ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2560 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

สำหรับ “ศาสตร์พระราชา” สัปดาห์นี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นบทพิสูจน์ ในเรื่องของ “ความเพียร” กับ “ความสำเร็จ”  ตามบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แก่ การก้าวมาสู่จุดสูงสุดในวันนี้ ของนักกอล์ฟหญิง “มือ 1 ของโลก” ของ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ และทุกความสำเร็จต้องได้มาด้วยความเพียร ทั้งนี้ อาจมีหลายปัจจัยส่งเสริม ทั้งการสนับสนุนของครอบครัว ที่เป็นแรง ผลักดันสำคัญอย่างต่อเนื่อง และทุ่มเท แต่ที่สำคัญก็คือ ความวิริยะอุตสาหะนะครับของตัวน้องเมย์เอง การไม่ละความพยายาม และการเอาชนะใจตนเอง เพื่อให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ นานาให้ได้

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

          จาก “เส้นทางสู่ความสำเร็จ” ของโปรเมฯ ดังกล่าวนั้น ผมอยากให้เราทุกคนลองมองในเชิงเปรียบเทียบดูว่า ถ้าเปรียบประเทศชาติเป็นเหมือน “นักกีฬา”ภายในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แล้วเราจะร่วมกันนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จบ้างได้อย่างไร ประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีปัญหาอะไรบ้างที่รอการแก้ไขเราจะต้องปฏิรูป ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต้องลงทุนอะไรกันบ้างนะครับ เพื่อวางรากฐานในอนาคต และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศ สุดท้ายคือ เราจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์ ที่เรากล่าวว่า เราจะต้อง “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”  ให้ได้โดยเร็ว
ส่วนตัวผมนั้น เห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยเปรียบเสมือน “นักกีฬาป่วย” อันนี้ก็เป็นส่วนตัวของผม ที่ต้องการการรักษาตามอาการ 3 ประการกล่าวคือ (1) “ป่วยกาย” เช่น โครงสร้างระบบราชการที่อาจจะยังไม่สามารถให้การบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ รวมทั้งยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลับหูหลับตาอยู่ ทั้งที่รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ ผิดจากห้วงที่ผ่านมามาก เราต้องแก้ทั้งผู้ให้ และผู้รับ ตลอดจนทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่น่าเชื่อถือ มีการตรวจสอบ  การประมูลทุกอย่าง ตลอดจนหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งอาจจะได้มาโดยหน่วยงานภาครัฐเอง หรือจากประชาชน  เราต้องกลับมาแก้ไขทั้งหมด  โครงสร้างทางเศรษฐกิจเรา อาจจะยังไม่มีการเชื่อมโยง  เกื้อกูลกันได้ ในทุกระดับ เท่าที่ควร ยังไม่เชื่อมต่อเป็นห่วงโซ่อันเดียวกัน  และโครงสร้างพื้นฐานก็อาจจะยังไม่สามารถรองรับการแข่งขันของโลกในปัจจุบันนี้ได้ เราติดขัดมาในเรื่องอุปสรรค เรื่องความขัดแย้งอะไรต่าง ๆ หลายอย่างทำไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมานะครับ อันที่ (2) คือ “ป่วยใจ” ได้แก่ ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ปรองดองกัน ของคนภายในประเทศ ทำให้เราไม่มีความเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ตามความหมายในพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “รู้ รัก สามัคคี” รวมทั้งขาดการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จึงขาดแรงผลักดัน ขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญ ที่ (3) คือการ “ป่วยความคิด” คือความไม่เข้าใจหลักการ หรือสำคัญผิด ทั้งในเรื่องประชาธิปไตย  สิทธิมนุษยชน  เสรีภาพ สิทธิ-หน้าที่พลเมืองเหล่านี้ เป็นต้น รวมทั้งเราขาด “ฐานคิด” ที่เป็นระบบ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุมีผล เหล่านี้เป็นเหตุให้อาการ “ป่วยกาย  ป่วยใจ” นั้นเราก็อาจจะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในช่วงที่ผ่านมา หรือบางคนบางกลุ่มก็อาจจะปฏิเสธเข้ารับการรักษาไปเลย ประเด็นสำคัญคือทุกคนที่มีปัญหาทั้งหมดส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้มีรายได้น้อย มีความยากจน อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเขา เราต้องเข้าใจเขา ทำอย่างไรรายได้ที่เขาไม่เพียงพอ ถ้าเราบังคับอย่างเดียวก็ไปไม่ได้  เราต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ เราต้องลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลงเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ได้ใช้เวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะดูเหมือนนาน อาจจะดูไม่นานก็แล้วแต่ เราก็ได้พยายามที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยของเรากลับคืนมาอยู่ในครรลองที่เหมาะสม และมีความเป็นสากลให้มากยิ่งขึ้น  จนวันนี้เราได้รับความเชื่อมั่นจากเวทีระหว่างประเทศในหลาย ๆ ด้าน  ทั้งเรื่อง การค้างาช้าง (CITES) การประมงผิดกฎหมายฯ (IUU) การบินพลเรือน (ICAO) การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว  แรงงานทาส และการป้องกันการทุจริต ที่มีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ได้ส่งผลเชิงบวกในการจัดลำดับประเทศไทยในโลกดีขึ้น  จากหลายสถาบัน อย่างต่อเนื่อง เช่น ล่าสุดผลการจัดอันดับ “ประเทศที่ดีที่สุดในโลก” ประจำปี 2017 ของ U.S.News สหรัฐอเมริกา ก็ยกให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ “มากที่สุดในโลก” (Best Countries to Start a Business) เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ตามที่ผมได้เคยให้ข้อมูลมาหลายครั้ง แต่ผมก็คิดว่า เรายังมีศักยภาพอีกมากมาย และพร้อมที่เป็น “ศูนย์กลาง” ในอีกหลาย ๆ ด้าน ทั้งอาหาร – สมุนไพร – การท่องเที่ยวและกีฬา – การบิน – และอุตสาหกรรม ที่เรามีศักยภาพ  เพียงแต่เราต้องรักษา “อาการป่วย” 3 ประการ ที่ผมว่าเมื่อสักครู่ไปแล้วให้ได้ และเราจะต้องทำงานร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์ บูรณาการ เราต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

ที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช. ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และบูรณาการกัน ท่ามกลางความขัดแย้ง ท่ามกลางความไม่เห็นชอบ หลายอย่าง ซึ่งเราได้มีการคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมมาเป็นเวลานานพอสมควร เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็ต้องแก้ไข ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การเตรียมการปฏิรูปประเทศ รวมความไปถึงการสร้างความปรองดอง ไปพร้อม ๆ กันด้วยทั้ง 4 ภารกิจ  เราได้น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือในการที่เราจะกลับมาเป็น “นักกีฬาที่มีความพร้อมในทุกสนามการแข่งขัน” โดยเราจะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระดับ “ฐานราก” ที่ผมกล่าวไปแล้ว ให้ความสำคัญ ประชาชนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากเปรียบเสมือน “เสาเข็ม”  ที่มีความสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็น อาจจะไปมองเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมองทั้งหมด ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แล้วไปสู่เศรษฐกิจฐานรากด้วย  เรามีประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมาก ที่จดทะเบียนวันนี้ 14 ล้านคน

