พระอาจารย์สุเมโธบรรยายธรรมให้แก่ชุมชนชาวไทยและชาวอเมริกันในเขตวอชิงตัน

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตันร่วมกับศูนย์เจริญจิตภาวนาประจำกรุงวอชิงตัน (ไอเอ็มซีดับเบิลยู) นิมนต์พระสายวัดป่าจำนวน ๖ รูปมาบรรยายธรรมและการเจริญจิตภาวนาแก่คณาจารย์และสมาชิกตลอดจนชุมชนชาวไทยและอเมริกันในเขตปริมณฑลกรุงวอชิงตันหลายร้อยคนและมี ออท. พิศาล และคุณวัญจนา มาณวพัฒน์เข้าร่วม

พระเถระผู้ใหญ่ชาวตะวันตกสายปฏิบัติตามแนววัดป่าของพระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา สุภัทโท) นำโดยพระราชสุเมธาจารย์ (สุเมโธ ภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอมราวดี สหราชอาณาจักร  พระอาจารย์วีรธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าติสรณะ ประเทศแคนาดา  พระโพธิญาณวิเทศ (พระอาจารย์ปสันโน) เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  พระอาจารย์ชยันโต เจ้าอาวาสวัดเชตวัน มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ และพระอาจารย์โมเช่จากวัดรัตนวัน ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสได้บรรยายธรรมให้ชาวตะวันตกเข้าใจปรัชญาของความหลุดพ้นเป็นหลักดำเนินชีวิตและเปิดโอกาสให้ผู้สนใจซักถามด้วยความใคร่รู้ปรัชญาพุทธศาสนาผ่านการทำสมาธิและการเจริญจิตภาวนากันจำนวนมาก

นางทารา บราช ผู้ก่อตั้ง และนางเจนิเฟอร์  จอร์แดน สมาชิกและผู้ประสานงานของไอเอ็มซีดับเบิลยู ได้กล่าวสรุปประวัติเบื้องต้นพระอาจารย์สุเมโธและพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมการบรรยายและกล่าวขอบคุณสถานทูตไทยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับโอกาสที่ดีและได้เข้าถึงปรัชญาพระศาสนาที่ชาวตะวันตกหันมาสนใจจำนวนมาก

พระอาจารย์สุเมโธกล่าวถึง Ego (อัตตา) หรือนิยามของตัวตนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากแต่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตามวัย จนท้ายที่สุดพัฒนาเป็นความรู้สึกเป็นเจ้าของร่างกาย ที่จะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติได้ และให้พึงระลึกว่า ร่างกายที่เราหวงแหนนั้น แท้จริงไม่ใช่ของเรา  และเล่าถึงอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นสัจธรรมหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นความจริง ๔ ประการคือ ความทุกข์  ต้นกำเนิดของทุกข์ สภาวะที่ตื่นรู้ และหนทางไปสู่สภาวะดังกล่าว

สภาวะ “ทุกข์” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น และทุกคนรับรู้อยู่แล้วว่าเป็นเช่นไร ซึ่งสิ่งที่พึงกระทำไม่ใช่การวิ่งหนีหรือการจมไปกับมัน แต่หากเป็นการรับรู้และเข้าใจว่า “นี่แหละทุกข์” มันเป็นเช่นนี้ มันเกิดขึ้นแล้ว มันไม่ได้เลวร้าย และมันไม่ถาวร  พระอาจารย์เปรยว่าการจะรู้จักและเข้าใจว่าใบไม้ (ทุกข์) มีสภาพเช่นไร ไม่จำเป็นต้องศึกษาใบไม้ทั้งป่าแต่แค่หนึ่งหยิบมือก็พอ ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใจทุกข์ ขณะทำสมาธิ ไม่ต้องสนใจในทุกความคิดที่ผ่านเข้ามาก็ได้แต่ให้เลือกที่จะมองความคิดบางอย่างและมีสติรับรู้เพื่อเข้าใจทุกข์มากขึ้น ไม่ต้องคิดถึงผลที่ยังไม่เกิดเพราะมันยังไม่เกิด ไม่ต้องคิดถึงอดีตเพราะมันแก้ไขไม่ได้ อยู่กับปัจจุบันและพิจารณาผลของมัน ซึ่งเมื่อเราเข้าใจมันเราก็จะสงบได้ ต่อมาคือ เหตุของทุกข์ (สมุทัย) ซึ่งเกิดจาก “ความต้องการ” ทั้งสิ้น ความต้องการมีทั้งความต้องการจะมี จะเป็น และความต้องการจะไม่มี จะไม่เป็น ซึ่งเมื่อรู้เท่าทันและดับความคิดเหล่านี้ได้ ก็คือ “มรรค” หรือหนทางเข้าสู่สภาวะที่ตื่นรู้ ซึ่งเป็นสภาวะเป็นสุขยิ่ง ทั้งหมดนี้คือ สัจธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ได้ค้นพบกว่า ๒๕๐๐ ปีที่แล้ว

ช่วงการถาม-ตอบ พระอาจารย์สุเมโธตอบคำถามอย่างหลักแหลมสะท้อนหลักธรรมที่แสดงไว้ตอนแรก อาทิ กรณีพุทธศาสนานิกายเถรวาทกับความเท่าเทียมของสตรีเพศ ซึ่งสตรีหลายคนก็สามาถเข้าถึงพระธรรมได้ การมีภิกษุณีนั้นเป็นเรื่องของอนาคต หากศรัทธาในพระพุทธศาสนามากจริง ๆ (ไม่ว่าบุรุษหรือสตรี) พุทธศาสนาหลายนิกายก็มีภิกษุณีและชื่นชมในแนวทางปฏิบัติและนำไปสู่การบรรลุธรรมได้เช่นกัน  หลังการบรรยายธรรมสถานทูตได้จัดเลี้ยงอาหารว่างไทยให้แก่ผู้เข้าร่วมงานสร้างความประทับใจที่ได้อิ่มทั้งบุญและท้องกันในวันนั้น