นวัตกรรมและวิทย์น่ารู้ ตอนที่ 13 : ศิลปะในการสร้างนวัตกรรม (The Art of Innovation)

ประเทศไทยของเรากำลังมุ่งพัฒนาเพื่อเข้าสู่ ยุคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรม ที่เรียกว่า Thailand 4.0 โดยหวังว่าระบบเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถก้าวจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่ประเทศต่อไป

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด เรียนจนจบปริญญาเอกจากประเทศไทย และมาทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ในองค์กรวิทยาศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (NOAA) ในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยหน้าที่หลักที่ผู้เขียนได้รับ คือ การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับองค์กร จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเยาวชนไทย ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย โดยหวังว่าจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่างรวดเร็ว

1. มองหาปัญหาหรือสิ่งที่คนอื่นต้องการก่อน

“ปัญหายิ่งใหญ่ ยิ่งดี แต่อย่ามองข้ามปัญหาเล็ก ๆ มองที่จำนวนคนที่จะได้รับประโยชน์ มากกว่าขนาดของปัญหา และอย่าจำกัดเฉพาะในด้านที่เราถนัด”

สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาจะแทบไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่มีคนต้องการใช้ ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราสร้างจะเป็นเครื่องแรกของโลก หรือสร้างยากขนาดไหนก็ตาม

ผู้เขียนเคยสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นเครื่องแรกของโลกหลายเครื่อง แต่ทุกเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะต้องใช้เวลามากกว่าจะเป็นที่ยอมรับ กว่าจะเป็นที่ยอมรับก็ต้องใช้เวลาหลาย ๆ ปี บางผลงานเป็น 10 ปีขึ้นไป

ในขณะที่ การพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว กลับทำให้ได้รับผลตอบรับที่รวดเร็วกว่ามาก บางผลงานเพียงแค่ทำอุปกรณ์ง่าย ๆ (แต่มีคนจำเป็นต้องใช้จำนวนมาก) เมื่อทำออกมาแล้วมีราคาต่ำกว่ามาก มีขนาดเล็กกว่ามาก หรือมีประสิทธิภาพดีกว่ามาก ก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนั้นยังใช้งบประมาณในการวิจัยน้อยกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาก ซึ่งเหมาะกับประเทศไทยที่มีงบประมาณต่องานวิจัยไม่สูงมาก

นอกจากนั้น การพยายามมองปัญหาในด้านที่เราไม่ถนัด เราอาจจะได้ไอเดียดี ๆ มากกว่าคนที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ถ้าลองสังเกตให้ดี คนที่เชี่ยวชาญในด้านไหน เขาก็จะมีวิธีแก้ปัญหาแบบเฉพาะอยู่แล้ว มักจะไม่ค่อยแตกต่างกับวิธีที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าให้คนที่ไม่ถนัดในด้านนั้นลองแก้ปัญหา เขาจะมีไอเดียที่แปลกออกไปมาก บางครั้งจะเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ

2. จินตนาการหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และลงตัว

ที่ไอนสไตน์บอกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เป็นเรื่องจริงที่สุด

อย่าอ่านวิธีแก้ปัญหาของคนอื่นก่อน จนกว่าจะคิดวิธีของตัวเองได้ เพราะถ้าปัญหามันยังอยู่ ก็แสดงว่าวิธีของคนอื่นยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นการรับรู้วิธีแก้ปัญหาของคนอื่นก่อน จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเราถูกจำกัดโดยความคิดของคนอื่น (ที่ไม่ประสบความสำเร็จ)

“ถ้าคิดเองไม่ออก ก็ยังไม่ทำ แต่พยายามคิดต่อไปเรื่อย ๆ ” หลายครั้งไอเดียก็จะออกมาเอง ตอนที่เราไม่พยายามคิด เมื่อคิดออก เราจะพบว่า ไอเดียที่เราคิดได้ มักจะไม่มีใครเคยทำมาก่อน (เย้ ๆๆ)

3. ค้นหาดูว่า มีคนทำแล้วหรือยัง

ถ้าพบว่ามีคนทำเหมือนที่เราคิดแล้ว ลองศึกษาว่าเขาเจอปัญหาอะไรที่ทำให้เขาทำไม่สำเร็จ หลายครั้งเราจะพบว่าที่เขาทำไม่สำเร็จก็เพราะเขาไม่อยากทำในส่วนที่เขาไม่ถนัด เช่น นักวิทยาศาสตร์มักจะแก้ปัญหาเฉพาะในส่วนที่เขาทำได้เท่านั้น แต่เขาจะไม่ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เอาไปใช้งานได้จริง แบบนี้มีเยอะมาก ๆ โดยเฉพาะในผลงานทางวิชาการต่างๆ เราสามารถเอามาทำต่อยอดจนสำเร็จได้เลย

