งานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560

สถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 เอกอัครราชทูตวีรชัย พลาศรัยและคุณอลิซเบธ พลาศรัย ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์คือโครงการจีโนมมนุษย์ โดยมีนายแพทย์ Eric D. Green ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติเป็นผู้แทน และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์ Porter W. Anderson, Jr. แพทย์หญิง Rachel Schneerson และศาสตราจารย์ Mathuram Santosham ณ ห้อง George Washington โรงแรม St. Regis ในกรุงวอชิงตัน โดยมีแขกผู้มีเกียรติและผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ตลอดจนผู้แทนสื่อมวลชนและบุคลากรทางการแพทย์ไทยในเขตกรุงวอชิงตันเข้าร่วมจำนวนมาก
ในโอกาสนี้ ออท. วีรชัย ได้กล่าวเทิดพระเกียรติพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย และชื่นชมผลงานของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลประจำปี 2560 ซึ่งในครั้งนี้เป็นชาวอเมริกันทั้งหมด โดยจากประวัติผู้ที่เคยได้รับพระราชทานรางวัลทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นบุคคล/หน่วยงานของสหรัฐฯ ถึง 29 คน/องค์กร นอกจากนี้ ยังได้ขอบคุณแขกผู้มีเกียรติจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงาน ซึ่งสะท้อนความใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จากนั้น ออท. วีรชัยได้กล่าวเชิญดื่มแสดงความยินดีกับผลงานของคณะผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัล ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ
การพัฒนาการแพทย์และได้ช่วยชีวิตประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กหลายล้านคนทั่วโลก
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับพระราชทานรางวัลและประทับใจการต้อนรับอย่างดีเมื่อครั้งเยือนไทย โดยเฉพาะ ศ. Porter Anderson ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้กล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ประธานมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลที่เสด็จฯ เป็นผู้แทนพระองค์และทรงพระราชปฏิสัณถารกับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลอย่างเป็นกันเอง และชื่นชมพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อประชาชนคนไทยตามรอยองค์พระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทยอย่างแท้จริง
ศ. Anderson กล่าวถึงศักยภาพที่ไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำภูมิภาคในการพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ หลายรายการ ซึ่งตนและคณะผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสาขาสาธารณสุขจะให้การสนับสนุนไทยต่อไป
นอกจากนี้ ผู้บริหารจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIH) หลายคนที่เข้าร่วมต่างชื่นชมบุคคลากรทางการแพทย์ของไทยและมีหลายโครงการที่ได้ทำร่วมกับไทย โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านจีโนมิกส์และข้อมูลทางชีวะจากสหรัฐฯ มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาทางคลินิคทำให้เข้าใจเกี่ยวกับกลไกทางพันธุกรรมที่ผลต่อการดื้อยา และให้ความรู้และฝึกอบรมด้าน bioinformatics แก่ไทย
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลขอบคุณทางการไทยที่ให้เกียรติอย่างเต็มที่แก่ตนและครอบครัวเมื่อครั้งเยือนไทยเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลและเมื่อกลับมาถึงสหรัฐฯ แล้วก็ยังให้เกียรติจัดงานเลี้ยงอย่างสมเกียรติมาก โดยทุกคนประทับใจความงดงามและไมตรีจิตของคนไทยและได้เล่าความประทับใจให้เพื่อนและผู้ใกล้ชิด พร้อมชักชวนให้ไปเยือนไทย