รัฐบาลแจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายและสิทธิแรงงาน ในงานประชุมสุดยอดเรื่องอาหารทะเลที่ซีแอตเติล

จากซ้ายไปขวา นายจุฬ สินชัยพานิช ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ กรมประมง พลเรือโท วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอกอัครราชทูตพิศาล มาณวัฒน์ นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนางสาวฐานิดา เมนะเศวต ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

 

เมื่อวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2560 เอกอัครราชทูตพิศาล มาณวพัฒน์ พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องอาหารทะเลที่นครซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน โดยได้แจ้งความคืบหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานในภาคประมง ให้กับผู้แทนบริษัทค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ซื้ออาหารทะเลจากไทย องค์กรเอ็นจีโอด้านด้านความยั่งยืนในการทำประมงและสิทธิแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศของสหประชาชาติ พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

คณะผู้แทนจากประเทศไทยเป็นผู้ปฏิบัติงานจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดย พลเรือโท วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ. พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศปมผ. นายจุฬ สินชัยพานิช ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ กรมประมง และนายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

การหารือกับผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย

คณะผู้แทนไทยได้พบกับผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ประจำประเทศไทย บริษัทค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ซื้อสินค้าประมงจากไทย ได้แก่ คอสโก (Costco) วอลมาร์ท (Walmart) และเรดล็อบสเตอร์ (Red Lobster) องค์กรเอ็นจีโอด้านการประมงและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน องค์กรที่รัฐบาลมีความร่วมมือด้านการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานในภาคประมงผ่านการแสกนม่านตา และบริษัทของสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการติดตามเรือประมงขนาดเล็ก

ในเรื่องการทำการประมงอย่างยั่งยืนนั้น คณะได้แจ้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ ทราบพัฒนาการสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เช่น การมีมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำและการรักษาทรัพยากรทางทะเล การใช้เทคโนโลยีติดตามเรือประมงเพื่อดำเนินคดีกับเรือที่พบว่าทำการประมงผิดกฎหมาย การปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก 32 แห่ง การเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านการประมง และความร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรเอ็นจีโอ

 

การหารือกับผู้แทนบริษัทวอลมาร์ทและเรดล็อบสเตอร์

ฝ่ายสหรัฐฯ ยังได้ทราบความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ โดยมีมาตรการสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คุ้มครองแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว การตรวจแรงงานทั้งที่สถานประกอบการและบนเรือประมง การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด และการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรเอ็นจีโอ และภาคธุรกิจ

บรรยากาศการประชุมที่นครซีแอตเติล

รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคประมง โดยมีมาตรการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา และจะเร่งผลักดันแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปเพื่อศักดิ์ศรีของประเทศและเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าอาหารทะเลที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิของแรงงานทุกคน

—————————–

ฐานิดา เมนะเศวต
ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน