นวัตกรรมและวิทย์น่ารู้ ตอนที่ 20 : เทคโนโลยีรักษาผู้ติดยาเสพติด ด้วยการลบความทรงจำ
ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบมากมายในหลายๆ ด้านต่อประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนและในระดับประเทศ รวมถึงการทำลายทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่กลุ่มเยาวชนและรวมไปถึงผู้ใหญ่ จนกลายเป็นภาระที่สังคมไทยต้องแบกรับ ความพยายามในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดในประเทศไทยที่ผ่านมามีหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้ และนับวันปัญหาก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
หนทางหนึ่งที่น่าสนใจในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด คือ การทำให้คนที่ติดยาเสพติดไม่มีอาการกำเริบอยากยา (Relapsing) เมื่อไม่ได้เสพยา ด้วยการลบความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งนักวิจัยจากสถาบัน Scripps Research Institute ได้ค้นพบและทดลองเป็นผลสำเร็จกับสัตว์ทดลองที่ถูกทำให้ติดยาประเภท methamphetamine ด้วยการฉีดสารที่มีชื่อว่า Blebbistatin แค่เพียงครั้งเดียว ก็สามารถป้องกันอาการกำเริบอยากยา ได้นานมากกว่าหนึ่งเดือนเลยทีเดียว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ติดยาลืมความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติด และทำให้การบำบัดเป็นไปได้ง่ายขึ้นมาก
จากผลการทดลองพบว่า หน่วยความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นจากการใช้ยาเสพติด จะแตกต่างกับหน่วยความทรงจำปกติอย่างมาก ในขณะที่หน่วยความทรงจำปกติมีโปรตีน actin ช่วยให้การยึดเกาะกับสมองอย่างมั่นคง แต่โปรตีน actin จะไม่ยึดหน่วยความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างมั่นคงกับสมอง โดยตัวสาร Blebbistatin ที่พัฒนาขึ้นจะเลือกเข้าไปยับยั้งโปรตีน actin ของหน่วยความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในสมองโดยเฉพาะ ทำให้ป้องกันอาการอยากยาของผู้ติดยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยนี้น่าจะเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ที่จะนำความหวังและชีวิตของผู้ติดยาและครอบครัวจำนวนมากมายกลับคืนมาอีกครั้ง และจะช่วยให้การต่อสู้กับปัญหายาเสพติดมีโอกาสสำเร็จสูงมาก เพราะเมื่อผู้ติดยาไม่รู้สึกอยากยา ยาเสพติดก็จะหมดความหมายลงโดยทันที อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการทดลองในสัตว์ทดลองจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็ต้องรออีกอย่างน้อย 5 ปี เพื่อทำการทดสอบกับคน ก่อนที่จะสามารถนำออกมาขายได้
ณัฐชนน อมรธำมรงค์
CIMAS/AOML, NOAA, FL