นวัตกรรมและวิทย์น่ารู้ ตอนที่ 15 : เทคโนโลยีบรรเทาปัญหารถติด

กรุงเทพมหานคร ถูกจัดเป็นเมืองที่มีรถติดในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นอันดับที่ 1 ของโลกในปี 2017 โดยสำนักข่าว CNN และมีสภาวะรถติดโดยรวม เป็นอันดับที่ 2 ของโลก (รองจากเมือง Mexico) จากการเปรียบเทียบข้อมูลมากกว่า 19 ล้านล้านจุด ที่รวบรวมจาก 390 เมืองทั่วโลก มากกว่า 9 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์นำทาง TomTom

ปัญหารถติดเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสะสมมายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบในหลายๆด้าน จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยล่าสุด ปัญหารถติดทำให้การบริโภคเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี และทำใ้ห้คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาทีต่อการเดินทาง เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสจากเวลาที่เสียไปในถนน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 11 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่กรุงเทพมหานครโดยตรง อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า รถยนต์จะปล่อยควันพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพออกมา และทำให้อากาศสกปรก ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันในประเทศฟินแลนด์ได้ค้นพบว่า รถติดเป็นแหล่งสำคัญที่ผลิตกลุ่มอนุภาคนาโนที่มีขนาดเล็กมากๆในอากาศ ซึ่งกลุ่มอนุภาคนาโนเหล่านี้สามารถเล็ดลอดเข้าไปในปอดของคนได้ลึกกว่าฝุ่นหรือควันมาก และอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (2017) DOI: 10.1073/pnas.1700830114

ตั้งแต่ปี 2012 Stephen Smith นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และทีมงาน ได้เริ่มติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจรที่ใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) ที่สามารถตอบสนองกับสภาพการจราจรแบบ real-time จำนวน 9 อัน ในเมือง Pittsburgh, USA ผลการทดลองเก็บข้อมูลหลายปีที่ผ่านมาพบว่า สัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะเหล่านี้ สามารถลดเวลาการเดินทางได้ถึง 25% ลดจำนวนครั้งในการเหยียบเบรคได้ถึง 30% และสามารถลดการหยุดของรถได้มากกว่า 40% ปัจจุบันระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะนี้ ถูกนำไปติดตั้งตามแยกต่างๆ จำนวน 50 แยก ในด้านตะวันออกของเมือง Pittsburgh

ในปี 2015 ทีมวิจัยได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ Rapid Flow Technologies และแยกตัวออกจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมีแผนการที่จะติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะนี้ (ชื่อว่า Suntrac) อีก 150 จุด ภายในอีกสามปี ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของเมือง Pittsburgh

การทำงานของระบบไฟจราจรอัจฉริยะนี้ คือแต่ละสัญญาณไฟจราจรแต่ละจุด จะสามารถตัดสินใจที่จะเปลี่ยนไฟเขียวหรือแดงด้วยตัวเอง โดยบริษัท Rapid Flow ได้ติดตั้งคอมพิวเตอร์กับกล้องตรวจจับหรือเรดาร์ ที่ทุกแยกการจราจร โดยกล้องเหล่านี้จะคอยดูสภาพการจราจรแบบ real-time และจะทำการวางแผนว่าจะให้สัญญาณไฟเขียวนานแค่ไหน ถึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด หลังจากการศึกษาสภาพการจราจรแล้ว มันจะส่งข้อมูลไปบอกสัญญาณไฟจราจรตัวอื่นๆ ที่อยู่ถัดไปในทิศทางที่รถน่าจะวิ่งไป โดยสัญญาณไฟจราจรตัวอื่นๆก็จะรับข้อมูล เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจอีกที

“ระบบสัญญาณไฟจราจรในอเมริกาส่วนใหญ่จะเน้นที่ถนนสายหลักที่มีรถเยอะๆ แต่ระบบของบริษัท Rapid Flow จะเน้นที่ระบบเครือข่ายของถนนต่างๆ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาให้เหมาะสม” Smith กล่าว

ระบบจะทำการคำนวณและวางแผนอย่างรวดเร็ว ภายในไม่ถึงวินาที นอกจากนั้นยังสามารถทำนายได้ล่วงหน้าว่า ระบบสัญญาณไฟควรจะเป็นอย่างไรใน 2-4 นาที ข้างหน้า

ผลจากความสำเร็จในการลดเวลาการเดินทางได้สูงถึง 25% ในเมือง Pittsburgh บริษัท Rapid Flow กำลังพยามที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปติดตั้งในเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา เช่น Los Angeles, Burlington, Vermont และ Pennsylvania

