ชาวรั้วจามจุรีจัดงานคืนสู่เหย้า ฉลอง 101 ปี
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 25 มีนาคม 2561 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคพื้นแอตแลนติคตอนกลางจัดงานฉลองครบรอบ 101 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร้านอาหารไทยฟาร์ม เมืองเกเตอร์สเบิร์ก รัฐแมริแลนด์ ภายใต้การนำของนายสมชัย ภาอาภรณ์ นายกสมาคมฯ และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยทีมกรรมการ เช่น น.พ.ไพบูลย์ สุริย์จามร อดีตนายกสมาคมฯ และ น.พ. ปิยะพงษ์ พัฒนพันธ์ พิธีกรกิตติมศักด์ พร้อมนิสิตเก่าจุฬาฯ กว่า 60 คน ทั้งจากเขตวอชิงตัน,ดี.ซี. แมริแลนด์ เวอร์จิเนีย
ได้รับเกียรติจากคุณประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ พร้อมคุณสุมนา เพ็ญสุต ภริยา เป็นผู้แทนสถานเอกอัครรราชทูตฯ ไปร่วมงาน พร้อมด้วยผู้แทนทีมประเทศไทย ได้แก่ คุณภัทรียา วัฒนสิน ที่ปรึกษา (กงสุล) พร้อมคุณภาณุภัทร ชวนะนิกุล เลขานุการเอก (ฝ่ายพิธี) พร้อมกันนี้ผู้ร่วมงานได้ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ และชมวิดีทัศน์เรื่อง โครงการจุฬาฯ-ชนบท ซึ่งเป็นกิจกรรมการกุศลสำคัญของสมาคมฯ ที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งมั่นคงของพี่น้องชาวรั้วจามจุรีซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ ไหนก็สามัคคีกลมเกลียว อีกทั้งคุณประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ ประธานของงาน ได้มีการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ถึงความหมายและความสำเร็จในการวางรากฐานการศึกษาของไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ
เราขอนำส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์มานำเสนอ มีใจความดังนี้ “ประเทศไทยถ้านับตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ก็มีอายุ 236 ปี เทียบเคียงได้กับประเทศสหรัฐที่ประกาศอิสระภาพมาได้ 242 ปี เท่ากับก่อนกรุงเทพ แค่ 6 ปี แต่เรา มีมหาวิทยาลัยแห่งแรก แค่ 101 ปี ถ้าเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกคือ Harvard มีอายุถึง 382 ปี คือตั้งแต่สมัยยังเป็น British Colonial ยังไม่เป็นประเทศด้วยซ้ำ การมีมหาวิทยาลัยก่อนประเทศไทยถึงประมาณ 282 ปี เท่ากับมีความเจริญก้าวหน้าทางปัญญา ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ถ้าถอยไปช่วงที่ตั้งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่ ช่วงนั้นตรงกับปี พ.ศ. 2179 ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของไทยยุคหนึ่งซึ่งมีการค้าขายติดต่อกับนานาอารยประเทศ
ในสมัยพระนารายณ์อย่างที่ทราบกันดี มีการติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวางทั้งกับ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อิหร่าน และฮอลันดา รวมทั้งมีการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการคือ เจ้าพระยาโกษา (ปาน) ซึ่งท่านเป็นต้นแบบของนักการทูตและมีโอกาสอยู่ที่ฝรั่งเศสถึง 6 ปี สิ่งที่พระนารายณ์ซึ่งดำรงพระชนม์ ก่อนรัชกาลที่ 5 ถึงประมาณ 220 ปี ปรารถนาจะทำคือการเปิดประเทศ และปรับปรุงประเทศในแนวทางตะวันตก แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่มขุนนางอนุรักษ์นิยมซึ่งไม่ชอบออกจาก Comfort Zone ซึ่งต่อมาประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการไม่เปิดกว้างเพื่อรับการพัฒนา ทำให้ประเทศชาติถอยหลังและถูกยึดครองโดยประเทศเพื่อนบ้านในเวลาอีกเพียง 70 กว่าปี ถ้าคิดกันเล่นๆ ว่าถ้าพระนารายณ์สามารถนำความเจริญก้าวหน้าเข้ามาสู่สยามประเทศในขณะนั้นได้สำเร็จ เราอาจจะมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกก่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกประมาณ 200 ปี และประเทศไทยอาจจะกลายเป็นประเทศชั้นนำในเอเชียหรือของโลกก็เป็นได้ เพราะการศึกษาคือการเปิดโลกทัศน์ของประชาชนให้เชื่อในเหตุผล และเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ในวันนี้เราไม่ได้มาแค่ร่วมฉลองในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยเท่านั้น แต่ฉลองถึงความสำเร็จที่ผู้นำประเทศในขณะนั้นคือรัชกาลที่ 5 และ 6 สามารถผลักดันประเทศออกจาก Comfort Zone ยกระดับการพัฒนาสติปัญญาของคนในชาติได้สำเร็จ เป็นก้าวแรกของการนำสยามประเทศเข้าสู่ยุคของการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานสากล คือการวางรากฐานการศึกษาให้คนไทยได้มีระบบความคิดแบบสากลในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นไป ดังนั้น ขอให้พวกเรานิสิตจุฬาทุกท่านร่วมแสดงความยินดีและถือว่าพวกเราเป็นหนึ่งในความสำเร็จของพระองค์ท่านที่วางไว้ครับ”
บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ในรูปแบบของการรวมรุ่นนิสิตเก่าฯ มีการเล่าถึงประวัติของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การรับประทานอาหาร และรำวงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการจับฉลากรางวัลเพื่อรวบรวมรายได้บริจาคเพื่อการกุศลอีกด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน – รายงาน
27 มีนาคม 2561