ประกาศ เรื่องการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักอยู่ในต่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒

ด้วยกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัน
เป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศและมีผลงานการกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์
แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน โดยขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาเสนอรายชื่อผู้ที่เห็นสมควรขอ
พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ตามหลักเกณฑ์ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘  และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยรอบคอบ  และครอบคลุมทั่วถึงบุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักอยู่ในรัฐภายใต้เขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ แอละแบมา เดลาแวร์ ฟลอริดา จอร์เจีย ลุยเซียนา แมริแลนด์ มิสซิสซิปปี นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา เทนเนสซี เทกซัส เวอร์จิเนีย เวสต์เวอร์จิเนีย จึงขอเชิญชวนเสนอชื่อบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานฯ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
๑. หลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ
๑.๑  นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร อาทิ สมาคม องค์กร วัด โบสถ์ มัสยิด ที่จดทะเบียนตามกฎหมายของสหรัฐฯ สามารถเสนอชื่อบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานฯ ได้ โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกและลงนามเห็นชอบจากคณะกรรมการที่มีอำนาจตามกฎ/ข้อบังคับขององค์กรนั้นๆ ทั้งนี้ จะเสนอชื่อบุคคลภายในหรือภายนอกองค์กรก็ได้
๑.๒ กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายของสหรัฐฯสามารถเสนอชื่อบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานฯ ได้ โดยมีผู้ลงนามสนับสนุนตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป และให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาใบขับขี่ หรือสำเนาบัตรแสดงตนอื่น ๆ ของผู้ลงนามสนับสนุนที่มีรูปถ่ายและถิ่นที่อยู่เพื่อเป็นหลักฐานประกอบร่วมกับเอกสารประกอบการพิจารณาคุณสมบัติ
๒.   เกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติและการกระทำความดีความชอบของผู้สมควร
ได้รับการเสนอชื่อฯ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็น
ที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ และแก้ไขเพิ่มเติม
๒.๑ คุณสมบัติ
๒.๑.๑ เป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยขอให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางไทยพร้อมรูปถ่ายปัจจจุบัน
๒.๑.๒ มีความประพฤติดี ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และไม่เคยถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น เว้นแต่เป็นการต้องส่งคืนเนื่องจากได้รับพระราชทานในชั้นสูงขึ้น โดยขอให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อตรวจสอบประวัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐที่มีถิ่นพำนักอยู่ให้แล้วเสร็จ และแนบเอกสารดังกล่าว (ฉบับจริง) มาพร้อมกับเอกสารประกอบการพิจารณาคุณสมบัติตามข้อ ๑
๒.๒ การกระทำความดีความชอบที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน (มาตรา ๙-๑๒ ของพระราชกฤษฎีกาฯ) จะต้องมีลักษณะ ดังนี้
๒.๒.๑ มีผลงานดีเด่นหรือเป็นแบบอย่างอันควรแก่การสรรเสริญ
๒.๒.๒ เป็นการกระทำที่ฝ่าอันตรายหรือเสี่ยงภัยเพื่อปกป้องชีวิตหรือทรัพย์สินอัน
เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือประเทศ
กรณีผลงาน
– ผลงานที่กระทำจะต้องเป็นผลงานของตนเอง และไม่เคยใช้เสนอขอพระราชทาน
จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น นอกจากนี้ หากเป็นผลงานที่ทำร่วมกันเป็นหมู่คณะจะต้องสรุปแยกผลงานของแต่ละบุคคลให้ชัดเจน หากไม่สามารถแยกแยะออกมาได้ว่าเป็นผลงานของผู้ใด จะพิจารณาว่าผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคนมีผลงานการกระทำความดีความชอบนั้นเท่า ๆ กัน
– ผลงานที่กระทำให้แก่นิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ตามรายชื่อที่สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด (เอกสารแนบรายชื่อนิติบุคคลที่สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ – เอกสารแนบ ๑) ซึ่งหากนิติบุคคลดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐ ผลงานที่ใช้เสนอขอพระราชทานต้องไม่เป็นผลงานตามปกติที่บุคคลผู้นี้ต้องกระทำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
– การจัดทำรายละเอียดของผลงานการกระทำความดีความชอบจะต้องเห็นเด่น
ชัดเป็นรูปธรรมมีกำหนดระยะเวลาการกระทำความดีความชอบนั้น ๆ (แบบ นร.๑ – เอกสารแนบ ๒)
๒.๓ การกระทำความดีความชอบที่เป็นการบริจาคทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ (มาตรา ๑๓-๒๒ ของพระราชกฤษฎีกาฯ) มีรายละเอียด ดังนี้
๒.๓.๑. เป็นการบริจาคทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เพื่อการศาสนา การศึกษา การสาธารณสุข การแพทย์ การพัฒนาชุมชน การสังคมสงเคราะห์ หรือความมั่นคงของชาติ
๒.๓.๒.  ทรัพย์สินที่บริจาคต้องเป็นของผู้บริจาคหรือที่ผู้บริจาคมีสิทธิบริจาคได้ในนามของตน
เงื่อนไขของการกระทำความดีความชอบที่บริจาคเป็นทรัพย์สิน
– ทรัพย์สินที่บริจาคต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่เคยใช้เสนอขอพระราชทานจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมาแล้ว