การดำเนินการที่สำคัญ ๆ ในปัจจุบัน ที่มีความคืบหน้า ได้แก่ การจัดทำโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รอบแรกปี 2559 ลงทะเบียน 8.3 ล้านคน และรอบที่ 2 ปีนี้ เพิ่มเป็น 14 ล้านคน คงจะจากผู้ที่ไม่กล้ามาลงเมื่อปี 2559  วันนี้มาลงเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า นโยบายนี้ได้รับการตอบสนองจากประชาชนเป็นอย่างดี แต่รัฐบาลต้องระมัดระวังในการดำเนินการต่อไป การลงทะเบียนตามนโยบายนี้ เราได้ดำเนินการและปรับปรุงทุกปี ๆ  ไม่ใช่ครั้งเดียวแบบเดียวจบ ปีเดียว ไม่ใช่ เราก็ต้องดูจาก ฐานข้อมูลกลางภาครัฐ ให้ทันสมัย ให้ถูกต้อง สอดคล้อง กับนโยบายต่าง ๆ เพราะประเทศเรามีคนอยู่หลายกลุ่ม หลายฝ่ายด้วยกัน และเพื่อให้หน่วยงานของเราได้นำไปใช้ประโยชน์ในการที่จะกำหนดนโยบาย เพื่อจะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน เป็นการใช้จ่ายเงินภาษีที่คุ้มค่า แล้วก็เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ต้องแยกให้ออกว่าเรามีกลุ่มเป้าหมายอะไรบ้าง แล้วดำเนินแต่ละกลุ่มเป้าหมายนี่มีหลายวิธีการ ทั้งกฎหมาย ทั้งวิธีการ ทั้งโรดแมป อะไรต่าง ๆ ก็ต้องให้ครบ ตามความจำเป็น และตรงความต้องการของเขาด้วย ปัจจุบันมีผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ คิดเป็น 25%  ไม่น้อย “1 ใน 4” ของประชากรเกือบ 70 ล้านคนทั้งประเทศ แล้วเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อไร เป็นมานานแล้ว วันนี้ก็เอามาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด และรัฐบาลจำเป็นต้องตรวจสอบ ก็ต้องใช้วิธีการจ้างนักศึกษาประมาณ 70,000 คนทั่วประเทศ วัตถุประสงค์ของผม ตรวจสอบแล้วก็ให้พวกนี้มีงานทำด้วย มีรายได้ด้วย นักศึกษาจะได้มีเงินไปเรียนหนังสือ ก็จะช่วยลงไปในพื้นที่ ตรวจสอบคุณสมบัติ หาผู้รับรองให้ได้ ทั้งสภาพความเป็นอยู่และรายได้ เช่น การที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 8,400 บาท หากเป็นเกษตรกร ต้องไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง หรือถ้ามีก็ไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการตามนโยบาย และป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ์ หรือการแอบอ้างให้ข้อมูลเท็จ รวมทั้งสอบถามความต้องการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้  ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนคือ ต้องเสนอมาว่าต้องการอะไร ภาครัฐก็ต้องตอบสนอง ให้ตรงกับความต้องการ เราจะไม่เหวี่ยงแห

หลังจากนั้น กระทรวงการคลังจะมีการออก “บัตรสวัสดิการ” ให้สำหรับผู้มีสิทธิ ประมาณเดือนตุลาคม เพื่อใช้เป็น “กุญแจ” สำคัญในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่มีน้อยกว่าเดิม มีแต่ว่าจะทำยังไงให้มากกว่าเดิม ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเดิม หลายคนไปบิดเบือนว่า จะไม่ได้นั่นได้นี่ ผมไม่เคยบอกว่าผมจะลดอะไรสักอย่าง มีแต่เราจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร งบประมาณมีเท่านี้ จะทำยังไง จะคัดสรรแยกออกจากกันตรงไหนได้บ้าง ตรงไหนจะเพิ่ม ตรงไหนเท่าเดิม หรือตรงไหนมากกว่าเดิม เป็นเรื่องของการพิจารณาในการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ ระบบการเงินการคลังของประเทศ

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ระหว่างเตรียมการและศึกษาของทุกกระทรวง ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงมาตรการเดิม เพื่อขยายผลความสำเร็จ เช่น การลดรายจ่าย ผ่อนปรนภาระ เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ทั้งเรื่องอาชีพ  รายได้  และแหล่งเงินทุน ที่อยู่อาศัย หรืออาจมีมาตรการใหม่ ๆ ก็ขึ้นอยู่กับผลการลงพื้นที่ แล้วรับฟังความต้องการของพี่น้องประชาชน ขอให้เตรียมคิด เตรียมเสนอ อะไรที่ทำได้ผมจะทำให้ ซึ่งผมรับรองว่า เราต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และมาตรการระยะยาว เพื่อสร้างความยั่งยืน และให้ผู้มีรายได้น้อยพึ่งพาตนเองได้ แล้วผมจะถือโอกาสมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป ขอให้อดทน และอดใจรอกัน ทั้งนี้ เราสามารถติดตามตรวจสอบรายชื่อผ่านทางเว็บไซต์  www.epayment.go.th  และทางสายด่วนหมายเลข 1359

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มพลังในสังคม โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ให้มีส่วนร่วมในการสร้างชาติ  โดยปรับมุมมอง ทัศนคติ ของบุคคลรอบข้าง และคนในสังคม ว่า ไม่มีใครเป็นภาระ แต่ทุกชีวิตคือพลังของชาติ ภายใต้ศักยภาพ ความถนัด และข้อจำกัดของแต่ละคนเช่น โครงการพัฒนาศักยภาพนักร้อง  นักดนตรี “ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็น” ในที่สาธารณะ หรือ S2S : From Street to Star ให้ได้รับโอกาสการฝึกฝนฝีมือ จนสามารถยึดเป็นอาชีพ ออกอัลบั้ม แสดงคอนเสิร์ต รับจ้างตามงานต่าง ๆ ได้ เพื่อจะหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือภายใต้กลไก “ประชารัฐ” อย่างเต็มรูปแบบ โดยภาครัฐ มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในระดับนโยบาย  และภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และ 3 ค่ายเพลง คือ GRAMMY RS และ TRUE  ขอขอบคุณครับ ที่ได้ช่วยร่วมกันขับเคลื่อน ตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือก ผลักดันให้ถึง “ฝั่งฝัน”

ล่าสุดนั้น ได้จัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ต “ศิลปิน S2S”ตามโครงการนี้ ร่วมกับศิลปินชื่อดังของประเทศ ทราบว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมทั้งมีผู้เข้ารับชมการถ่ายทอดสด ผ่านทางอินเทอร์เน็ตกว่า 2 แสนราย โดยผู้ชมกว่า 90% ชื่นชอบ และอยากให้มีการจัดคอนเสิร์ตในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปี  ก็ได้มีการพัฒนากันต่อไป ศิลปิน S2S หลายราย ได้รับโอกาสจ้างงาน และเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด อีกด้วย นอกจากนั้น จะเป็นการสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะต้องไม่ทิ้งใคร ประชาชนกลุ่มใดไว้ข้างหลังอีกแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนผู้พิการให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศทางอ้อมด้วย

เกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมนี้ ผมขอชื่นชม ขอบคุณ และเป็นกำลังใจ ให้กับ “น้องเต้าอี้” เด็กชาย ธรรมสมิต นวเศรษฐกุล ในการต่อสู้ เอาชนะอาการป่วยด้วย  “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” รวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งผมเห็นว่า น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี หรืออาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายต่อหลายคน ก็คือ (1) การไม่ยอมแพ้ในอุปสรรคทางร่างกาย ซึ่ง “น้องเต้าอี้” ยังคงพยายามใช้ชีวิตเป็นปกติ ไปโรงเรียน ร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ตามความเหมาะสม และใช้สมองคิด ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ (2) การแสดงน้ำใจ ห่วงใยผู้อื่น ให้กำลังใจผมและรัฐบาล ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และประชาชน สิ่งนี้ผมเห็นว่า มีความสำคัญอย่างมากสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้ เราต้องการกำลังใจ  ความเข้าใจ และความร่วมไม้ร่วมมือกัน ให้ได้ ถ้าเรามีแต่สิ่งดี ๆ ในลักษณะนี้ เข้ามาในชีวิต ในสังคม ผ่านหน้าจอทีวี หน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เป็นมา  ผมเชื่อว่าจะช่วยจรรโลงจิตใจ และสร้างสรรค์สังคมอันอบอุ่น ให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  สมดังพระราชดำรัส ของในหลวงรัชกาลที่ 9 องค์หนึ่ง ใจความว่า “…สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่…”