นักวิชาการหลายคนคิดว่า การทำงานแบบต่อยอดเป็นงานที่น้อยหรือง่ายเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำไปตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศดีๆ ผู้เขียนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงทั้งหมด ผู้เขียนเคยได้ตีพิมพ์ในวารสารที่ดีที่สุดของโลกในสาขาที่เรียนมา จากงานที่ทำต่อยอดที่ใช้เวลาทำวิจัยไม่ถึงปี ผลงานในครั้งนั้นยังได้รับเลือกให้ขึ้นหน้าปกของวารสารที่มีชื่อเสียงมากอันนั้น และผู้เขียนก็ยังมีผลงานในลักษณะนี้ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกอีกหลายฉบับ

“อย่าคิดทำงานวิจัยเพียงแค่ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ เพราะมันเหมือนกับว่าทำงานยังไม่เสร็จ ควรคิดที่จะทำจนนำมาใช้ได้จริง และมีประโยชน์ต่อคนอื่น”

4. ทดลองทำเลย อย่าคิดมาก

กล้าที่จะลองทำ อย่ากลัวที่จะทำผิด ถ้าคิดว่าวางแผนมาดีแล้ว การทำผิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง และอาจนำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ขอเพียงอย่าท้อถอยง่ายๆ เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์หลอดไฟได้เป็นคนแรกของโลก Thomas Edison กล่าวว่า “เขาไม่ได้ล้มเหลวในการทดลอง 1000 ครั้ง แต่เขาค้นพบวิธีที่ทำหลอดไฟไม่ได้ 1000 วิธีต่างหาก”

เมื่อเราเริ่มลงมือทำ เราจะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ ไม่ได้แก้ยากเหมือนที่เราคิด

“อย่าเชื่อถ้ามีคนบอกว่า คนไทยมีฝีมือสู้คนต่างชาติไม่ได้”  ผู้เขียนเคยร่วมงานกับคนต่างชาติเกือบทุกชาติ ขอยืนยันว่า ทักษะ ความสามารถ และความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์ของคนไทย ไม่แพ้ชาติอื่นในโลก

ผู้เขียนเคยร่วมทีมสำรวจขั้วโลกใต้กับองค์กรนาซ่าในปี 2008 โดยมีทีมสำรวจจากประเทศเยอรมันเข้าร่วมด้วยเป็นเวลาสองเดือน ระหว่างการปฏิบัติการในเดือนแรก เครื่องมือสำคัญที่ทีมเยอรมันสร้างขึ้นได้หยุดทำงานลง และหาทางแก้ไขไม่ได้เป็นเวลาเกือบอาทิตย์ จนทีมเยอรมันคิดว่าไม่สามารถจะปฏิบัติการต่อไปได้ตลอดเวลาที่เหลือ ผู้เขียนจึงเสนอตัวเข้าช่วย และสามารถซ่อมแซมแก้ไขเครื่องมือของเขาได้สำเร็จภายในวันเดียว เมื่อการเดินทางเสร็จสิ้น ทีมสำรวจจากประเทศเยอรมันก็เข้ามาขอบคุณอย่างมาก

Professor จากมหาวิทยาลัย MIT เคยเข้ามาขอดูผลงานที่ผู้เขียนสร้างขึ้นในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่ประเทศไทย โดยเขาพยายามสร้างสิ่งที่ทำงานได้เหมือนกัน แต่เขาทำออกมามีขนาดใหญ่กว่า และซับซ้อนกว่ามาก

เครื่องวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำทะเล ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลกในขณะนี้ ก็ถูกตั้งชื่อตามชื่อเล่นของผู้เขียน โดยผู้ที่ตั้งชื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านโลกร้อนที่มีชื่อเสียงมากของอเมริกา

เครื่องวัดปริมาณแอมโมเนียในอากาศและในนำ้ แบบอัตโนมัติที่สามารถนำไปติดตั้งที่จุดวัดได้ เครื่องแรกและเครื่องเดียวของโลกในขณะนี้ ก็เป็นผลงานการสร้างของผู้เขียน ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาจากประเทศไทยอย่างเดียว โดยที่ไม่เคยเข้าเรียนในสถาบันใดๆในต่างประเทศมาก่อน

5. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

พยายามพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นในส่วนที่เปิดเผยได้ อย่าทำคนเดียว รู้คนเดียว การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะทำให้เราได้ไอเดีย ที่เราสามารถนำมาใช้ปรับปรุงงานของเรา ให้ตรงกับความต้องการของคนอื่นได้ จะทำให้งานของเรามีคุณค่ามากขึ้น แต่ถ้ามีคนบอกว่า งานของเราไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ก็อย่าเชื่อหรือล้มเลิกง่ายๆ นำสิ่งที่เขาพูดมาศึกษาหาจุดที่ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น

นวัตกรรมไหนที่มีทั้งคนชอบมากและคนไม่ชอบมาก มักจะเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราไม่ควรกังวลกับคำพูดในทางไม่ดีมากนัก แต่ควรจะกังวลกับนวัตกรรมที่ไม่มีคนสนใจออกความคิดเห็นอะไรเลยมากกว่า

นอกจากนั้น ระหว่างที่เราพัฒนาปรับปรุงผลงาน เราควรที่จะเขียนบันทึกอย่างเป็นระบบ โดยระบุวันที่ให้ชัดเจน เอกสารเหล่านี้อาจจะมีความสำคัญมากเมื่อเราต้องการที่จะขอสิทธิบัตรคุ้มครองผลงานของเรา ในกรณีที่มีคนอื่นแอบเอาผลงานของเราไปจดสิทธิบัตร เราสามารถนำเอกสารเหล่านี้ไปยืนยันได้ว่าเป็นผลงานของเรา

6. ออกแบบให้ใช้งานง่าย และสวยงาม

“ทำเหมือน Apple แต่ราคาไม่แพงมาก” เวลาที่เราออกแบบผลิตภัณฑ์ ควรท่องไว้เสมอว่า ต้องใช้งานง่าย และดูสวยงามน่าใช้ เหมือนผลิตภัณฑ์ของบริษัท Apple

เนื่องจากเราเป็นผู้วิจัยคิดค้นไม่ใช่ผู้ขายสินค้า ผลงานที่ทำออกมาไม่ควรที่จะมีราคาแพงมากเกินไป เพื่อที่จะดึงดูดให้มีนักลงทุนมาร่วมลงทุน ยิ่งมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพ ผู้ลงทุนจะยิ่งให้ความสนใจมาก

ผลงานวิจัยอันหนึ่งของผู้เขียน (ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วในอเมริกา) มีราคาถูกกว่าที่มีขายในตลาดมากกว่าสิบเท่า และมีประสิทธิภาพดีกว่า ทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายราย บางรายยื่นข้อเสนอถึง 1 ล้านเหรียญ เพื่อขอซื้อสิทธิบัตรอันนี้ และได้รับการติดต่อจากองค์กรสิ่งแวดล้อมนานาชาติให้ผลิต เพื่อนำไปติดตั้งในแนวปะการังของ 64 ประเทศทั่วโลก

7. ปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ

อย่าหยุดพัฒนา ควรจะปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้แหล่ะครับ คือ The Art of Innovation ในแบบของคนไทยที่ได้รับการศึกษาจากประเทศไทย 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนภูมิใจมากที่สุด ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนดังๆ ตั้งแต่เล็กๆ เนื่องจากมีฐานะยากจน และเรียนจบการศึกษาในระดับ ปวช จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานเลยแม้แต่น้อย เราควรหมั่นเพียร ขวนขวายหาความรู้ในด้านต่างๆให้หลากหลาย รู้จักเรียนรู้ศาสตร์วิชาต่างๆด้วยตัวเอง ทั้งในและนอกเวลาเรียน จนกระทั่งสามารถนำความรู้ต่างๆมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าเรามีความตั้งใจ มุ่งมั่น และอดทน เราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ทุกคนครับ

“No dream is too big, No dreamer is too small.” -Turbo Movie

ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, Miami, FL

รูปตอนที่ผู้เขียนเดินทางไปทำวิจัยที่เกาะ Easter ประเทศชิลี โดยเรือวิจัยของ NOAA

 

รูปตอนที่ผู้เขียนทำงานวิจัยน้ำทะเลแถวขั้วโลกใต้