–  การบริจาคทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ทำเป็นหนังสือและและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน
–  การบริจาคทรัพย์สินที่มีผู้ร่วมบริจาคหลายคน ให้แสดงรายละเอียดด้วยว่าผู้บริจาคแต่ละคนได้บริจาคทรัพย์สินเป็นมูลค่าเท่าใด ในกรณีที่มิได้แสดงรายละเอียดดังกล่าวให้ถือว่าผู้บริจาคแต่ละคนได้บริจาคทรัพย์สินเป็นมูลค่าเท่า ๆ กัน
–    ถ้าเป็นการบริจาคทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ตามรายชื่อที่สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
–    การบริจาคทรัพย์สินที่มิใช่เงิน ต้องมีหนังสือรับรองมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่บริจาคจากส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือนิติบุคคลที่รับบริจาค หากทรัพย์สินที่บริจาคเป็นที่ดินให้เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นผู้ออกหนังสือรับรองมูลค่าของที่ดินนั้น
–    ทรัพย์สินที่บริจาคต้องไม่มีเงื่อนไขหรือภาระติดพันใด ๆ
เงื่อนไขของการกระทำความดีความชอบในกรณีที่บริจาคเงินให้แก่วัดไทยในต่างประเทศ
–     ยอดเงินที่ปรากฏตามหลักฐานการบริจาคเงินและในแบบ นร. ๒ จะต้องตรงกัน
–      ใบเสร็จรับเงิน หรือ ใบอนุโมทนาบัตรจะต้องระบุชื่อของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ เท่านั้น แต่หากเป็นการบริจาคร่วมกันของสามีและภรรยาและมีชื่อของคู่สมรสปรากฏอยู่ด้วย คู่สมรสจะต้องทำหนังสือขอสละสิทธิ์การบริจาคนั้น ๆ นอกจากนี้ ในหลักฐานการบริจาคเงิน ขอให้ระบุเป็นการบริจาคแก่วัดเท่านั้น ไม่ต้องระบุถึงโอกาสที่บริจาค เช่น ในโอกาสทำบุญวันสงกรานต์ หรือบริจาคทำบุญถวายวัดในนาม “ศูนย์วัฒนธรรมไทย” เนื่องจากการระบุดังกล่าวจะทำให้ไม่ได้รับการพิจารณา
–       จะต้องส่งสำเนาบัญชีทรัพย์สินของวัดเฉพาะหน้าที่ปรากฏการรับบริจาคทรัพย์สินและการใช้จ่ายทรัพย์สินของผู้ขอพระราชทาน โดยให้เจ้าอาวาสวัดและผู้รับผิดชอบด้านการเงินลงชื่อรับรองในสำเนาบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว
การรับรองรายการการบริจาคทรัพย์สิน
–      การกระทำความดีความชอบโดยการบริจาคทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์จะต้องมีหนังสือรับรองแสดงรายการบริจาคทรัพย์สินจากหน่วยงานที่รับบริจาคโดยมีผู้ลงลายมือชื่อตามหลักเกณฑ์ของการบริจาคที่กระทำในต่างประเทศ ให้เอกอัครราชทูต หรือกงสุลใหญ่ ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองแสดงรายการบริจาคทรัพย์สิน (แบบ นร. ๒ – เอกสารแนบ ๓) ของแต่ละรายการที่แสดงมูลค่าเป็นเงินบาทที่มีการกำกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในวันที่มีการบริจาคไว้ด้วย
–      การเขียนบัญชีแสดงคุณสมบัติของผู้กระทำความดีความชอบฯ ขอให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมโดยละเอียด และให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ คณะกรรมการที่มีอำนาจตามกฎ/ข้อบังคับขององค์กรหรือผู้ลงนามสนับสนุนลงลายมือชื่อในบัญชีแสดงคุณสมบัติผู้กระทำความดีความชอบฯ (แบบ นร. ๓ – เอกสารแนบ ๔) หากผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ได้ก่อตั้งสมาคมหรือองค์กรขึ้นมาเอง ขอให้ส่งข้อมูลการจัดตั้งสมาคม/องค์กรเหล่านั้นด้วย
๓.   กรอบระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการในการเสนอชื่อบุคคลที่พึงได้รับ
การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ขั้นต่อไป
๓.๑ การเสนอชื่อบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานฯ สามารถดำเนินการได้
ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๒ ทั้งนี้ การจัดส่งเอกสารต้นฉบับทุกฉบับต้องส่งทางไปรษณีย์หรือส่งด้วยตัวเอง ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ เลขที่ ๑๐๒๔ Wisconsin Ave. N.W., Washington, D.C. ๒๐๐๐๗ และสามารถสอบถามหรือขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นางสาวภัทรียา วัฒนสิน ที่ปรึกษา หมายเลข (๒๐๒) ๖๔๐ – ๕๓๐๘ หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ patreyaw@thaiembdc.org และ/หรือ นายภาณุภัทร ชวนะนิกุล เลขานุการเอก หมายเลข (๒๐๒) ๒๙๘ – ๔๗๘๗ หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ panupatc@thaiembdc.org
๓.๒ บุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานฯ จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติ ประวัติ ความประพฤติ การกระทำความดีความชอบ และความเหมาะสมจากคณะกรรมการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ แต่งตั้งขึ้น โดยให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ และแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องจัดส่งเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนตามกำหนดภายในวันที่      ๙ มกราคม ๒๕๖๒ มิเช่นนั้น จะไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ
๓.๓ คณะกรรมการฯ จะเสนอชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้กระทรวงการต่างประเทศ
พิจารณาตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติของบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานฯ อีกครั้งก่อนเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับต่อไป

 

ดาวน์โหลด ประกาศ
ดาวน์โหลด รายชื่อนิติบุคคลที่สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ดาวน์โหลด แบบหนังสือรับรองแสดงผลงาน นร.๑
ดาวน์โหลด แบบหนังสือรับรองแสดงรายการการบริจาคทรัพย์สิน นร.๒
ดาวน์โหลด บัญชีแสดงคุณสมบัติผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน นร.๓