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ

ห้วงที่ผ่านมานั้น ผมได้ตั้ง 4 คำถาม เพื่อเป็นคำถาม ปลายเปิด โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือต้องการให้สติ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาของประเทศ และกำหนดอนาคตของเราด้วย เพราะหลายอย่างกำลังเดินหน้าไปอยู่ตาม   โรดแมป ตอนนี้กำลังทำกฎหมายลูกอยู่ ถ้าเราคิดไม่ตรงกัน ทำกฎหมายลูกก็มีปัญหาความขัดแย้งตรงนั้นอีก เราก็เดินหน้าไม่ได้ไง

เพราะฉะนั้น ประการหนึ่งผมเห็นว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อีกประการหนึ่ง คืออยากกระตุ้นให้สังคมไทยในทุกระดับนั้น ได้ตระหนักถึงปัญหา ที่เปรียบเสมือนเป็นทางตันในอดีต จนนำมาสู่การแก้ปัญหาของรัฐบาลและ คสช. ในปัจจุบัน และรัฐบาลในอนาคต ที่ผ่านมาสังคมเรามีความแตกแยกทางความคิด แน่นอน ไม่มีอะไรที่คิดตรงกันได้ทั้งหมด คน 70 ล้าน  อุดมการณ์ทางการเมือง เข้าไปกัดกร่อน ไม่เว้นกระทั่งสถาบันครอบครัว

วันนี้ผมเห็นว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นพอสมควรแล้ว ก็ควรที่จะมีโอกาส หันหน้าเข้าหากัน จับเข่าคุยกัน อย่างเปิดทั้งหู เปิดทั้งใจ ในประเด็นที่จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอีก โดยสรุปว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ที่มีธรรมภิบาล ปราศจากคนคดโกง เพื่อบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ และพร้อมนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง หลายคนยังหลงประเด็นอยู่ เป็นเสมือนว่าเป็นการทำโพล สำรวจคะแนนความนิยม หรือปูทางไปสู่การ “สืบทอดอำนาจ” เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ผมก็เสียใจ ที่ถูกนำไปเป็นประเด็นต่าง ๆ เพื่อสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอีก ผมไม่ต้องการอย่างนั้นเลย คำตอบเหล่านั้น หากเป็นความเห็นอันบริสุทธิ์และสร้างสรรค์ จากพี่น้องประชาชน ปราศจากการชี้นำหรือบิดเบือนแล้ว ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับพวกเราทุกคน  เพราะทุกท่านจะได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศ

ผมเปิดเวทีให้ท่านได้แสดงออกแล้ว หลายๆ คนบอกว่า เราปิดกั้นทั้งหมด ก็แสดงความคิดเห็นมาได้ จะดีหรือไม่ดี ผมฟังได้หมด เราทุกคนย่อมต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะเจ้าของประเทศ  ไม่ใช่ต้องการทำเพื่อสร้างคะแนนนิยมอย่างเดียว หรือโจมตีนักการเมือง  ฝ่ายการเมือง หรือโจมตี คสช. ไม่ใช่ ผมไม่ได้ต้องการอย่างนั้น จะมาก จะน้อย ผมก็ฟัง กี่คนก็ไม่ทราบ จะ 1 คน 10 คน พันคน ก็แค่นั้น ผมก็ฟังแค่นั้น ที่เหลือแสดงว่าเข้าใจแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่ต้องตอบผมก็ได้ ถ้าใครมีความคิดเห็นว่าอยากจะร่วมมืออะไรต่าง ๆ อยากแสดงความคิดเห็น ผมรับฟังทั้งหมด  ก็ไม่ได้เร่งรัดอะไรใคร ขอให้ไปช่วยกันคิดหาทางว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องอะไรได้บ้าง

ปัจจุบันทุกคนทราบดีว่า รัฐบาลและ คสช. ได้บริหารประเทศมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว โดยให้ความสำคัญกับการรวมพลังประชารัฐสร้างชาติ เพราะลำพังภาครัฐข้าราชการ ไม่สามารถทำทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้ โดยปราศจากความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เอ็นจีโอ อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ประชาชนทุกคนด้วย  ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเพิ่มบทบาทของตนเอง ไม่จำกัดแค่เพียงการให้บริการประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ต้องหาทางออก หาทางแก้ไขให้ประชาชนด้วย  แต่ภาครัฐก็คงหมายถึงรัฐบาลในระดับนโยบาย ลงไปจนถึงข้าราชการในระดับปฏิบัติ จะต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นเครือข่าย กลไกประชารัฐ ตามที่ผมได้กล่าวไปให้ได้

วันนี้ผมได้กำหนดเป็นวาระชาติไปแล้วในเรื่องของการเป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อน การให้การบริการประชาชน ต้องรวดเร็ว เราจะเร่งรัดในปีนี้ให้ได้ ทั้งนี้เราจะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างเข้าใจเสียก่อน ด้วยการคิดและมองเห็นปัญหาร่วมกัน วันนี้ผมจะฝากให้คิดตาม ไม่ใช่คำถาม ไม่ต้องการคำตอบ ในอีก 50 ประเด็น เพื่อจะได้เข้าใจว่า รัฐบาลและ คสช. มองปัญหาของประเทศ สำหรับตั้งเป็นโจทย์ในการทำงานขับเคลื่อน ประเทศ ปฏิรูปประเทศในปัจจุบันนี้อย่างไร และถ้าท่านมีโอกาสเป็นรัฐบาล หรือมีโอกาสบอกผมในเวลานี้ ท่านคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ก็มีหลายเรื่องด้วยกัน วันนี้ผมยกมาแค่ 50

