ผลการหารือความร่วมมือด้านยางพารา ระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม


เครดิตภาพ: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผลการหารือความร่วมมือด้านยางพารา

ระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

(Rubber Cooperation Dialogue between Thailand Indonesia Malaysia and Viet Nam)

วันที่ 2 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมหารือกับฯพณฯ นายอาหมัด รัสดี เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจ าประเทศไทย ฯพณฯ นายเหงียน ไฮ บาง เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย และนายโมฮัมหมัด ไฟซอล ราซาลี่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย  ในฐานะประเทศผู้ผลิตยางพาราที่มีปริมาณผลผลิตมาก 4 อันดับของโลก เพื่อติดตามมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกในภาพรวมตามที่ประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council: ITRC) ได้ตกลงกันไว้ และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ผลการหารือสรุปได้ ดังนี้

1. ผลการดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออก ครั้งที่ 5 (The 5th Agreed Export Tonnage Scheme (AETs) ของประเทศสมาชิกไตรภาคียางระหว่างประเทศ

จากสถานการณ์ราคายางธรรมชาติที่ลดต่ำลงมาที่ 150 เซ็นสหรัฐต่อกิโลกรัมในเดือนตุลาคม 2560 ทำให้ประเทศสมาชิก ITRC เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นสำหรับดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 โดยคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยชะลออุปทานยางธรรมชาติ 3 ชนิดคือ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสมได้ประมาณ 350,000 ตัน โดยหลังจากการดำเนินมาตรการ มา 2 เดือน ราคายางธรรมชาติของไทยปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาดำเนินมาตรการในเดือนมีนาคม 2561 ประเทศไทยจะขอเชิญทุกประเทศหารือและสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง

2. การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศของเวียดนาม

เวียดนามได้แสดงความตั้งใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่ 4 ของ ITRC ตามคำเชิญของประเทศสมาชิก ITRC โดยเอกอัครราชทูตเวียดนามได้แจ้งว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามได้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ITRC ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเวียดนามแล้วจะแจ้งอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งต่อไป  

3. การแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหายางพารา

รมว.กษ ได้เชิญชวนที่ประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารา และนำเสนอแนวทาง การแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางและพัฒนากลไกตลาดอย่างมั่นคงในระยะยาว ภายใต้หลักการ คือ การเพิ่มปริมาณความต้องการใช้และลดปริมาณผลผลิตให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมากที่สุด และเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ 5 มาตรการ คือ  

  • Ø มาตรการภายในประเทศ คือ 1) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กพัฒนาแนวคิดและนวัตกรรมให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าที่มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์ ที่นอน อุปกรณ์ที่ใช้ ในการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ 2) การให้ภาคราชการ และรัฐวิสาหกิจ นำเอายางธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย เช่น ถนน สระน้ำ บ่อน้ำ การทำสนามกีฬาขนาดเล็ก โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศไม่น้อยกว่า 180,000 ตัน ซึ่งรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้ส่วนราชการซื้อยางธรรมชาติโดยตรงจากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร 3) การไม่สนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่ โดยแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางที่มีต้นยางครบอายุ 25 ปี ให้หันไปปลูกพืชอื่นหรือประกอบอาชีพอื่น โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกร
  • Ø มาตรการที่สามารถดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศ คือ 1) การตั้งคณะกรรมการราคายางภายในประเทศ และการตั้งคณะกรรมการยางพาราระหว่างประเทศ โดยคณะกรรมการนี้ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านยาง ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง/ผู้ประกอบการ มีหน้าที่ในการหาข้อมูลต้นทุนการผลิต การแปรรูป และการส่งออกยางไปยังตลาดโลก รวมทั้งติดตามดูสถานการณ์และกลไกการตลาดยางพารา และอาจทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดราคารับซื้อยางและราคาส่งออกยาง หากแต่ละประเทศมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคายางที่เป็นธรรมภายในประเทศ และร่วมกันดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการระหว่างประเทศ จะสามารถนำความเป็นธรรมมาสู่เกษตรกร/ผู้ผลิต ในระดับภูมิภาค 2) การลดปริมาณผลผลิตยางพารา เช่น (1) การโค่นต้นยาง 1 ล้านไร่ ซึ่งมาตรการนี้อาจส่งผล ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การตัดต้นยางในแปลงออกครึ่งหนึ่งและปลูกพืชอื่นแทน (3) มาตรการชะลอการกรีดยาง (Tapping Holiday) 2 แนวทาง คือ หยุดกรีดยางเป็นเวลา 3 เดือนในพื้นที่ 3 ล้านไร่ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น และหยุดกรีดยางทุกไร่ ในรูปแบบกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีดยาง 15 วัน (จากเดิมกรีดยาง 20 วัน หยุดกรีด 10 วัน) ซึ่งอาจได้ผลที่ดีกว่าในระยะยาว

 

โดยที่ประชุมได้แสดงความสนใจในมาตรการบริหารจัดการอุปทาน และยินดีดำเนินการตามแนวทางใหม่ๆ ร่วมกันผ่านความร่วมมือ ITRC ต่อไป

 

 

สำนักการเกษตรต่างประเทศ

 สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์