ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ในยามที่บ้านเมืองของเราสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ ที่แสดงออกมานั้น สะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัดจากการเชียร์และรับชมตัวแทนคนไทย นักกีฬาไทยที่ไปชิงชัย แสดงศักยภาพในเวทีระดับโลกบ ผมถือว่าอันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของเราคนไทย ที่เรียกว่า “ไทยนิยม” ที่มีเลือดรักชาติ และมีความสามัคคีกันโดยสำนึก ล่าสุดผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนอีกครั้ง ในการแสดงความชื่นชมยินดี กับนักกีฬาไทยที่สร้างผลงานและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ หลายรายด้วยกัน

ลำดับแรก “เจ้าแหลม” ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่นนะครับ ที่สามารถชกเอาชนะผู้ท้าชิง ฮวน ฟรานซิสโก้ เอสตราด้า  จากประเทศเม็กซิโก ทำให้รักษาเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ ฟลายเวต ของสภามวยโลก WBC เป็นหนที่ 2 ได้สำเร็จ ในสังเวียนที่จัดขึ้นในต่างแดน ก็คงไม่ง่ายนัก ด้วยบรรยายกาศ กองเชียร์ และการปรับต้องตัวเข้ากับสภาพอากาศ สภาพแวดล้อมอื่นๆ เพราะไม่ใช่ในประเทศของเราเอง เราควรจะยกย่องหัวใจนักสู้ที่แข็งแกร่งของเขา ในเรื่องของการมีความมุ่งมั่น มีไหวพริบ ในขณะแข่งขัน ย้อนไปถึงความทรหดอดทน ตั้งแต่การซักซ้อมและการเตรียมตัว มีบุคคลอีกหลายฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะในครั้งนี้ เพราะผู้ท้าชิงรายนี้ ได้ชื่อว่าเป็นนักมวยฝีมือดีเช่นกัน สิ่งสำคัญ ที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือ ความสุขของคนไทย “ทั้งประเทศ” จากความสำเร็จของเขาในครั้งนี้ ซึ่ง “หนทางสู่ความสำเร็จ” ของเจ้าแหลมในวันนี้ หากใครติดตามประวัติส่วนตัว ก็รู้ว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายในชีวิต และผ่านความยากจนมานาน กว่าจะได้รับโอกาสด้วยความมุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้ จึงได้พบกับคำว่า “ชนะ” ในวันนี้ อยากยกให้เป็น “บุคคลตัวอย่าง” ด้วยเหตุและผลที่กล่าวมา

อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ของเจ้าแหลม หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอื่นๆ อีกด้วย จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้พบกับความสำเร็จเช่นกัน ไม่มีความสำเร็จใดที่ได้มาโดยง่าย เราต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง อดทนเลือกทำในสิ่งที่รัก ที่ถนัด และทำให้ดีที่สุดลำดับต่อมาผมขอแสดงความยินดีกับ “น้องจีน” อาฒยา ฐิติกุล สาวน้อยมหัศจรรย์วัย 15 ปี จากจังหวัดราชบุรี ที่ทำสำเร็จด้วยการเอาชนะ เพลย์ออฟ คว้าแชมป์กอล์ฟสมัครเล่นหญิง ชิงแชมป์ “เอเชีย-แปซิฟิค 2018” ที่ประเทศสิงคโปร์ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นหญิงที่มีนักกอล์ฟเข้าร่วมการแข่งทั้งสิ้น 83 ราย จาก17 ชาติสมาชิก ขอชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้กับน้องจีนได้มุ่งมั่น ตั้งใจและ ประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต อายุยังน้อยอยู่

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกีฬาระดับโลก ณ ประเทศไทยเช่นกัน คือ การแข่งขัน “กอล์ฟ Honda LPGA Thailand 2018” แม้ว่านักกีฬาสาวไทย จะไม่ได้แชมป์ในรายการนี้ แต่ถือว่าทำผลงานได้ดี โดยติด“ท็อป เท็น” ถึง 3 คน ได้แก่ “โปรโม” โมรียา จุฑานุกาล อันดับ 2 “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล อันดับ 5 ร่วม และ “โปรแหวน” พรอนงค์ เพชรล้ำ อันดับ 7  ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ายังมีนักกีฬากอล์ฟอาชีพสาวไทยอีกหลายท่าน ที่มีผลงานที่โดดเด่น และมีพัฒนาการที่ดีในการแข่งขันรายการนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้มุ่งมั่นฝึกซ้อม และประสบความสำเร็จต่อไป รวมทั้งนักกีฬา หรือผู้แทนประเทศท่านอื่นๆ ด้วย

พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่าน ครับ
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้น ซึ่งจะทำในพื้นที่ทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านประกอบด้วย หลัก 9 ประการ ดังนี้
1.คนไทยรักกัน ด้วยการสร้างความสามัคคีปรองดอง ให้เกิดขึ้นให้ได้
2.คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย
3.ชุมชนอยู่ดีมีสุข พัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ และรายได้
4.วิถีไทย วิถีพอเพียง ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต
5.รู้สิทธิ์ รู้หน้าที่ ของการเป็นพลเมืองที่ดีนะครับ
6.รู้กลไกการบริหารราชการ ในแต่ละระดับ
7.รู้รักประชาธิปไตย โดยเฉพาะเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล
8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี
9.บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้เพิ่มเรื่องการขับเคลื่อน งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน ให้ประสานสอดคล้องกับโครงการไทยนิยมดังกล่าวข้างต้นด้วย ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการในระดับต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ กับ 1 พื้นที่
1. คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ ระดับประเทศ มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
2. คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
3. คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับอำเภอ มี นายอำเภอ เป็นประธาน
4. ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ให้นายอำเภอแต่งตั้งทีม ประกอบด้วย ข้าราชการในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา อื่นๆ เป็นต้น
5. สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการเขตเป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ โครงการ
สำหรับกิจกรรม และผลการดำเนินโครงการ ขอให้พี่น้องประชาชน ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการต่างๆ ภาครัฐ ที่ผมจะได้นำมาเล่าให้ฟัง เป็นระยะๆ  ช่วงนี้เป็นช่วงที่ 1  ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อน จะลงพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ละประมาณ 4 ครั้ง แล้วก็จะสรุปความต้องการ ปัญหาอุปสรรค์อะไรต่างๆ มาเพื่อจะนำไปสู่การจัดทำโครงการ ระดับพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้จัดสรรเพิ่มเติมลงไปนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเกิดความเข้มแข็งเชื่อมโยง จากงานฟังชั่น ตลอดระยะเวลาที่เราผ่านมาแล้วด้วย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมได้เข้าร่วมการประชุมร่วม คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค ที่เรียกว่า  ก.บ.ภ. และคณะกรรมการนโยบายบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัด แบบบูรณาการ ก.น.จ.  เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาค สำหรับในการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ ให้ตรงกับความต้องการของชุมชน ผมถือว่าสิ่งที่ทำมานี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดทำงบประมาณของประเทศที่สำคัญ ที่จะต้องประกอบไปด้วย การจัดทำงบประมาณจากส่วนกลาง เพื่อให้กระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศและ งบประมาณที่จังหวัด-ภาค จัดทำโครงการขึ้น คือข้างล่างขึ้นมา Bottom up ขึ้นมา เพื่อจะขอดำเนินการในสิ่งที่เหมาะสม จำเป็น  คือเราต้องบริหาร 2 ทางในการใช้จ่ายงบประมาณ Top Down  แล้ว Bottom up ขึ้นมา เพื่อจะตอบโจทย์คนในพื้นที่ โดยตรง ผมเชื่อว่าจะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณของประเทศ มีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล เป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า ให้ตรงความต้องการของพี่น้องประชาชน อย่างแท้จริง

สำหรับในส่วนของการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดนั้น เราจะต้องยึดโยงกับ แผนพัฒนาประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศ ในภาพรวมได้  ขณะเดียวกันต้องตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาของแต่ละจังหวัดเอง รวมถึงสอดคล้องทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดและภาค โดยมีข้อมูลในพื้นที่สนับสนุน แล้วก็จะต้องย้อนไปดูผลการพัฒนา หรือแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา ในการจัดทำแผนด้วยซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด 76 จังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561-2564 รวมทั้ง แผนปฏิบัติราชการ และคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ของจังหวัด 76 จังหวัดและ ของกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด จำนวน 2,399 โครงการ วงเงินรวมกว่า 57,000 ล้านบาท ไปแล้ว