1. การพัฒนาประเทศ ทำยังไงให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องมีการพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด  ชุมชน ท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน ให้เข้มแข็งตามศักยภาพ ที่มีความแตกต่าง  ความเหลื่อมล้ำ ในปัจจุบัน
2. การทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคและระดับฐานรากดีขึ้น ไปพร้อม ๆ กัน
3. การเชื่อมห่วงโซ่มูลค่า และการกระจายรายได้ จากบน  กลาง  ล่าง  โดยต้องเข้าใจว่า ด้วยธรรมชาติของกลไกทางเศรษฐกิจแล้ว สัดส่วนรายได้  ผลกำไรส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ระดับบน ก็เพราะเป็นผู้ลงทุนมากกว่า มีความเสี่ยงกว่า อาจจะขาดทุนก็ได้ หรือกำไรก็ได้ และก่อนที่จะมาถึงจุดนี้  ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีกำไรมาก ปันผลผู้ถือหุ้นได้มากอะไรทำนองนั้น เขามีความเสี่ยงเหมือนกัน แล้วถ้าเดินหน้าไปไม่ได้ก็ขาดทุนมาก เพราะฉะนั้น การเชื่อมโยงห่วงโซ่ทุกระดับ  ทุกกิจกรรม เข้าด้วยกันนั้น ผมถือว่าจะได้เลิกวาทะกรรมที่ว่าเป็นการผูกขาด การเอื้อประโยชน์กันเสียที เปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เผื่อแผ่แบ่งปัน
4. การกระจายรายได้และความเจริญ ลงไปสู่พื้นที่ทุกระดับ อย่างทั่วถึง บางพื้นที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่เท่าเขา แล้ววันนี้ทุกคนอยากจะให้เท่ากัน เป็นไปไม่ได้ เราต้องทำทุกอย่างให้เท่าก่อน หลังจากเท่ากันแล้วจะขยายขึ้นมาให้มากขึ้น เช่นถนนก็ไปเพิ่ม 3- 4 เลน 6 เลน ก็ว่าไป อันที่ 3 ต้องทำพร้อม ๆ กัน คือสร้างความเชื่อมโยงให้ถึงกันให้ได้ก่อน
5. การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ  รัฐวิสาหกิจ จะต้องคุ้มค่าโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
6. การเพิ่มรายได้ภาครัฐ เพื่อเป็นงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อรองรับระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งมีอยู่หลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และคมนาคมขนส่ง  ไฟฟ้า พลังงาน ทุกอย่าง เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ซึ่งบางอย่างก็ต้องชำระเงิน บางอย่างก็ฟรี เพราะฉะนั้นแนวโน้ม “ภาระด้านงบประมาณ” เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากประชาชน ประชากรที่เพิ่มขึ้น จากผู้สูงวัยที่มากขึ้น คนเจ็บป่วยมากขึ้นหรือไม่เราก็ไม่ทราบ แต่เราต้องมีการเตรียมการรองรับสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่า มาตรการลดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน
7. การทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อย มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ได้ในโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ ในการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านั้นได้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างประหยัด แล้วก็ทั่วถึง เท่าเทียม
8. การดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้ทั่วถึงภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ผมกล่าวมาแล้ว
9. การดูแลผู้มีรายได้น้อย “ทุกกลุ่ม” โดยเริ่มต้นจาก การสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้  จากนั้นขยายไปสู่การเพิ่มมูลค่า  สร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ได้อย่างยั่งยืน
10. การทำให้ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่มีรายได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย ให้มีทางเลือกใหม่ มีโอกาสที่จะหันมายึดอาชีพสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ค้าขาย รับจ้าง อาชีพอิสระ ฯลฯ เพราะทุกอาชีพที่เป็นธุรกิจสีเทา เหล่านั้น ส่งกระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ การกีดขวางการจราจร ขาดระเบียบวินัย สร้างความสกปรก ไม่มีคุณภาพ ไม่สะอาด ไร้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นต้น เราก็ต้องมาหาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม
11. การพัฒนาประเทศ ที่เราจะต้องดำเนินการควบคู่ไปทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะขับเคลื่อนในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจ  ซึ่งต้องคำนึงถึง ความคุ้มครอง ความเคารพ แล้วในเรื่องของการเยียวยาที่เหมาะสมในการประกอบการธุรกิจ ผมได้เข้มงวดไปทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภาคการผลิต ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งหมดจะต้องสมดุลและยั่งยืน ทำไปด้วยกันทั้งการพัฒนา และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่าทำอันใดอันหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดผลกระทบโดยรวม
12. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด เช่น ที่ดินและน้ำ วันนี้เราก็มีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทรัพยากร จะต้องลดลง แต่สามารถที่จะเพิ่ม ผลผลิต  ผลประโยชน์มากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้มากกว่าที่ผ่าน ๆ มา มีที่มาก มีน้ำน้อย ก็ปลูกเท่าที่ปลูกได้  ไม่รู้จะมีไปทำไม
13. การปกป้องผืนป่าไม่ให้ถูกบุกรุก หรือถูกทำลายเพิ่มขึ้น วันนี้เราก็สกัดกันได้มากพอสมควร คนเลวก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องลงโทษสถานหนัก เจ้าหน้าที่ก็ต้องไม่ไปร่วมมือ แล้วก็มีกระบวนการบริหารจัดการที่ดีของประเทศอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ดินทำกิน แหล่งน้ำที่เพียงพอ ต่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เราจะต้องมีผืนป่าในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นต้น ค่อย ๆ สร้างไป ถ้าถูกทำลายไปแล้วก็สร้างยาก แต่ต้องช่วยกันสร้างไป อยู่กันไปด้วย คนอยู่กับป่าได้ก็ไปได้ทั้งหมด ป่าเพิ่มขึ้น คนก็มีความสุข กฎหมายวายังไงก็ต้องไปหาวิธีการทำให้เหมาะสม
14. การรักษาบ้านเมืองของเรา ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดไป
15. การทำให้คนไทยจะรู้จักคำว่าพอเพียง ทั้งความหมายและการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม ความพอเพียง สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน
16. การทำให้คนไทยทุกคน คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ “มาก่อน” ผลประโยชน์ส่วนตน หรือเราจะทำไปพร้อม ๆ กัน คิดไปพร้อม ๆ กัน ถ้าเรายึดถือผลประโยชน์ส่วนรวม ร่วมมือ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลก็ตามมาเอง ถ้าส่วนรวมไม่ได้ สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เกิด การลงทุนไม่เกิด แล้วบุคคลจะได้อะไรกลับมาล่ะครับ เพราะวันนี้เราก็สู้ชีวิตกันมานานพอแล้วนะ
17. การทำให้คนไทยเคารพกฎหมายด้วยมีความสำนึกดีมีคุณธรรม จริยธรรม โดยไม่อ้างความจำเป็น ปัญหาส่วนตัว เช่น ความยากจน ความไม่รู้ ความสะดวกสบาย ซึ่งวันนี้ต้องปรับเข้าหากันให้ได้นะครับทำความเข้าใจให้ได้
18. การทำให้คนไทยรู้จักลดอัตตา ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งความประพฤติ ความคิด เราต้องให้ความสำคัญกับส่วนรวมด้วยนะครับ มีความอดทน โดยรู้ความเร่งด่วนของงาน ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เราจะต้องไม่อ้างสิทธิเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต หรืออ้างความจน ความรวย อะไรต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในวาทะกรรม  บ้านเมืองก็สับสนไปหมด
19. การทำให้คนไทยมีจิตสำนึกที่ดี มีอุดมการณ์ ความเสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต  เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ลืมอัตลักษณ์ความเป็นไทย
20. การลดปัญหาสังคม ทั้งการก่ออาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และการละเมิดกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ โดยรวม
21. การสร้างกลไกในการป้องกันคนไม่ดี ไม่สุจริต ในการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ และมีกระบวนการยุติธรรมที่ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม กับคนทุกระดับอย่างทั่วถึง สามารถต่อสู้คดีและรักษาสิทธิของตนเองได้นะครับ เช่น เรามีกองทุนยุติธรรมวันนี้ เพิ่มเติม
22. การทำให้คนไทยมีภาคภูมิใจในความเป็นชาติ, อันนี้สำคัญที่สุด ภูมิใจในความเป็นชาติ มีประวัติศาสตร์ และมี วัฒนธรรมที่งดงาม และเป็นความงดงามของชาติเรา ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้ความสามารถดำรงชีวิตได้ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อย่างเหมาะสม ทั้งตะวันตก และตะวันออก
23. การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติ เจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมีความรู้คู่คุณธรรม ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในอนาคต
24. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ ให้แก่คนไทย
25. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม ทั้งประชาชน ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และทุกภาคส่วน เพื่อจะลดความหวาดระแวงระหว่างกัน ดูแลกัน เห็นอกเห็นใจกัน และอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ที่ทุกคนต้องเคารพและบังคับใช้ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ก็ต้องหาทางออกตรงนี้ให้ได้
26. การทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้ฝ่ายรัฐก็ต้องทำ ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ก็ต้องทำให้ดีนะครับ ประชาชนจะได้มั่นใจ แล้วก็เชือมั่น
27. การทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความไว้วางใจ  ความเชื่อมั่น จากประชาชน ก็ด้วยตัวของท่านเอง
28 .การทำให้บ้านเมืองของเรา มีความเป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม โดยประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ สามารถทำมาหากินได้ อย่างพอเพียง โดยปราศจากผลกระทบทางลบซึ่งกันและกัน  และก็ความสะอาดของบ้านเมืองด้วย ต้องไปด้วยกันให้ได้ จะทำยังไง
29. การสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับประชาชนในการเสพย์สื่อและโซเชียล อย่างรู้เท่าทันและมีวิจารณญาณ สำหรับประกอบการตัดสินใจใด ๆ ได้อย่างเหมาะสม จะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี ก็ต้องมีเหตุมีผลมีหลักการของตัวเองด้วย
