มหาวิทยาลัยกรุงเทพเซ็นเอ็มโอยูกรุยทางสร้างมาตรฐานและความนิยมอาหารไทยต้นตำรับสู่ความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำสหรัฐฯ


เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 มิถุนายน 2560 อท. ภัทราวรรณ เวชชศาสตร์ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอ็มโอยูระหว่าง ผศ. ดร.วีระพงศ์ มาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพกับนายลอว์เรนซ์ ฟิชแมน ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะในกรุงวอชิงตัน (Art Institute of Washington)  โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รศ. ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการครัวไทยสู่ตลาดโลก และนายไมเคล โรล ผู้อำนวยการภาควิชาการจัดการอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนคณะผู้บริหารของสถาบันเอไอ และ อท.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ นางศศิพันธุ์ พรรณรายน์ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจและคลัง  น.อ. ชัยยงค์ ขุนทา ผู้ช่วยทูตทหารเรือ  พ.อ. เผ่าพันธ์ เจนนุวัตร รองผู้ช่วยทูตทหารบก เข้าร่วม

 

การลงนามครั้งนี้เกิดความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านโครงการครัวไทยสู่ตลาดโลกที่ต้องการต่อยอดจากกระแสความนิยมอาหารไทยแต่ก็มีการดัดแปลงไปมากให้มีมาตรฐานและคงรสชาติต้นตำรับไว้  และหาแนวทางเชื่อมโยงกับกระแสการบริโภคปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพและอาหารไทยสามารถตอบโจทย์เพราะมีจุดเด่นเนื่องจากอาหารไทยมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบสำคัญ และ วช. จะสนับสนุนงานวิจัยด้านสรรพคุณอาหารไทยเพื่อนำไปกระตุ้นความสนใจบริโภค และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้พัฒนาคุณภาพการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานต้นตำรับและเป็นที่นิยม และส่งออกสู่ตลาดโลกเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น

ก่อนวันลงนาม เชฟจากหลายสถาบันอาหารของไทยทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มาสาธิตวิธีปรุงหลากหลายเมนูที่ยังไม่แพร่หลายในหมู่ชาวอเมริกันมากนัก อาทิ กุ้งทอดราดซอสมะขาม แกงส้มกุ้ง เนื้อน้ำตก โรตีกล้วยและทับทิมกรอบ และได้นำช่อม่วง ขนมปังหน้าหมู ถุงทอง กุ้งพันอ้อย จ่ามงกุฏและลูกชุบมาเลี้ยงแขกในช่วงพิธีลงนามสร้างความประทับไม่รู้ลืม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยเมนูอาหารเหล่านี้ที่มีความพิถีพิถันไม่แพ้ต้มยำและผัดไทย มีชาวอเมริกันสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมการสาธิตทำอาหารไทยจำนวนมากและหลายคนก็แสดงความสนใจที่จะไปฝึกฝนต่อที่ประเทศไทยเพื่อเรียนรู้อาหารและวัฒนธรรมกันต่อไป

เอ็มโอยูระยะแรก 1 ปีนี้เป็นก้าวแรกของโครงการครัวไทยสู่ตลาดโลกที่จะเน้นแลกเปลี่ยนนักเรียนและบุคคลากรด้านอาหารซึ่งสถาบันเอไอมีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วสหรัฐฯ ที่ผู้จบการศึกษามักไปประกอบอาชีพธุรกิจอาหารและหากได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรุงอาหารไทยต้นตำรับด้วยเครื่องปรุงและซ๊อสปรุงรสต่างๆ ของไทย และรู้จักการปรุงอาหารที่หลากหลายเมนูขึ้น ก็น่าจะนำไปสู่การขยายความนิยมอาหารไทยและเพิ่มความต้องการด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร อีกทั้งยังจะเป็นการเพิ่มการรับรู้อาหารและวัฒนธรรมไทย  ทั้งนี้ วช. มีโครงการจะขยายความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่นในอนาคตด้วย