สำหรับแผนพัฒนาภาคจะต้องกำหนดให้มีทิศทางสอดคล้อง เชื่อมโยงกับ แผนระดับชาติ ต้องมีการบูรณาการของส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยจะต้องช่วยตอบโจทย์ปัญหา ขจัดอุปสรรคต่างๆ แล้วรับมือกับความท้าทาย ของภาคได้ โดยแต่ละภาคควรมีโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ประโยชน์ “คู่ขนาน” เติมเต็มกันไปด้วย ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนพัฒนาภาค และกรอบแผนงานโครงการสำคัญ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค ปี พ.ศ. 2560-2564 จำนวนเกือบ 1,200 โครงการ วงเงินรวม กว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งผมอยากถือโอกาสในวันนี้ ได้เล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังถึงแผนพัฒนาแต่ละภาค เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการปรับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และครอบคลุมทุกพื้นที่ที่สำคัญให้เกิดความต่อเนื่อง แล้วเดินหน้ากันไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีความแตกต่างระดับพื้นที่ด้วย

สำหรับในภาคกลาง จะมีการพัฒนากรุงเทพฯ สู่ “มหานครทันสมัย” ซึ่งเราคงต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมือง และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ภาคกลางจะเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการ ที่มีมูลค่าสูง ผ่านการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและ อุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง คงความสมดุลของระบบนิเวศ และยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงการสร้างความเชื่อมโยง ให้กระจายทั่วทั้งภาค มากขึ้น อีกทั้ง เรายังเน้นการเปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคกลางและ EEC อีกด้วย

กรณีเรื่องผังเมือง อันนี้เป็นปัญหามาก หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจ หรือมีความเข้าใจที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกันบ้าง การจัดทำผังเมืองนั้นเราได้มีการทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ตามกฎหมายแล้ว จะต้องมีจะมีการปรับ จัดทำแผน ทุก 2 ปี แล้วประชาชนนั้น จะมีส่วนร่วมในการจัดทำ ปัญหาไม่ใช่ว่าเราไม่มีผังเมือง เรามี แล้วก็ปรับเปลี่ยนมาทุก 2 ปีอย่างที่ว่า แต่ปัญหาคือ การใช้ผังเมืองนั้น ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน เท่าที่ควร ละเมิดผังเมืองที่จัดทำไว้  ไปสร้างในสิ่งที่ไม่ควรจะสร้าง สร้างไม่ได้ ก็เลยทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายมากมาย ที่ผ่านมาจนทำให้เกิดปัญหาการจัดระเบียบ การระบายน้ำเสียต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ยางนานมาทั้งสิ้น และกรุงเทพฯ หรือว่าเมืองใหญ่ๆ นั้นก็เป็นเมืองที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ปัญหาเกิดมาตั้งแต่แรก แออัดขึ้น คราวนี้การที่จะไปปรับเปลี่ยน ระบบระบายน้ำ หรือทำระบบระบายน้ำใหม่ ก็เกิดปัญหา  เพราะว่าคนแอยูเต็มไปหมดแล้ว  ทั้งๆ ที่แผนก็อาจจะวางไว้ว่าจะต้องเป็นนั้น เป็นนี่  เป็นถนนหนทางเป็นทางระบายน้ำ อะไรต่างๆ ปรากฏว่าทุกคนก็ไปฝ่าฝืนกัน แล้วก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย ในระหว่างบังคับใช้กฎหมาย ฟ้องศาล กระบวนการยุติธรรมอยู่ ก็บุกรุกกันไปเรื่อย เหมือนเดิม ก็ใช้ไปละเมิดไปมากกว่าเดิม ทำให้เกิดความยากในการบังคับใช้ผังเมือง  ผมขอความร่วมมือในการบังคับใช้ผังเมือง อย่างเป็นที่ได้ออกมาแล้ว  อยากเร่งรัดให้เป็นรูปธรรม ปัญหาเราจะได้แก้ไขได้ ตอนนี้เราต้องแก้ปัญหารอบนอก รอบในแออัด แน่นแล้วต้องรื้อกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้นประชาชนจะว่าอย่างไร ถ้าต้องการที่จะให้น้ำแก้ปัญหาได้ก็ต้องขุดทางระบายน้ำใหม่ทั้งหมด ทำระบบระบายน้ำเสียใหม่ เพราะเดิมทำเฉพาะพื้นที่เล็กๆ กรุงเทพฯ ก็ยังไม่ขยายขนาดนี้ วันนี้ขยายกว้างขึ้นแออัดมากขึ้น ถนนหนทางก็แน่นขนัดไป การจราจรมีปัญหา ทั้งหมดเลย เราจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามผังเมืองที่ได้ออกมาแล้ว โดยความเห็นชอบของทุกภาคส่วน
สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเป้าหมายให้พื้นที่กลายเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำ ให้เพียงพอต่อเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตด้วยการบูรณาการ การดูแลน้ำในพื้นที่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อมไปกับการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อเร่งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายใน อีกทั้ง ยังเน้นการแก้ปัญหา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการใช้โอกาสจากโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงมาจาก EEC เช่น ถนนและรถไฟทางคู่ เพื่อพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ในภาครวมถึงขยายผลออกไป ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน และเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