30. การทำให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญ กับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ผมอยากจะเน้นการป้องกัน มากกว่ารักษาโดยไม่จำเป็นอันเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอ ปัญหาปากท้อง ปัญหาในครัวเรือน ปัญหาหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ เหล่านี้มากมาย
31. การทำให้ประชาชนเข้าใจว่า บางครั้ง การเรียกร้องของเราในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรเป็นไปไม่ได้ มันอาจจะมีผลกระทบกับคนอื่น
32. การแก้ปัญหาที่หมักหมมยาวนาน คู่ชุมชนเมืองและกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน  เช่น ชุมชนแออัดและการจราจรติดขัด เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ
33. การทำให้ประชาชนมีความสุข ความพึงพอใจในแนวทางที่ถูกที่ควร โดยไม่อึดอัดกับการอยู่ในระเบียบ วินัยและกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางสังคม ที่เราจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
34. การทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ รวมทั้งให้เกียรติและดูแล ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ได้อย่างเหมาะสม เป็นสากล
35. การทำให้คนไทยช่วยกันลดขยะและรู้จักการแยกขยะ ลดผักตบชวา โดยรู้หน้าที่ของตน เพื่อจะไปสู่การลดโลกร้อน โดยการประหยัดไฟ ลดการใช้ถุงพลาสติก ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
36. การทำให้คนไทยเข้าใจหลักการประชาธิปไตย อย่างถ่องแท้ ทั้งในการอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกันโดยต้องยึดถือ หรือฟังเสียงคนส่วนใหญ่ แต่ต้องดูแลคนส่วนน้อยอย่างเหมาะสม ไม่ขัดแย้งและลงตัว ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการ กลุ่มตัวเองต้องการ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่มีเหตุมีผล หรือในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกลไกมันมีหลายอย่างด้วยกัน กลไกเรา กลไกโลก พันธะสัญญามากมาย
37.การทำให้ประชาชนจะเข้าใจว่า ประชาพิจารณ์ ประชามติ ประชาธิปไตย คืออะไร วันนี้ตีกันยุ่งไปหมด แม้กระทั่งคำถามผมก็กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ ควรรู้บทบาทหน้าที่ของตนตามกฎหมายที่มีผลผูกมัดต่าง ๆ ตามหลักการ โดยที่เราต้องไม่ยอมให้ใครบิดเบือนข้อเท็จจริง ที่เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
38. การทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วนนักการเมือง พรรคการเมือง มีคุณธรรม  จริยธรรม และประเทศไทยมีการเลือกตั้งที่ได้มาซึ่งรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  แล้วไม่ลืมดูแลคนส่วนน้อยด้วย หน้าที่ของนักการเมือง พรรคการเมืองก็คือต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่เลือกตนเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลก็ทำหน้าที่แบบนั้น
39. การทำให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และ NGO ต่าง ๆ ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานเพื่อประเทศชาติได้อย่างไรมากกว่าการทำงานที่มุ่งในประเด็น หรือเป้าหมาย หรือกฎหมายของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะมีผลกระทบต่อส่วนรวม อย่างรอบด้าน ลองคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประเทศบ้าง วันนี้ดูเรื่องบุคคลไปแล้ว ดูเรื่องกลุ่มไปแล้ว  เราต้องมองว่าประเทศเราต้องมีสิทธิมนุษยชนของประเทศไหม ลองไปคิดใหม่ดูแล้วกัน
40. การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน  โดยเราต้องมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน
41. การทำให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาของประเทศชาติ ของสังคม และของประชาชน ว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริง มาจากอะไร คืออะไร แล้วเราจะร่วมมือเดินหน้ากันแก้ไขได้ อย่างไร  ถ้าหากว่าต่างคน ต่างคิด ต่างทำ ต่างคนต่างเอาโจทย์ตัวเองใส่เข้ามาแต่เพียงอย่างเดียวตามความต้องการหรือ ผลประโยชน์ของแต่ละคน เป็นหลัก เราก็จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย พัฒนาทำไม่ได้ เช่น เราต้องพัฒนาตนเอง สร้างความเชื่อมโยง  สร้างห่วงโซ่เดียวกัน เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ มีการพัฒนาเกษตรกรรม ควบคู่กับการยกระดับอุตสาหกรรม การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ระหว่างผู้ได้ประโยชน์ กับผู้เสียประโยชน์ การเสียสละ ที่สมควรได้รับการดูแล เยียวยาจนพึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย  หรือมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตามห้วงระยะเวลา เหล่านี้ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เราจะมีรายได้ มีผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างไรนอกจากเงินค่าเยียวยาอย่างเดียวผมกำลังคิดอยู่ เพื่อจะชดเชยในเรื่องของการถูกเวนคืนพื้นที่  ถ้ากิจการมีผลประโยชน์จะทำอย่างไร จะให้เขาได้ไหม ก็จะต้องไปเริ่มใหม่ ไปย้อนหลังไม่ได้อยู่แล้ว เดี๋ยวก็จะมาเรียกร้องของเก่า  พอให้ของใหม่ ของเก่าก็เรียกร้องเข้าอีก เป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนไทยต้องคิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดมูลค่า ไม่ปล่อยให้รกร้าง ไม่เกิดประโยชน์ เหล่านี้ เป็นต้น
42. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเราจะทำอย่างไร ให้ทันสมัย เป็นธรรม สามารถทำได้จริง บังคับใช้ได้โดยปราศจากความขัดแย้ง รับฟังซึ่งกันและกัน หากเรายืนคนละฝ่าย ผู้ถือกฎหมายก็อย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายก็ประชาชน ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีพื้นฐานร่วมกัน ก็ไปไม่ได้ทั้งหมดผลประโยชน์ส่วนรวมก็มาไม่ได้ ทำให้คนส่วนน้อยต้องเดือดร้อน ถูกกระจายปัญหาไปถึงทุกคน แทนที่ผลประโยชน์จะไปทั่วถึง กลายเป็นปัญหาไปทั่วถึงทุกพื้นที่เพราะความขัดแย้งระหว่างกัน
43. การแก้ไขปัญหาของประเทศโดยการดำเนินการตามพันธะสัญญาต่าง ๆ ของประชาคมโลกนั้น รวมทั้งข้อตกลงในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำได้อย่างไร
44. การใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของเรา เป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์ของอาเซียน ในการเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่
45. การทำให้ประเทศไทย  CLMV  อาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพราะเราจะได้รับผลกระทบ เหมือนกัน จากปัญหา และภัยคุกคามต่าง ๆ ดังนั้น ควรต้องช่วยกันสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือกันทั้งในชาติ และต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหา อย่างสันติวิธี ยั่งยืน
46. การทำให้ประเทศสามารถยกระดับฐานะในเวทีระหว่างประเทศ โดยอยู่ในตำแหน่ง บทบาท ในประชาคมโลกที่เหมาะสม ได้รับเกียรติและโอกาสในการเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เรามีศักยภาพและมีขีดความสามารถ
47. การทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใด ๆ กับส่วนอื่น ๆ ในโลก แต่ทั้งนี้ก็เป็นมติของสหประชาชาติ เราควรจะต้องวางบทบาท และความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ อย่างไร จึงจะไม่อยู่ในความเสี่ยงไปด้วย แต่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาของโลกใบนี้ เราจะอยู่อิสระได้ เราจะต้องทำให้ทุกประเทศ ทั้งโลกอยู่กัน อย่างสันติสุข
48. การทำอย่างไรที่เราจะสามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้บ้าง ผมว่าหลายคนก็อาจจะบอกว่า ทำไมไม่มีโครงการไทยแลนด์เฟิร์ส ผมว่าเราน่าจะมุ่งตรงนี้ก่อนมากกว่า การที่จะเป็นมหาอำนาจด้านอาหาร และการท่องเที่ยว ด้าน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงคำพูดเพื่อจะให้กำลังใจและนำพาพวกเราทุกคนให้ร่วมมือกันเป็นมหาอำนาจแบบนี้ดีกว่า   อย่างอื่นเราก็มีไว้สำหรับป้องกันตนเอง  เรื่องความมั่นคง ป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน กับป้องกันภัยความมั่นคงภายใน และภัยคุกคามที่เกิดใหม่ทั้งหมด
49. การทำให้สื่อมวลชน โซเชียล และคนไทยทุกคนมีความตระหนักรู้ เข้าใจถึงผลกระทบจากการเสนอข่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งด้วยเจตนาดี หรือไม่ดี ก็ตาม ย่อมมีผลต่อความรู้สึก และการรับรู้ของสังคมในทางที่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง กระทบต่อความเชื่อมั่นจากนานาประเทศซึ่งส่งผลต่อประเทศชาติโดยตรง ทางเศรษฐกิจเช่น การค้า การลงทุน การส่งออก นำไปสู่ปัญหาปากท้อง รายได้ ขายสินค้าของประชาชนโดยอ้อม ที่จะเกิดขึ้นตามมา   ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้
50. การทำให้คนไทยยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยตลอดไป ไม่เสื่อมคลาย เพื่อจะเป็นหลักชัยของประเทศ อีกนานเท่านาน
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลคิด และทำอยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ผมอยากจะตั้งประเด็นเหล่านี้ไว้เพื่อจะแสวงหาความร่วมมือ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาด้วยความภาคภูมิใจในตนเองสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทย ให้ช่วยกันคิดวิเคราะห์ คำนึงถึงหลักการและเหตุผล จะได้ลดการโต้แย้งในหลายประเด็น ในหลายขั้นตอนขณะนี้ เพื่อไปสู่ความเป็นไปได้ บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำแล้ว ทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย คิดอย่างเดียวพูดอย่างเดียวไม่ได้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งข้าราชการ ประชาชน ประชารัฐ อะไรก็แล้วแต่ ต้องมาช่วยกันทั้งหมด
สุดท้าย จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และพวกเราทุกคน  ไม่ใช่คำถาม – คำตอบ  เดี๋ยวไปตีความกันผิดอีก จริงๆ แล้ว ประเทศของเรา ยังมีปัญหาอีกมากมาย ที่เราต้องปฏิรูป อยากให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำดีกว่าจะต้องมาบังคับด้วยกฎหมายต่าง ๆ ต้องมาร่วมมือกันก่อน   กฎหมายยิ่งใช้น้อยได้ยิ่งดี จะได้ลดความขัดแย้ง  กฎหมายยิ่งเข้มงวดขึ้นทุกวัน เขียนให้แรงขึ้นทุกวัน  กฎหมายปกติยังไม่เคารพ  แล้วกฎหมายยิ่งแรงมันก็ยิ่งขัดแย้ง  เราต้องปรับปรุงที่ตัวเราทุกคน ก่อนเริ่มจากกฎหมายพื้นฐาน กฎหมายจราจร กฎหมายอะไรที่ง่าย ๆ ที่เราต้องปฏิบัติ สังคมมันก็จะเรียบร้อยสงบสุข เรื่องอื่น ๆ จะดีตามขึ้นมาด้วย

