นวัตกรรมน่ารู้ ตอนที่ 5 : Robotic Exoskeleton ช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

ภาพจาก www.cyberlegs.eu
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ตั้งแต่ปี 2548 และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged society) โดยสมบูรณ์ ภายในปี 2568 หมายความว่า เราจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
การหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุการตายอันดับที่สองของผู้สูงอายุไทย รองจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งในแต่ละปี ผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ประสบกับการลื่นล้ม และมากกว่าร้อยละ 50 ล้มมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากนั้นร้อยละ 40 ของการลื่นล้มทำให้กระดูกหัก โดยมักเกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำ
นอกจากการหกล้มจะก่อให้เกิดปัญหาทางกายแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาต่อจิตใจของผู้สูงอายุ ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการเดิน เกิดความกังวล แยกตัวจากสังคม เนื่องจากกลัวการหกล้มอีก จนสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง
ปัจจุบันนี้ Robotic Exoskeleton (ชุดโครงหุ่นยนต์) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการแพทย์ โดยมีการนำมาประยุกต์ใช้ในหลายๆด้าน ตัวอย่างที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากตอนนี้ คือ เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Active Pelvis Orthosis (APO) ที่ช่วยตรวจจับการลื่นไถล และช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถรักษาสมดุลของร่างกายได้ ก่อนที่จะล้มลง
เทคโนโลยี APO ประกอบด้วย แผ่นรัดที่เอวที่ยึดมอเตอร์ไว้ที่สะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งมอเตอร์ทั้งสองตัวจะเชื่อมต่อกับแผ่นรัดน่องที่ขาทั้งสองข้าง การเคลื่อนไหวของขาทั้งสองข้างจะถูกติดตามโดยอัลกอริทึมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ เมื่อไรก็ตามที่ขาเกิดการลื่นไถล มอเตอร์ทั้งสองข้างจะทำให้ขากลับคืนสู่สมดุลภายในเสี้ยววินาที
การทดสอบการทำงานของอุปกรณ์ ทีมวิจัยได้ทดสอบกับคนสูงอายุ 8 คน และคนพิการไม่มีขา (ที่ใส่ขาเทียม) 2 คน ผู้ทดสอบจะเดินบน treadmill ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ โดยแยกเป็นสองรางสำหรับขาแต่ละข้าง เมื่อต้องการทดสอบ รางข้างหนึ่งจะเลื่อนเร็วกว่าปกติ เพื่อให้คล้ายกับการลื่นล้ม การเคลื่อนไหวของผู้ทดสอบจะถูกบันทึกไว้ตลอดเวลา เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานของอุปกรณ์
อุปกรณ์นี้ไม่ต้องการการปรับแต่งมาก เพียงแค่โปรแกรมน้ำหนักของผู้สวมใส่และเดินเพียงสามก้าวเท่านั้น ตัวอุปกรณ์จะทำโมเดลของการเดินภายในไม่กี่นาที ตัวอุปกรณ์ไม่ได้ทำหน้าที่ทดแทนปฏิกิริยาตอบสนองของผู้สวมใส่ แต่เพียงเพิ่มพลังขาขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้น
ทีมวิจัยคาดว่า อุปกรณ์นี้จะพร้อมสำหรับขายภายใน 10 ปี ขณะนี้ทางทีมวิจัยกำลังพัฒนาให้อุปกรณ์นี้มีขนาดเล็กลง และเพิ่มความสามารถในการป้องกันการหกล้มในรูปแบบอื่นๆด้วย
การหกล้มของผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนมาก และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุที่หกล้มจะได้รับความเจ็บปวดมาก หรืออาจจะถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มีนวัตกรรมใดที่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการป้องกันดูแลยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออยู่เสมอ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเวลาที่เราไม่สามารถอยู่ดูแลท่านได้
ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, Miami, FL