ในส่วนของภาคตะวันออก เป้าหมายได้แก่การเป็น”ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ” ของอาเซียน ทั้งการรักษาฐานเศรษฐกิจเดิม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และ สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน  และพัฒนาให้ภาคตะวันออก เป็นแหล่งผลิตอาหารโดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน ที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล รวมถึงพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐาน ทั้งสินค้า และการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อจะให้ภาคตะวันออกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอม โดยจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการกัดเซาะชายฝั่ง และการบริหารจัดการมลพิษ ควบคู่ไปด้วย

สำหรับในภาคเหนือ เราจะมุ่งให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มูลค่าสูง” มีการต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาเชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรม รวมทั้งยกระดับให้เป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย เพื่อเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีการพัฒนาการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพเพิ่มความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้สามารถกระจายผลประโยชน์ได้ทั่วถึง นอกจากนี้ ด้วยความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จะต้องใช้โอกาสนี้ ในการขยายฐานเศรษฐกิจออกไปผ่านการค้าและการลงทุนซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและ แก้ปัญหาความยากจน มีการยกระดับฝีมือแรงงานในภาคบริการ นอกจากนี้ จะต้องมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้คงความสมบูรณ์ มีการจัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม และแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษให้ได้ อย่างยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย

ในส่วนของภาคใต้ มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็น”เมืองท่องเที่ยวตากอากาศ” ระดับโลก โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ของประเทศโดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตภาคเกษตร  แปรรูป  สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ของสถาบันเกษตรกรรวมทั้ง เป็นเมืองเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลกด้วย   โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถสนับสนุน ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย รวมไปถึงการยกระดับอุตสาหกรรมประมง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เพื่อจะสร้างความมั่นคงให้กับภาคการผลิต และรายได้ของเกษตรกรอีกทั้ง การพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตงให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน ที่ปลอดภัย เชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เพิ่มเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ เป็นภาพรวมของแผนพัฒนาภาคก็อยากจะเล่าให้ทุกท่านฟัง  ทั้งนี้เพื่อเป็นการบูรณาการงานของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากแผนพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัดและจังหวัดแล้ว รัฐบาลยังมีโครงการที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆเป็นระยะๆ เช่น โครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการนำทีมลงไปยังพื้นที่อย่างที่กล่าวไปแล้ว  เพื่อพูดคุยหารือกับพี่น้องประชาชนถึงปัญหา และความต้องการ โดยส่วนราชการต่าง ๆ มีหน้าที่ลงไปวางแผนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาระยะสั้น และเก็บข้อมูลเพื่อมาหาแนวทางแก้ปัญหาที่ทำได้ยาก ในระยะยาว ไปสู่การบริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป วันนี้เราต้องร่วมกันทำตามกลไก “ประชารัฐ” อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมให้แผนพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น ส่งเสริมการ “ระเบิดจากข้างใน” ตามศาสตร์พระราชา อย่างแท้จริง