พี่น้องประชาชน ครับ

อีกหลายเรื่องที่ผมอยากจะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน อาทิ
1. ผมอยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ อยากให้มีการออกกำลังกายบ้างจนเป็นนิสัย หลายคนก็บอกผมไม่ทำงานดีแต่ออกกำลังกาย มันหมายความว่ายังไง ผมไม่เข้าใจ คิดแบบนี้เป็นความคิดที่ไม่ค่อยดีนัก  ผมก็เป็นตัวอย่างเพื่อสร้างรูปแบบ สร้างให้ทุกคนเห็นว่าการออกกำลังกายมากน้อย ดีกว่าไม่ทำอะไร ก็เป็นโรคมากมาย
วันนี้ผมได้สั่งการให้กับทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม  หน่วยพลเรือน ตำรวจ ทหาร ให้จัดกิจกรรม ออกกำลังกายบ้างในวันหยุดสุดสัปดาห์  ไม่ต้องใหญ่โต ก็เอาคนไปนำเขามา  เขาอยากจะมาก็มา ไม่ต้องบังคับเขา  อาจจะทำเรื่องกีฬาอาทิตย์นี้ 3 อาทิตย์ อาทิตย์สุดท้ายไปทำกิจกรรมสาธารณะ เช่น ทำความสะอาด เก็บขยะ จัดระเบียบสิ่งรกรุงรัง ในวันเสาร์อะไรอย่างนี้   ตัดหญ้า ทาสี ฯลฯ ช่วยกันดูให้บ้านเมืองสะอาด  หน้าบ้านหลังบ้าน  ช่วยกันทำเป็นส่วนรวม เก็บผักตบบ้าง  ทำความสะอาดวัดบ้าง  ผมเป็นทหารผมเคยทำแบบนี้มาตอนเด็ก ๆ   ก็นำทหารไปทำความสะอาด และนำพาพี่น้องประชาชนไปทำงาน   ก็เกิดความรักความสามัคคีเกิดขึ้น  ไม่เช่นนั้นก็ขัดแย้งไปด้วยกำลังด้วยกฎหมายอยู่ตลอดเวลา  แล้วถือเป็นการออกกำลังกายด้วยให้ร่างกายแข็งแรง  ก็ทุกหน่วยงานลองไปปรับดู   ภาคเอกชน   บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ  ผมก็เห็นหลายพื้นที่ก็ใช้วิธีนี้กันอยู่ มีการออกกำลังกายเพิ่มเติม แล้วแต่สมัครใจ  อย่าบังคับเขา    วันนี้ก็ได้พยายามให้ไปจัดในสวนสาธารณะบ้าง  มีดนตรีฟังบ้าง มีกิจกรรมให้ลูกให้หลาน ไปด้วยบ้าง  พ่อแม่พี่น้องครอบครัวจะได้ไปด้วยกันในวันหยุด  ใช้เวลาร่วมกัน สังคมก็จะอบอุ่น  ปัญหาในครอบครัวจะลดลง    ช่วยกันสร้างคุณค่าให้กับตนเองในสังคม  ถ้าเราช่วยกันทำจิตสาธารณะเผื่อแผ่แบ่งปัน จะส่งผลให้ตัวเองมีคุณค่า   ส่งผลให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมสู้งานหนัก เพื่อครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ ต่อไป
2. ขอบคุณสื่อ คอลัมน์นิสต์ ที่ช่วยกันทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำ แล้วทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดี ในส่วนที่ยังไม่สำเร็จ ก็ช่วยกันสร้างความร่วมมือ ระหว่างกันให้ได้ ไม่เช่นนั้นทำไม่สำเร็จ  ลองไปดูว่ามีอะไรดีบ้าง  ส่วนที่ดีเอามาร่วมมือ  ส่วนที่ยังต้องแก้ไขก็บอกมา เพราะฉะนั้นการที่จะแพร่กระจายข่าวอะไร ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา ขอให้กรุณาหาเหตุผล ข้อมูล จากทางราชการบ้าง  บางทีไปฟังข้างล่างทีเดียว บางทีไม่ตรงกับข้างบน  เพราะฉะนั้น เอาข้างบนกับข้างล่างมาเชื่อมกัน   ผมขอร้องสื่อให้ช่วยกันแบบนี้  ก็จะเป็นความคิดของคนบางกลุ่มบางฝ่าย  ถ้าหากว่าไปฟังทางนั้นก่อนโดยที่ไม่ฟังรัฐบาล ก็ไม่มีเหตุมีผลซึ่งกันและกัน   ที่อาจจะเสียผลประโยชน์ ในการที่จะทำอยู่ในเวลานี้ ซึ่งหลาย ๆ อย่างถูกบิดเบือนไปมากพอควร
3.  เรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข เรามีความจำเป็นอยู่หลายประการ แต่รัฐบาลก็ยืนยันมาหลายครั้งแล้วว่า ทุกคนจะไม่ได้รับอะไรน้อยลงไปกว่าเดิม ที่มีอยู่แล้วเดิม แต่เราจะต้องหาทางจะว่าทำอย่างไรทุกคนจะเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นอย่างทั่วถึง เป็นธรรม โดยต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่เรามีอยู่ค่อนข้างจำกัด รัฐบาลมีแต่คิดว่า จะทำอย่างไรได้มากขึ้น ใครจะทำหน้าที่บูรณาการ ใครจะทำหน้าที่กำกับดูแล เป็นเจ้าภาพ หรือหน่วยปฏิบัติเพื่อลดความซ้ำซ้อน เอางบประมาณเหล่านั้นไปใช้ในเรื่องอื่นที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่ตรงตามกับนโยบายของรัฐบาลในการดูแลสาธารณสุขของประชาชน
ทั้งนี้ หน้าที่ของภาครัฐ ข้าราชการ ประชาสังคม NGO และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ล้วนแต่ต้องทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น ไม่ใช่เอาไปสร้างอำนาจ สร้างอิทธิพล สร้างคะแนนนิยม หรือใช้เงินไปเพื่อประชาชนเพียงบางกลุ่มบางฝ่าย ต้องกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าเงินส่วนนี้จะไปใช้ที่ไหน กับใคร อย่างไร ให้โปร่งใส อันไหนไม่พอจะเอาจากที่ไหนมาใช้เพิ่มเติม วันนี้เรื่องงบสาธารณสุขมาจาก 2 ทาง มาจากทั้ง สปสช. สส. แล้วในส่วนของรัฐบาลเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข จะทำอย่างไรที่งบประมาณจากทั้ง 3 หรือ 4 ส่วน สามารถที่จะกระจายไปสู่ทุกภาคส่วนได้ เพื่อจะแก้ปัญหาที่บอกว่า ยังมีปัญหาระดับล่าง คนเข้าไม่ถึง ยุ่งยาก เลยตีกันไปหมด กลายเป็นว่าดี แต่ดูแลข้าราชการประชาชนไม่ดูแล ไปดูแลเรื่องของล่างว่าเขาทำกันอย่างไร การดูแลผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด จะแยกคนแยกเงินแยกงาน เขาจะร่วมได้หรือไม่ในกิจกรรมเดียวกัน นี่คือหลักการบูรณาการ แผนคน แผนเงิน แผนงบงานต้องไปด้วยกัน เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องรู้ตรงนี้ เป้าหมายสำคัญคือเพื่อประชาชน ซึ่งต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปศึกษารายละเอียด นำข้อบกพร่องก่อนหน้านี้ตามที่ภาคประชาชนเสนอมา ความสำเร็จเราอาจจะมองแง่ว่า เราดูและประชาชนด้วยการประกันสุขภาพทั่วประเทศ แต่ดูว่าดีหรือยัง แล้วจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าเราเอาปัญหาเข้ามาพิจารณา แล้วแก้ปัญหาตรงนั้นก่อนแล้ว จากนโยบายเดิม จากกฎหมายเดิม แล้วจะแก้ด้วยกฎหมายใหม่อย่างไร ก็จะแก้ได้หมดประชาชนก็จะเห็นชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้นคือเหตุผลของผม ในการที่มีการปรับปรุง พรบ. สุขภาพฯ ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ต้องการจะลดอะไร ในอย่างที่คนเขากล่าวอ้างกัน แต่เราต้องการจะยกระดับให้ดีขึ้น แก้ทุกปัญหาให้ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการ มีการเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย ให้ได้อย่างแท้จริง
4. บรรดาผู้นำทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่ว่าจะส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หรือผู้นำตามธรรมชาติ ล้วนสามารถนำพาประชาชนไปร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลาทุกที่ทุกเวลา เพื่อจะเพิ่มปฎิสัมพันธ์ พบปะพูดคุยกันสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ ไม่ว่าจะท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่าไปร่วมตัวกันเพื่อสร้างความขัดแย้ง กลุ่มเกษตรกรก็เหมือนกัน มีตั้งหลายกลุ่มที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ไปหากิจกรรมที่ร่วมมือกันดีกว่า มากกว่าที่จะมาต่อต้าน มากดดัน มาประท้วง ผมว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะเรากำลังแก้ปัญหาทั้งหมดอยู่ อาจจะไม่ทันใจ แต่ถ้าแก้แบบที่ท่านต้องการก็ไม่ทันใจอีกเหมือนเดิม ก็ยิ่งทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด ก็ฝากไว้ด้วยแล้วกัน ขอให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองที่เราจำเป็นจะต้องรักษาไว้ มีไว้ เพื่อส่วนรวม แล้วหารือกันว่า จะทำอย่างไรกันต่อไป ก็ขอร้องพี่น้องเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ชาวสวนยางด้วย อย่ามาประท้วงผมเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้นผมทำให้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องอาศัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน หลายมิติด้วยกัน วันนี้ทราบว่าดีขึ้นแต่ยังไม่มากนัก แต่จะให้หวือหวาเป็นไปไม่ได้ เพราะเชื่อมโยงกับข้างนอกเขาด้วย
