นวัตกรรมและวิทย์น่ารู้ ตอนที่ 10 : วิธีจัดการปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืน (กรณีศึกษาที่ทะเลสาบวิคตอเรีย ประเทศเคนยา)
ปัญหาผักตบชวาเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกพยามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประเทศไทยเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลสำหรับการกำจัดผักตบชวามาโดยตลอดตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผักตบชวาก็ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ความพยามนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์ มีด้วยกันหลายอย่าง เช่น นำไปใช้ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ นำไปใช้บำบัดน้ำเสีย นำไปบริโภค ทำเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนทำเครื่องจักสาน แต่ปริมาณของผักตบชวามีมากเกินกว่าความต้องการใช้ประโยชน์ ทำให้ผักตบชวากลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ทะเลสาบวิคตอเรีย ประเทศเคนยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากผักตบชวามาหลายสิบปี วิธีกำจัดและควบคุมผักตบชวาหลายวิธีถูกนำมาทดลองใช้ที่นี่ เช่น วิธีทางเคมี การใช้เครื่องจักรกลต่างๆ และ วิธีทางชีวภาพ แต่ไม่มีวิธีไหนเลยที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ในปี 2016 ทีมวิจัยจาก Jaramogi Oginga Odinga University of Science and Technology ประเทศเคนยา ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเรื่อง Producing Liquid Organic Fertilizer from Water Hyacinth; A Case of Lake Victoria, Kenya ลงในวารสาร International Journal of Science and Research (IJSR), Vol. 5, Issue 2, 2016 เกี่ยวกับผลการศึกษาการนำผักตบชวาไปทำเป็นนำ้หมักชีวภาพ
เนื่องจากผักตบชวาสามารถดูดซับสารไนโตรเจนและฟอสเฟตจากน้ำได้ดี ผลการศึกษาพบว่า น้ำหมักชีวภาพที่ได้จากผักตบชวา มีปริมาณสารไนโตรเจน (3.72%) และฟอสเฟต (2.86%)สูง ซึ่งเป็นสารเคมีที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ เมื่อนำไปทดลองใช้เปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี พบว่าน้ำหมักชีวภาพที่ได้ ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต (วัดจากความสูง จำนวนใบไม้ และ ขนาดของใบไม้) ได้ดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเห็นได้ชัดด้วยตา และจากผลการทดลองเก็บข้อมูลหาค่าทางสถิติเพื่อยืนยัน ซึ่งตรงกับผลการวิจัยของกลุ่มวิจัยอื่นๆด้วย
ทางทีมวิจัย ได้เสนอแนะว่า ทางรัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการผลิตนำ้หมักชีวภาพจากผักตบชวาในชุมชนต่างๆ เพื่อนำไปใช้ทำเกษตรกรรม ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวาได้อย่างยั่งยืน และน่าจะส่งผลดีต่อชุมชน ในเรื่องของการจ้างงาน และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลดความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีและการขายน้ำหมักชีวภาพ
ประเทศไทยเอง จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณหลายล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2559 และมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งบอกได้ว่า เรายังสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อนำไปทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกมาก นอกจากนั้น ชุมชนเกษตรกรต่างๆในประเทศไทย ก็มีความรู้ในการทำน้ำหมักชีวภาพกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง และการจัดการอย่างเป็นระบบเท่านั้น
ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า การนำผักตบชวาไปทำน้ำหมักชีวภาพ น่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด เนื่องจากผักตบชวามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มากกว่า 90% ดังนั้นการกำจัดน้ำออกจากผักตบชวาก่อน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น เครื่องจักสาน หรือ เชื้อเพลิงชีวภาพต่างๆ จะทำให้สิ้นเปลืองเวลาและพลังงานมาก นอกจากนั้น ผักตบชวายังช่วยดูดซับไนโตรเจน ฟอสเฟต และโลหะหนักออกจากแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำสะอาดขึ้น ถ้าเราใช้วิธีพ่นสารเคมีหรือเชื้อราเพื่อกำจัดผักตบชวา สารเคมีเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ในแหล่งน้ำ และเมื่อสะสมมากขึ้น น้ำก็จะเสียได้ (ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงสารเคมีหรือเชื้อราที่ใช้กำจัดผักตบชวา ว่าจะทำให้น้ำเสีย) เราต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยยังมีการปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างมากในหลายๆพื้นที่ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผักตบชวาเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าเราสามารถหาวิธีจัดการผักตบชวาได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะมุ่งหาวิธีกำจัด ผู้เขียนเชื่อว่าเราจะได้ประโยชน์จากผักตบชวาอย่างมาก
ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, Miami, FL