นอกจากโครงการต่างๆ จากส่วนกลางที่ทำให้การเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้ดีขึ้นแล้ว ในการวางนโยบายลงไปให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่มากขึ้น รัฐบาลได้นำเอาการวิเคราะห์ Big Data มาปรับใช้เป็นเครื่องมือให้กับการบริหารราชการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในการเพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพซึ่งข้อมูลในระบบที่บูรณาการกัน และมีอยู่แล้วเดิม ท่านต้องจัดหาเพิ่มเติม  อาทิ ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน กว่า 35 ล้านราย และข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย กระทรวงการคลัง กว่า 14 ล้านราย รวมทั้งข้อมูลในมิติต่างๆ ของหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เช่นข้อมูลด้านสาธารณสุข  ด้านการศึกษา และด้านอื่นๆ ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้วยของพื้นที่  จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ และชี้เป้าผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่รอความช่วยเหลือ “เร่งด่วน” หรือที่มีปัญหาทับซ้อน หลายมิติ กว่า 1 ล้าน 4 แสนคน เป็นต้น โดยคุณสมบัติของ Big Data จะช่วยให้เราสามารถประมวลหารูปแบบของพฤติกรรมและ ความสัมพันธ์ระหว่างมิติต่างๆ ของข้อมูลได้ค่อนข้างดี  ชี้ให้เห็นว่าประชาชนแต่ละกลุ่ม หรือในแต่ละพื้นที่ มีความต้องการอะไร ซึ่งจะทำให้นโยบายสามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการนั้นได้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดการสิ้นเปลืองงบประมาณลงไป ลดค่าใช้จ่ายในการใช้คน ใช้เจ้าหน้าที่ลงไปได้บ้างเพราะว่าเราขาดแคลนเจ้าหน้าที่อยู่พอสมควร ในขณะที่เราต้องทำงานในลักษณะใหม่ๆนี้ เราต้องประหยัดงบประมาณให้ได้ ปัจจุบัน เป็นเพียงการเริ่มต้น รัฐบาลต้องการนำการวิเคราะห์ Big Data มาใช้ให้ได้มากขึ้น เป็นเครื่องมือให้ได้อย่างแท้จริงอย่างต่อเนื่อง ของทุกหน่วยงาน ของทุกมิติ และขยายไปยังมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องความยากจน เช่น เรื่องคนพิการ-ผู้ด้อยโอกาส  เรื่องเกษตรกรรม ซึ่ง Agrimap  จะทำให้เห็นปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัยที่เกิดขึ้นมากน้อยต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งในที่สุดจะสามารถช่วยคาดการณ์พฤติกรรมหรือความรุนแรงของภัยธรรมชาติของพื้นที่ได้ด้วย สามารถนำมาใช้วางแนวทางมาตรการของภาครัฐ รวมไปถึง ยกระดับการประกันภัยพืชผลที่ปัจจุบันอาจ ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงของพี่น้องเกษตรกรได้อีกด้วย

การมีแผนพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด และ รายจังหวัด ข้างต้นนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ริเริ่มขึ้นมา เดิมมีแค่กลุ่มจังหวัด วันนี้เรามีแผนพัฒนาภาคไปด้วย  มีคณะกรรมการระดับภาคไปด้วย ซึ่งจะต้องสอดคล้องไปทั้งภาค กลุ่มจังหวัด และรายจังหวัดข้างต้น ประกอบไปกับการลงพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยจัดทำโครงการ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนเอง มีการทำประชาคมให้เห็นชอบร่วมกัน รวมถึงการนำข้อมูลจริงมาช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้น  องค์ประกอบทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผมพยายามนำมาใช้บูรณาการร่วมกันให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในการมองปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันเพื่อให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนร่วมมือกันให้ข้อมูล ชี้ให้เห็นถึงปัญหาช่วยกันให้ข้อเสนอแนะ  ร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ รับรู้ ให้ทุกคนได้เข้าใจในแนวทางแก้ไขกับภาครัฐมาได้ เพื่อให้ปัญหาในพื้นที่ถูกขจัดออกไปได้เร็วขึ้น และอาจนำไปสู่ทางแก้ที่ยั่งยืนด้วย