5. การเมือง ประชาธิปไตย  สิทธิมนุษยชน  ความเท่าเทียม และการลดความเหลื่อมล้ำ จะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยง สัมพันธ์กัน ในหลายมิติ ซึ่งเราต้องคิด ต้องทำ ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม พูดอย่างเดียว ทำอย่างอื่นอย่างใดก็ไปขัดอีกอย่าง ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน หลายอย่าง บางอย่างก็ทำอย่างนี้ก่อนได้ บางอย่างทำไม่ได้ก็ทำพร้อมกัน ต้องไปพิจารณากันเอาเองว่า ภาครัฐข้าราชการจะทำงานตรงนี้ได้อย่างไร ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ตรงไหน ถ้าทุกคนยึดถือหลักการของตนเป็นที่ตั้งก็ไปไม่ได้ทั้งหมด ก็ขัดกันทั้งหมด
6. หลายอย่างในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เกษตรกร เศรษฐกิจ กฎหมายการค้าการลงทุน  หลายอย่างค่อยๆ ดีขึ้น หลายอย่างอาจจะช้า ยังไม่ทั่วถึง ก็ต้องไปด้วยกันให้ได้ เราจะเร่งดำเนินการได้อย่างไร  โครงการใหม่ ๆ สวัสดิการใหม่ๆมันจะเกิดขึ้นได้ไหม ซึ่งหลายรัฐบาลคิดจะทำ หรือพยายามจะทำ เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งอดีตและปัจจุบัน แล้วอนาคตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเรายังต้องจมอยู่กับปัญหาหนี้สิน ความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ไม่ดี ที่สำคัญคือความไม่เข้าใจ คำว่า“ประชาธิปไตย” อย่างถ่องแท้ แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะแก้ได้หรือไม่ ผมคาดหวังว่าเขาจะแก้ให้ได้ที่ผมพูดมาทั้งหมด ขนาดรัฐบาลนี้มีอำนาจเต็ม ก็ยังมีคนกล้าออกมาต่อต้าน ออกมาฝ่าฝืนข้อบังคับ ละเมิดกฎหมาย บิดเบือน โดยที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือไม่มีข้อเหตุผลที่ดีพอ
7. สถานการณ์ในโลกใบนี้มีหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความไม่สบายใจให้กับคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นอากาศเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง สงคราม ก่อการร้าย ยาเสพติด อาชญากรมข้ามชาติภัยไซเบอร์ ความอดอยากภัยพิบัติ ประเทศไทยถึงแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก ก็มีทุกวัน แต่เรายังสามารถจะดูแลควบคุมได้ เจ้าหน้าที่ยังจับกุมทำคดีได้สำเร็จเป็นจำนวนมาก มากกว่าช่วงที่ผ่านมามาก หลายคดีมีติดตามอยู่ทุกคดีทุก  ประเด็นไม่ได้ไปรังแกใคร มีอยู่ในกลไกอยู่แล้ว เข้ากระบวนการยุติธรรม ไปต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากให้มาติดตามว่าเรื่องนี้เสร็จหรือยัง เรื่องที่ทำให้เกิดผลกระทบกับสังคม ตามจนกระทั่งแพร่ไปหมดจนประเทศไทยแย่ที่สุดเลยในขณะนี้  ทั้ง ๆ ที่เราก็จับได้ทุกคดี ที่ผ่านมาหลายคดีไม่ได้เป็นคดี หลายอย่างก็ไม่ได้จับกุม หลายอย่างก็ล่าช้าในการดำเนินคดี
ผมอยากจะให้คิดว่า วันนี้ที่จะทำกันนี้ไม่ได้ล้มเหลว แต่ว่าปัญหามีมากเราต้องแก้ไปเรื่อย ๆ ให้ความสนใจทั้งหมดด้วยว่าทุกอย่างในวันนี้ดีกว่าเดิมหรือไม่ ดูทั้งปริมาณและคุณภาพไปด้วย ถ้าดูปริมาณอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องดูคุณภาพด้วย เพราะหลายเรื่องเราแก้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของความยากจน เรื่องของความเหลื่อมล้ำความเป็นธรรม เรื่องคดี เรื่องทุจริต เรื่องอะไรต่าง ๆ ก็ดีขึ้นทั้งหมด แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ ต้องให้ได้ 100% ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น อย่าไปสนใจคดีเฉพาะที่อยากสนใจ ถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเองก็ไม่สนใจ คดีของคนกับสังคมมีอยู่มากมาย
เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ทำงานกันเต็มที่อยู่แล้ว ดูว่าประเทศชาติส่วนใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่เขาปลอดภัย ก็มีส่วนน้อยที่มีคดีที่มีความเดือดร้อนก็ต้องไปแก้ตรงนั้น ว่าทำอย่างไรเขาจะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่เสียชีวิต ทรัพย์สิน ไปดูตรงโน้น ดูทั้ง 2 ข้างไปด้วย คนไม่ดีก็ต้องช่วยกันกำจัดออกไป โดยให้ข้อมูลในเฉพาะที่เหมาะสมแล้วก็จบได้แล้ว  ไม่เช่นนั้นก็พูดกันในสื่อทะเลาะเบาะแวงขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องมีองค์กรของเขาต้องดูแลชื่อเสียงขององค์กร บุคคลคือบุคคล ก็ต้องโทษ สอบสวนไปให้ข้อมูลมาก็จบแล้ว ก็เดินหน้าไปติดตามผลการสอบสวน ติดตามผลการดำเนินคดี ก็ได้แค่นั้น ทุกประเทศเขาก็เป็นแบบนี้ นี่เล่นไม่เลิก ผมว่าไม่ใช่ จนปัญหาอื่นไม่ได้รับความสนใจเลย คนเดือดร้อนจริง ๆ ไม่ได้รับการแก้ปัญหา การแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ตำแหน่งก็ไม่ได้มากนักมีน้อย มีทั้งได้ไม่ได้ คนได้มีน้อย คนไม่ได้ก็มีมากกว่า ก็ต้องไปดูว่า คนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงจะมีเท่าไร เอาเขามาช่วย เขานี้ก็ไม่กล้าเข้ามาบอกข้อมูลอีก ข้อมูลก็ไม่ให้ เพราะเขากลัวจะผิดด้วย เพราะเป็นผู้ให้ แล้วจะทำอย่างไร หลายอย่างที่เดินหน้าไม่ได้ เพราะผู้ให้หรือผู้ที่เสียประโยชน์ก็มีความผิดด้วย แล้วพอบอกว่าจะคุ้มครองให้ จะให้มา ก็บอกว่าไม่เป็นธรรม คนทำความผิดแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แล้วอย่างนี้จะไปกันอย่างไร ไปคิดมา คนที่ไม่ดีก็อ้างกระบวนการยุติธรรมมีหรือไม่ อาจจะมาพูดว่าระบบเสียหาย หรือคิดเอาเอง อย่างผมไม่เคยปฏิเสธว่าดีทั้งหมดอยู่แล้ว เราต้องช่วยกันแก้ต่อไป  แก้เป็นส่วนๆ แก้เป็นเรื่องๆ เรียบเรียงในกิจกรรมใหญ่ ๆ การปฏิรูปไม่ได้สำเร็จได้ง่าย ๆ หรือรวดเร็ว เราต้องแก้ให้ครบวงจร ปัญหาเล็กปัญหาน้อยปัญหาใหญ่ต้องใช้เวลา ต้องใช้วิธีการต้องใช้กฎหมายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือซึ่งกันและกันจากเจ้าหน้าที่และประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ประชาชนส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ดี ๆ ก็ยังได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเดิม จากวิธีการเดิมอยู่มาก ถ้าเราจะทำใหม่ ทำกฎหมายใหม่ ก็ต้องไปหาวิธีการว่าจะใช้กฎหมายนี้อย่างไร ประชาชนจะร่วมมือได้อย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ก็ไม่ขัดแย้ง ถ้าทำแบบเดิมแล้วเอากฎหมายใหม่มาแต่วิธีการเดิมก็ขัดแย้งเหมือนเดิมไม่เกิดประโยชน์

