นวัตกรรมและวิทย์น่ารู้ ตอนที่ 11: เทคโนโลยีต่อต้านการค้ามนุษย์

จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาประจำปี 2559 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ต้องถูกจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยได้พยามทำมากขึ้นแล้วก็ตาม ในรายงานได้ให้ข้อเสนอแนะหลักๆว่า (1) ประเทศไทยควรดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้องที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเข้มงวด (2) ไทยควรเพิ่มความพยายามในการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้อพยพ บุคคลไร้สัญชาติ และเด็กผู้ลี้ภัย (3) ควรเพิ่มทรัพยากรสำหรับการสอบสวน การฝึกอบรมสำหรับคณะทำงาน และจัดตั้งแผนกการค้ามนุษย์ในระบบศาล และข้อเสนอแนะอื่นๆอีกมากที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฏหมายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

โดยปกติการค้ามนุษย์จะมีขั้นตอนหลัก ๆ อยู่ 3 ขั้นตอน คือ (1) การเข้าครอบครองเหยื่อโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง (2) การขนส่งเหยื่อ และ (3) การบีบบังคับเหยื่อให้ทำตามต้องการ เราสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งในปัจจุบัน หลายบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก มีความพยายามอย่างมากที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาค้ามนุษย์

เทคโนโลยีสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการค้ามนุษย์ได้ตั้งแต่ต้น โดยการใช้เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อคนที่ต้องการหางานกับงานที่ปลอดภัยโดยตรง ซึ่งจะเป็นการตัดคนกลางที่มุ่งหาผลประโยชน์จากคนที่กำลังหางาน ทำให้สามารถลดปริมาณคนที่อาจจะถูกหลอกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ได้มาก ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งคือ เว็บไซต์ http://contratados.org/ ที่ช่วยให้คนงานเม็กซิกันได้แชร์ประสบการณ์การทำงานในอเมริกา คนงานสามารถเตือนคนอื่น ๆ ได้ถึงสภาพการทำงานในที่ต่าง ๆ นอกจากนั้นหน่วยงาน Pentagon’s Defense Advanced Research Projects ได้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Memex (http://www.darpa.mil/program/memex) ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบเว็บไซต์ผิดกฏหมายต่าง ๆ (Dark Web) เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการประกาศหาแรงงานผิดกฏหมาย

เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง (https://www.digitalglobe.com/) ก็สามารถนำมาใช้ตรวจจับการขนส่งเหยื่อในน่านน้ำทะเลต่าง ๆ และสามารถตรวจสอบการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเผาอิฐในประเทศอินเดียและอุตสาหกรรมการประมงในทะเลสาป Volta ประเทศกาน่า

ในส่วนขั้นตอนการบีบบังคับเหยื่อ กระทรวงแรงงานของอเมริกาก็ได้ออก app ที่เรียกว่า Sweat and Toil (https://www.dol.gov/dol/apps/ilab.htm) เพื่อสำหรับแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แรงงานอย่างผิดกฏหมาย และการค้ามนุษย์ทั่วโลก Sweat and Toil จะให้ผู้ใช้สามารถค้นหาประเทศและสินค้าที่มีการใช้แรงงานผิดกฏหมาย และสามารถศึกษากฏหมายและข้อกำหนดในการใช้แรงงานในประเทศต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมี app อื่น ๆอีกมาก เช่น GoodGuide (https://www.goodguide.com/#/) ที่สามารถใช้ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และ Red Light Traffic (http://www.redlighttraffic.org/) ที่ให้ผู้ใช้สามารถรายงานเหตุการณ์น่าสงสัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้รายงาน ทางบริษัท Microsoft เองก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า PhotoDNA (https://www.microsoft.com/en-us/photodna) ซึ่งช่วยในการตรวจสอบรูปภาพของเด็ก ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติแล้ว

การค้ามนุษย์เป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณที่สุดอย่างหนึ่ง และเป็นปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาที่กระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้แรงงานประมงเถื่อน การบังคับค้าประเวณี และการใช้แรงงานเด็ก ปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับแก้ปัญหาค้ามนุษย์กำลังถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ลดลงได้อย่างมากในอนาคต อย่างไรก็ตามเราคนไทยก็ต้องช่วยกันดูแล และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศไทยปราศจากปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีเทคโนโลยีวิเศษอันไหนหรอกครับ ที่จะดีเท่าความร่วมมือกันของเราคนไทยทุกคน

ณัฐชนน อมรธำมรงค์