นวัตกรรมและวิทย์น่ารู้ ตอนที่ 14 : เทคโนโลยีบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า คนไทยฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นและสวีเดน และองค์กรอนามัยโลก ได้ระบุว่า ในปี 2563 ประชากรในโลกจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา โรคซึมเศร้าจึงกลายเป็นสาเหตุคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากขึ้นทุกวัน

จากผลการวิจัยหลายฉบับ พบว่าโรคซึมเศร้ามีความเกี่ยวโยงกับปริมาณการใช้งานคอมพิวเตอร์ มือถือ อินเตอร์เนต และ social media เป็นอย่างมาก เพียงแต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า หรือ โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการใช้งานสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น แต่ผลการวิจัยสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความผิดปกติในการนอนหลับของคน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย การพูดคุย และการใช้ยาแก้ซึมเศร้า เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลทางเคมีในสมอง ซึ่งการใช้ยาสามารถทำให้เกิดความสมดุลทางเคมีขึ้น อย่างไรก็ตามหลายครั้งจะพบว่าผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองไปในทางที่ดีขึ้นด้วยวิธีรักษาเหล่านี้ ดังนั้นความพยายามหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อมาช่วยในการรักษาจึงมีอย่างต่อเนื่อง

ในปี คศ. 1930 นักวิจัยได้ค้นพบว่า การจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สมองจนทำให้เกิดการชัก สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลเคมีในสมองได้ เรียกว่า electroconvulsive therapy (ECT) ในปัจจุบัน การรักษาแบบ ECT นี้ ถูกนำมาใช้รักษาคนไข้กว่า 1 แสนคนต่อปี และให้ผลการรักษาที่ดีมากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง ถึงแม้ว่าวิธีบำบัดแบบนี้จะทำงานได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ได้รับการรักษารู้สึกดีขึ้นได้มาก แต่หลายครั้งกลับพบว่า ผลจากการรักษาจะคงอยู่ได้ไม่นาน และไม่สามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าในอนาคตได้ นอกจากนั้นวิธีนี้อาจจะมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดอาการสับสน และทำให้สูญเสียความทรงจำระยะสั้นได้ หลักการของวิธี ECT นี้ ได้ถูกนำไปพัฒนาต่อ ทำให้เกิดเทคโนโลยีอื่นๆ ขึ้นอีกหลายเทคโนโลยี ดังต่อไปนี้

1. Transcranial Magnetic Stimulation (TMS)

เทคโนโลยี TMS ทำงานโดยอาศัยอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้าแบบพิเศษเพื่อส่งพลังงานแม่เหล็กแบบเป็นคลื่นสั้นๆเข้าไปกระตุ้นสมองโดยตรงเทคโนโลยีนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2008 เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองจากวิธีการทานยาแก้ซึมเศร้า

2. Vagus Nerve Stimulation (VNS)

เส้นประสาท Vagus เป็นเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างอวัยวะสำคัญๆในร่างกายกับสมองซึ่งจะถูกกระตุ้นโดยเครื่องกำเนิดสัญญาณขนาดเล็กที่ถูกใส่ไว้ในบริเวณหน้าอกด้านซ้ายและจะเชื่อมต่อกับเส้นประสาท Vagus ตรงบริเวณคอด้านซ้ายเนื่องจากเส้นประสาท Vagus ไม่มีเส้นประสาทรับรู้ความเจ็บปวดทำให้การกระตุ้นไม่ทำให้รู้สึกเจ็บตัวกำเนิดสัญญาณจะถูกตั้งโปรแกรมโดยแพทย์ผู้ดูแลให้ส่งสัญญาณไฟฟ้าอ่อนๆเข้าสู่สมองเป็นช่วง ๆ เพื่อลดอาการของโรคและยังช่วยกระตุ้นการทำงานของ neurotransmitters เช่น serotonin และ norepinephrine ด้วย

3. Magnetic Stimulation Therapy (MST)

วิธีนี้อาศัยพลังงานแม่เหล็กแรงสูงในการกระตุ้นให้เกิดการชักเหมือนวิธี ECT แต่นักวิจัยเชื่อว่าวิธีนี้จะสามารถโฟกัสสนามแม่เหล็กให้เข้าไปบำบัดในพื้นที่ที่เจาะจงในสมองได้ทำให้ไม่ส่งผลข้างเคียงเหมือนวิธี ECT

4. Transcranial Direct Current Stimulation (tDCS)

เมื่อไม่นานมานี้บริษัท Ybrain ของประเทศเกาหลีใต้ได้ค้นพบว่าสมองบริเวณหน้าผากที่เฉื่อยชามีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าจึงได้พัฒนาและวางขายอุปกรณ์สวมใส่ที่หัวมีชื่อว่า Mindd ตัวอุปกรณ์จะทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าต่ำๆเข้าสู่สมองส่วนบริเวณหน้าผากโดยที่กระแสไฟฟ้าประมาณ 20% จะสามารถผ่านเข้าไปสู่สมองได้ผู้สวมใส่จะรู้สึกซาบซ่าเล็กน้อยเมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่สมองจากผลการทดลองในผู้ป่วยหลายคนพบว่าสามารถช่วยบรรเทาโรคซึมเศร้าและรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบข้างเคียงเลย

อุปกรณ์ Mindd มีน้ำหนักประมาณ 150 กรัมได้รับการรับรองจากกระทรวงอาหารและยาของประเทศเกาหลีใต้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและขณะนี้ได้ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ 12 แห่งใกล้กรุงโซลบริษัท Ybrain วางแผนที่จะนำอุปกรณ์นี้วางขายในประเทศแถบยุโรปภายในปีนี้และจะวางขายในอเมริกาในปี 2019 เพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถนำไปรักษาอาการได้เองที่บ้านนอกจากนั้นอุปกรณ์ Mindd สามารถทำงานร่วมกับโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยบันทึกข้อมูลการนอนหลับการออกกำลังกายและการรักษาโดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งตรงไปยังแพทย์ที่ดูแลเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนกับโรคทางกายอื่น ๆ การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นเป็นคนอ่อนแอ หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง  ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น ความเครียด ความผิดหวัง หรือสามารถเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆเลยก็ได้ ดังนั้นบุคคลรอบข้างผู้ป่วยควรจะปรับมุมมองต่อผู้ป่วยเสียใหม่ และเข้าใจว่าผู้ป่วยไม่อาจเยียวยาตนเองหรือปรับความคิดให้เป็นไปในแง่ดีได้ การแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกเครียด นั่งสมาธิ หรือไปศึกษาธรรมะ อาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่อาจกลายเป็นการแสดงถึงการขาดความเข้าใจต่อผู้ป่วยมากกว่า ดังนั้นบุคคลรอบข้างควรเปลี่ยนเป็นให้ความใส่ใจ ยอมรับ และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร็วที่สุด

ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, Miami, FL

ภาพและวีดีโอจาก youtube.com/watch?v=VHp1tQXx6rc