พี่น้องประชาชนที่รัก
ข่าวสารบ้านเมืองที่เราคนไทยควรติดตาม ศึกษา ทำความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่องนอกจากเรื่องการปฏิรูปประเทศ  การเลือกตั้งแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพียงแต่ขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง ความเชื่อถือได้ของแหล่งข่าวด้วยผู้สื่อข่าว  ผู้ประกาศ  นักจัดรายการวิทยุ  สื่อมวลชนทุกแขนง ท่านมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังนั้น ผมจึงอยากจะขอร้องให้ช่วยกันช่วยภาครัฐบ้าง ช่วยไม่ให้พี่น้องประชาชนของเราตกข่าว ข่าวที่ดี ๆ  แล้วปล่อยให้ข่าวสารที่เป็นสาธารณประโยชน์ ถูกกลบด้วยข่าวสารที่ไม่สร้างสรรค์สังคมอันนี้ต้องขอให้ช่วยกัน  ผมไม่ได้ตำหนิใครทั้งสิ้น เพียงแต่ท่านต้องทบทวนแล้วว่า การเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณนั้นคืออะไร

วันนี้ ผมมีเรื่องของความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยแก้ปัญหาในอดีตได้อย่างยั่งยืน มาเล่าให้ฟัง อีก 2 เรื่อง ดังนี้
1. เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ปัจจุบัน เข้าสู่เฟส 2 คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน  การฝึกวิชาชีพ ผมได้รับรายงานว่า มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้ มากกว่า 5 ล้านคน หรือเกือบ “ครึ่ง” ของผู้มีบัตรทั้งหมดทั่วประเทศ 11.4 ล้านคน โดยจังหวัดที่มีประชาชนเข้าร่วมโครงการมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีบัตรสวัสดิการ คือ กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ เลย ร้อยเอ็ด นครพนม ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินในบัตรสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 100-200 บาท ภายในเดือนมีนาคมนี้ และจะได้รับโอกาสในการมีงานทำ มีความรู้ และทักษะอาชีพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ภายในเดือนเมษายนเป็นต้นไป

ขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลนี้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และยกระดับเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะไม่ยอมให้เป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” อย่างที่บางคนพยายามจะ “ชักใบให้เรือเสีย” โดยผมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับทำงานอย่างมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ และซื่อสัตย์ โดยขอความร่วมมือประชาชนร่วมกัน “เป็นหู เป็นตา” หากพบความไม่โปร่งใส ขอให้แจ้งมายังรัฐบาล ผ่านสายด่วน 1111 หรือ 1567 ได้ทุกกรณี

2. เรื่องการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยขอย้ำให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าว “3 สัญชาติ” (เมียนมา กัมพูชา ลาว) ไปตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อนเข้าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) และ นำใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดหมายการตรวจสุขภาพมาเป็นหลักฐานในศูนย์ฯ อีกทั้ง อย่าลืมพาแรงงานต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติ และขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้เท่านั้น ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน ปัจจุบันทราบว่า มีแรงงานมาดำเนินการแล้ว เกือบ 30,000 ราย (เมียนมา 15,000 คนกัมพูชา 12,000 คน และลาว 3,000 คน) โดยประมาณ

ผมไม่อยากให้รอจนใกล้กำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพราะอาจไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว คราวนี้จะมีปัญหาแน่ รัฐบาลก็ดูแลผ่อนผันมาพอสมควรแล้ว หากมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากในตอนนั้นแล้วทำไม่ทัน ต้องถูกดำเนินคดี จับกุม แล้วผู้ประกอบการก็มาร้องเรียนรัฐบาลอีก ขอให้ร่วมมือกับรัฐบาลด้วย ทั้งแรงงาน ทั้งผู้ประกอบกิจการต่างๆที่มีการใช้แรงงานเหล่านั้น ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

