ไทยเข้าเป็นภาคี ILO เพื่อขจัดการเลือกปฎิบัติการจ้างงานและอาชีพ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา พร้อมด้วยพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้แทนรัฐบาลเข้ายื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ แก่นาย Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เพื่อยกระดับมาตรฐานความเท่าเทียมทางอาชีพและมาตรฐานแรงงานไทยให้เป็นสากล โดยอนุสัญญาฉบับนี้มี 175 ประเทศเข้าร่วมและจะมีผลบังคับใช้กับไทยในวันที่ 13 มิถุนายน 2561 โดยไทยเข้าเป็นภาคี ILO ด้านมาตรฐานแรงงานแล้ว 6 ฉบับ
อนุสัญญานี้เน้นขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ทำให้ประเทศสมาชิกต้องกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคในการจ้างงานและอาชีพ ขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับองค์การผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
ประเด็นการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพยังเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ทั้งข้อ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ข้อ 8 เรื่องการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อ 10 เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะงานที่มีคุณค่าที่ ILO กำลังส่งเสริมอยู่ด้วย
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการขจัดการเลือกปฏิบัติและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายหลายฉบับที่บัญญัติได้ช่วยป้องกันและคุ้มครองไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เช่น พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยไทยมีกฎหมายก้าวหน้ากว่าที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 และลงรายละเอียดในเรื่องการกำหนดอายุและรวมคนพิการและแรงงานนอกระบบไว้ด้วย