นอกจากนั้นบริษัท Rapid Flow กำลังพัฒนาอุปกรณ์ติดตั้งในรถยนต์ ที่สามารถสื่อสารกับระบบสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่นี้ และสามารถสื่อสารกันเองระหว่างรถยนต์ โดยใช้คลื่นวิทยุ เมื่อรถยนต์สองคันติดตั้งอุปกรณ์ตัวนี้ จะสามารถส่งข้อความถึงกันได้ว่า อยู่ที่ไหน กำลังจะไปทางไหน และความเร็วเท่าไหร่ หรือถ้ารถยนต์สองคันนี้เข้าใกล้กันมากเกินไป อุปกรณ์ตัวนี้ก็จะเตือนผู้ขับขี่ให้ระวัง

รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ตัวนี้จะสามารถรับข้อมูลจากระบบสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่นี้ ว่ากำลังจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือเขียว ทำให้รถยนต์สามารถเตือนผู้ขับขี่ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารนี้ในระบบสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่แล้วจำนวน 50 จุด และกำลังจะติดตั้งให้ครบทุกจุดภายในปีนี้ นักวิจัยกล่าวว่า ยิ่งมีคนติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารตัวนี้ในรถยนต์มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ระบบทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ระบบ AI ไม่ต้องคาดเดาว่า รถยนต์จะเลี้ยวตรงไหน หรือกลับรถตรงไหน ซึ่งจะทำให้สามารถเดินทางได้เร็วขึ้นอีกเกือบ 25%

ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเทพฯเป็นอย่างมาก การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ มีบริการที่ดี และตรงต่อเวลา จะช่วยลดปัญหารถติดได้ เพราะจะช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ในท้องถนนได้ แต่จากสภาพในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าทางองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะไม่สามารถทำให้รถเมล์มาตรงเวลาได้ เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างมาก ทำให้คนที่มารอขึ้นรถเมล์ต้องรอรถเมล์นานมาก ถ้าทาง ขสมก. อยากจะช่วยประชาชน ก็อาจจะติดตั้งระบบติดตามบนรถเมล์ทุกคัน และทำให้สามารถดูได้ว่ารถเมล์อยู่ หรือวิ่งมาถึงไหนแล้วบนมือถือได้ เหมือนที่ในหลายประเทศทำกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนไม่ต้องออกมารอรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์นานๆ ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว และเต็มไปด้วยฝุ่นควัน ถ้าทำได้แค่นี้ ก็จะช่วยประชาชนได้มากแล้วครับ

ถ้าทาง ขสมก. ต้องการแก้ปัญหาแบบชั่วคราวและประหยัดก่อน ก็อาจจะประยุกต์เอาระบบ Real-time location sharing ของบริษัท Google มาใช้งานก่อนก็ได้ ระบบนี้เราจะสามารถติดตามโทรศัพท์มือถือของคนที่เขายินยอมแชร์ตำแหน่งที่อยู่ ได้บนโปรแกรม Google maps ทั้งในโทรศัพท์มือถือ หรือบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ (https://support.google.com/maps/answer/7326816?co=GENIE.Platform%3DAndroid&hl=th) ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ใช้งานโปรแกรมนี้กันเป็นอยู่แล้ว ถ้าจะทำอย่างประหยัดที่สุด ก็ขอให้คนขับรถเมล์ หรือกระเป๋ารถเมล์ ช่วยแชร์ตำแหน่งที่อยู่ ในช่วงที่ปฏิบัติงาน หรือถ้าพอมีงบประมาณ ก็ซื้อโทรศัพท์มือถือมาติดตั้งบนรถเมล์ทุกคัน แล้วทำการแชร์ตำแหน่งแบบตลอดเวลาก็จะสะดวกขึ้น เมื่อทาง ขสมก. สามารถติดตามรถเมล์ทุกคันบนโปรแกรม Google maps ได้แแล้ว ก็หาวิธีทำให้ประชาชนสามารถดูได้ด้วย โดยอาจจะขอความร่วมมือกับบริษัท Google โดยตรง หรืออาจจะทำการ print screen หน้าจอที่แสดงตำแหน่งของรถเมล์ทุกคันของแต่ละสาย เช่น สาย 8 ลงใน Facebook account ที่สร้างขึ้นมาเฉพาะสำหรับรถเมล์สาย 8 โดยโพสตำแหน่งปัจจุบันของรถเมล์สาย 8 ทุกคัน ทุกๆ 15 นาที ก็น่าจะเพียงพอแล้ว นอกจากนั้นการโพสลงใน Facebook อาจจะช่วยทำให้ ขสมก. มีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าโฆษณาใน Facebook อีกต่อหนึ่ง เมื่อมีคนมาติดตามดูจำนวนมาก อย่างไรก็ตามระบบนี้เป็นเพียงแค่ข้อเสนอเบื้องต้นของผู้เขียนเท่านั้นครับ ไม่ได้มีการใช้งานกับระบบขนส่งมวลชนจริงๆมาก่อน

 

ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, Miami, FL
www.youtube.com