พี่น้องประชาชนทุกท่านครับผมขอสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มเองโดยสถาบันการศึกษา หรือทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์สังคม จิตอาสา หรือ ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส เป็นตัวอย่างของ “ไทยนิยม” ที่ไม่ต้องรอการดำเนินการจากภาครัฐ แต่เพียงฝ่ายเดียว อาทิ จากการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ผมได้เห็นโครงการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสทางด้านการศึกษา ซึ่งยังมีอยู่จำนวนมาก ด้วยขาดแคลนทุนทรัพย์ในการดำรงชีวิต หรือซื้ออุปกรณ์การเรียนต่างๆ  ดังนั้น นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร จึงเกิดแนวคิดในการจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กที่ด้อยโอกาสขึ้น โดยสถานที่ที่ผู้จัดโครงการเลือกที่จะดำเนินโครงการ คือ โรงเรียนประทีปศึกษา ต.สามชุก อ.สามชุก จ.พรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ มีเด็กชาวไทยในพื้นที่สูงจากจังหวัดตาก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร ทั้งเผ่าม้งและกะเหรี่ยง ตลอดจนเด็กในละแวก อ.สามชุก ที่ผู้ปกครองไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะส่งเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนนี้ ที่เป็นโรงเรียนเอกชน แต่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ทั้งนี้ ความมุ่งหวังของโครงการฯ นอกจากจะให้ความช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์การเรียน  อุปกรณ์กีฬา และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ  แล้ว

ที่สำคัญคือ การส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีของชาติในอนาคต สำนึกความเป็นไทย รักชาติ รักสถาบัน คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง เชื่อว่ายังมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ขอให้ทุกสถาบันการศึกษา ทุกโรงเรียนได้เอามาเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การแนะนำ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่างๆของครู วันนี้ครูก็ต้องปรับตัว ต้องมีการสอนในแนวใหม่ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะสอนแบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว วันนี้ต้องสอนทั้งในตำรา และการเรียนรู้นอกตำราด้วย เพื่อไปสู่การมีงานทำในอนาคตได้อย่างแท้จริง ที่น่าชื่นชมคือ เป็นโครงการที่สถาบันการศึกษา ทำเพื่อการศึกษา เพื่ออนาคตของชาติ ผมเห็นว่า หากเราร่วมมือกัน ในทุกโรงเรียน ในทุกพื้นที่ เป็นการทำเพื่ออนาคต หากเราร่วมมือกัน ด้วยกลไก “ประชารัฐ” ในทุกพื้นที่ของตน ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาขนอาจจะมาร่วมมือกับโรงเรียน ให้ทุนการศึกษาเพิ่มก็ได้ ก็จะไม่มีพื้นที่ใดเป็น “จุดอ่อน” ของประเทศไทยในที่สุด

เรื่องสุดท้ายในช่วงเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งทุกคนต้องช่วยกันรักษาความสงบ ความมีเสถียรภาพของประเทศ ในทุกมิติครับเราต้องพัฒนาประเทศ พร้อมกับการเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลสำหรับเรื่องการช่วยกันขจัดปัญหาทุจริตขอให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร้องทุกข์ กล่าวโทษ การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่ลงไปในทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ไม่ให้มีการทุจิตเกิดขึ้นในทุกโครงการ บางครั้งการตรวจสอบในขั้นตอนของราชการบางทีทำได้ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าเอกสารไม่ถูกต้อง ดังนั้นขอเน้นย้ำข้าราชการทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องไปดูว่าเอกสารที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ เช่นที่มีข่าวในปัจจุบันเรื่องของความไม่ปกติของการช่วยเหลือผู้ยากไร้ เพราะฉะนั้นเอกสารต้องดูให้ครบ แต่เมื่อมีคนร้องทุกข์กล่าวโทษมา หรือให้ข้อมูลมา เราก็นำไปสู่การพิสูจน์ และวันนี้ก็มีข้อมูลการกระทำความผิดอยู่เราต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของนายกฯคนเดียว เรื่องของระดับสูงอย่างเดียว ระดับล่างต้องช่วยกัน ประชาชนทุกคนไม่ต้องกลัว รัฐบาลจะดูแลปกป้องให้ อย่างเช่น น้อง 2 คน ที่ได้ดูแลไปแล้วขอให้เป็นตัวอย่างของคนทั้งประเทศ ขอให้ช่วยรัฐบาลในการทำหน้าที่ขจัดความไม่สุจริตให้ได้โดยเร็วในวิธีการที่ถูกต้อง ขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยเรียนรู้ในเรื่องของกฎหมาย และทุกคนก็เรียนรู้ในสิทธิของแต่ละคน ตัวเองมีสิทธิอะไรอย่างไร อย่าให้ใครเข้ามาใช้สิทธิ์ของเราไปเพื่อเกิดประโยชน์ในทางไม่ถูกต้อง

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข สวัสดีครับ

……………..
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา : www.thaigov.go.th