เรื่องที่ 8. เรื่องฝนตก น้ำท่วม น้ำขัง ก็คงต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้บรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด ในเรื่องของการก่อสร้างการบูรณาการ ไม่ว่าจะแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะในเรื่องของระบบการส่งน้ำ ไม่ว่าจะการระบายน้ำต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจัดทำแผนงานให้รัดกุม ทุกอย่างเกิดขึ้นมาหลายสิบปีที่ไม่ยั่งยืน วันนี้เราก็ทำไปได้มากแล้ว ลองตามดู ก็ติดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาทำไม่ได้ ประชาชนไม่ยินยอม อันนี้คือปัญหาสำคัญ การบุกรุกพื้นที่ของทางข้าราชการ จะสร้างถนน สร้างรถไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ รถไฟความเร็วสูงติดหมด พี่น้องประชาชนบุกรุกอยู่ ผมก็ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เราจะทำอย่างไร เพราะผิดกฎหมาย ต้องไปดูแลว่าจะทำอย่างไร ก็ขอร้องว่าอย่าไปขวางเลยเรื่องการก่อสร้างรถไฟอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ เพราะเป็นผลประโยชน์โดยร่วมของประเทศ การที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง ผมเห็นข่าวจากช่องหนึ่ง บอกว่าผมต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-โคราช เพราะว่าผมเป็นคนโคราช ดูซิคิดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะเกิดที่ไหนก็เรื่องของผม นั้นเรื่องส่วนตัวของผม แต่ผมทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่เกิดของผมเพียงอย่างเดียว คิดแบบนี้ไม่ได้ แล้วเส้นทางเส้นนี้ต้องไปโคราชแล้วไปหนองคาย ไปเชื่อมต่อกับลาวไปยังจีน ไปยุโรปตะวันออก ไปยึดโยงทางด้านโน้น เราต้องทำด้านล่างลงไปอีก ไปเชื่อมต่อมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย  ตะวันตก ตะวันออก พม่า ลาว กัมพูชา ต้องคิดแบบนี้ อย่ามองทุกอย่างเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด นั้นเรื่องส่วนตัวของผม ไม่ใช่เลย

               สุดท้ายนี้ ​ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานปณิธานแห่ง   “การให้” ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนโครงการ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี  ซึ่งจะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาและการวิจัย เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในทุกระดับ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่วิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยขยายพื้นที่การให้บริการทางการแพทย์ ไปในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ และ EEC
วันนี้ผมตั้งใจจะพูดให้ช้าลงก็ไม่ได้อีก เพราะเรื่องมีมากพอสมควร พยายามติดตามดูบ้างก็แล้วกัน ต้องขอโทษอาจจะพูดเร็วไป ก็ตามอ่านดูในหนังสือพิมพ์มีทุกสัปดาห์ ถ้าวันนี้ไม่ทันดูก็กรุณาดูวันเสาร์ 8 โมงเช้าดูได้อีกครั้งหนึ่ง หรืออ่านในหนังสือพิมพ์ก็มี  ขอให้ดูทั้งฉบับ ไม่เช่นนั้นก็หยิบเอาประเด็นนั้นประเด็นนี้มา แล้วก็ตีผมกลับไปกลับมา ผมว่าไม่เกิดประโยชน์ในการพูดของผมเลย อย่ารำคาญผม เพราะผมทำให้ประเทศชาติทำให้ท่านทุกคน

ขอบคุณครับ  ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