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ กว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน โดยนักเรียนไทยได้รับรางวัลจากเวทีนี้ถึง 3 รางวัล ได้แก่
(1) สาขาสัตวศาสตร์ คือโครงงาน “การย่อยสลายโฟมโดยตัวอ่อนแมลงปีกแข็ง” ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการย่อยสลายแบบชีวภาพและไม่สร้างมลพิษในระหว่างการย่อยสลาย เป็นผลงาน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง
(2) สาขาเคมี จากโครงงาน “การพัฒนาเซลล์สารกึ่งตัวนำสำหรับกำจัดสีย้อมอุตสาหกรรม” ซึ่งการกำจัดสีย้อมในปัจจุบัน ทำได้ยากและมีต้นทุนสูง กระบวนการนี้ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการกำจัดสีย้อมสูงขึ้น สามารถใช้งานซ้ำใหม่ได้ และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานทดแทนได้อีกด้วย เป็นผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดปทุมธานี
และ (3) รางวัลสเปเชี่ยล อวอร์ด ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สาขาพืชศาสตร์ จากโครงงาน “สารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้ง ในการควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดา” ซึ่งจะช่วยชะลอการแสดงอาการของโรค และกำจัดแมลงหวี่ขาว ที่เป็นพาหะของโรค และกำจัดวัชพืชได้ด้วย ที่สำคัญ เป็นการลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช จึงจะช่วยลดต้นทุนและอันตรายจากสารเคมีที่จะเกิดต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมได้ เป็นผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) รางวัลที่เยาวชนไทยได้รับมาในครั้งนี้ แสดงถึงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของคนไทย ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับประเทศของเรา ขอให้ทุกหน่วยงานได้ติดตามนำมาใช้ ผมขอชื่นชมในความสามารถ ความเพียรพยายาม และความทุ่มเท ของเยาวชนและคณาจารย์ ทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเรา และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชนไทยทั้งประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของประเทศ มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ผมได้สั่งการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ในระดับโรงเรียนให้เข้มข้นขึ้น และนำมาไปใช้ได้จริงมากขึ้น อีกทั้งให้รวบรวมผลงานของนักเรียน ที่ได้รับรองคุณภาพ มาเผยแพร่ ขยายผล เป็นกรณีศึกษา ให้เยาวชนอื่นๆ ได้เข้าถึงได้ง่าย รวมทั้ง นำผลงานไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ และยกระดับขีดความสามารถในการผลิต และในการแข่งขันของประเทศด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา น่าเสียดายที่ผลงานวิจัยเหล่านี้ ต้องกลายเป็น “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” จริงๆ เขาก็ไม่อยากจะขึ้น ถ้าไม่มีใครนำไปทำต่อก็ต้องเก็บไว้ในหิ้งก่อน วันนี้ก็ต้องเอามาทำ แล้วคิดใหม่ขึ้นมา และเอามาทำต่อ
ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดการสร้าง “นวัตกรรม” โดยลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่าย ในการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ให้อยู่ที่ร้อยละ 1 ของGDP และเร่งการลงทุนภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย หนึ่งในกิจกรรมของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้คือ การจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้นักวิจัย สามารถนำผลงานวิจัยมาขึ้นบัญชี เพื่อรับการส่งเสริมจากภาครัฐ ปัจจุบัน มีบัญชีนวัตกรรมไทย ทั้งสิ้น 14 ประเภท เช่น การเกษตร การศึกษา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ก่อสร้าง ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ยานพาหนะและขนส่ง อาวุธยุทโธปกรณ์ด้านความมั่นคง เป็นต้น โดยมีการยื่นแบบขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว 201 รายการ โดยผ่านกระบวนการและประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว 56 รายการ ซึ่งคงจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานต่างๆด้วย หลายอย่างถึงไม่ได้มีกำหนดมาตรฐานไว้เดิม ก็ต้องเอาภาคเอกชนต่างๆมาช่วยกันคิด หน่วยงานทางการศึกษา ภาคเอกชนมาช่วยกัน กำหนดมาตรฐานทางอุตสาหกรรมนะครับ แม้กระทั่งเรื่องของอย. (องค์การอาหารและยา) มาช่วยหน่วยงานของรัฐในการที่จะทำอะไรต่างๆ ให้เร็วขึ้น อะไรต่างๆ มาช่วยกัน ถ้าช้าก็หมดกำลังใจคนคิดก็ไม่อยากจะคิดเพราะไม่ได้มีคนนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งที่มีประโยชน์มากมาย
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมนั้น มีตั้งแต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัย พัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร้อยละ 300 การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่อยู่ในบัญชีนี้โดยวิธีพิเศษได้ด้วย สำหรับในภาพรวมของประเทศ บัญชีนวัตกรรมจะช่วยกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม เพื่อนำมาผลิตเชิงพาณิชย์อย่างมีมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น ช่วยลดการนำเข้าสินค้าราคาแพง ลดการพึ่งพาแรงงานและทรัพยากรที่เริ่มมีจำกัด ซึ่งจะเป็นอีกก้าวในการเข้าสู่ยุค 4.0 ของประเทศ ผมขอสั่งการไปยังกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการใช้ยาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ ขอให้ใช้สิ่งที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นหลักก่อนต่อไปนี้ผมจะติดตามในการทำงบประมาณในเรื่องนี้เพราะว่ามีผลกระทบกับเรื่องค่าใช้จ่ายบัตรทองด้วย เพราะเราผลิตทุกอย่างมีคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน ก็ใช้ได้เหมือนกัน ราคาถูกกว่าตั้งหลายเท่า ต้องซื้อตรงนี้ เอาไปใช้จ่ายทุกโรงพยาบาล
ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา นอกจากการนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยแล้ว เราต้องปรับตัวในการเร่งสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในทุกๆ กระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการผลิตที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และกระทรวงแรงงานที่มุ่งยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยในการพิจารณาให้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark) เพื่อรับรองสินค้าและบริการ ว่าเป็นผลิตผลจากประเทศไทย มีคุณภาพเชื่อถือได้ มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ และภาพลักษณ์องค์กรที่ดี ทั้งการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีธรรมาภิบาล และมีการคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ รวมทั้งผู้บริโภคชาวต่างชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันของผู้ประกอบการและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศเพื่ออันจะนำพาเราก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืนได้ สำหรับเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตร กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณา ออกมาตรการดูแลอยู่นะครับอย่างเช่นเรื่องมันสำปะหลัง ก็มีทั้งขาดทั้งเกิน ในบางครั้งก็ไม่พอ ทำให้ราคาตก เพราะว่าต้องมีการนำเข้าทดแทน เพื่อจะมาทำอาหารสัตว์ ในช่วงที่เรายังผลิตไม่พอ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ก็ขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกัน
ปัจจุบัน มีบริษัทผลิตสินค้าและบริการของไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T MARK จำนวน 721 บริษัท แบ่งเป็นประเภทสินค้า ได้แก่ กลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมหนัก ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นทั่วไป ส่วนประเภทธุรกิจได้แก่ บริการกลุ่มส่งเสริมสุขภาพ การศึกษานานาชาติ และธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้ นอกจากจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากลแล้ว ยังก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยในหลากหลายประการ ทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการเพิ่มบทบาททางการค้าของไทยในเวทีโลกอีกด้วย
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ
รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตย ที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” นำพาให้ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้ได้ โดยผมอยากฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป คือ
(1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
(2) หากไม่ได้ จะทำอย่างไร
(3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ
(4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาซ้ำอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ขอให้ส่งคำตอบ และความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาผมยินดีรับฟัง
สุดท้ายนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงนี้ ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ผมเป็นห่วงนะครับ ขอให้ประชาชนทั่วไป เกษตรกร และชาวประมง ได้ติดตามข่าวสาร การแจ้งเตือนภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำด้วย ในส่วนของรัฐบาล นอกจากต้องบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้เกิดอุทกภัย และมีน้ำเหลือเก็บไว้ใช้ต่อในอนาคตได้ด้วย โดยได้สั่งการทุกหน่วยงานเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ในจุดที่มักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที ในกรุงเทพมหานครก็เช่นเดียวกัน ผมได้สั่งการกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ทุกเขตจัดเจ้าหน้าที่ต่างๆ เข้าเยี่ยมเยือน ตรวจเยี่ยม ทุกพื้นที่ที่มีฝนตก หรือก่อนฝนตก และในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ผมต้องการเห็นความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทุกคน ในการเตรียมความพร้อมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก รวมทั้งดูงานในทุกจังหวัดด้วย ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคท้องถิ่นก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ รัฐบาลจะเข้มงวดกวดขันเรื่องเหล่านี้ด้วยกัน ในช่วงที่ประชาชนเดือดร้อน
ในช่วงฝนตก การใช้รถใช้ถนน ทุกคนใช้ด้วยความระมัดระวังเพิ่มขึ้น และถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อย่าหงุดหงิดใส่กัน รักษาสุขภาพของท่าน และคนในครอบครัว เห็นใจเจ้าหน้าที่เขาด้วย บริษัท-ห้างร้าน ก็ขอให้ดูแลป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้แข็งแรง มั่นคง หน่วยงานในท้องที่ ให้ตรวจสอบต้นไม้ สายไฟ เสาไฟขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นไม้ นะครับ ในสวนสาธารณะและเสาไฟฟ้า ตามถนนและชุมชน ป้ายรถเมล์ อย่าให้เกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็มาใช้วิธีการแก้ไขทีหลัง “วัวหายแล้วล้อมคอก” เหมือนเช่นทุกครั้ง ไม่มีการป้องกันไม่ดี ผมจะต้องถูกลงโทษ