การบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทด้านการพัฒนาของสถาบันพระมหากษัตริย์ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งโครงการตามพระราชดำริของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” โดย ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้จัดการบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทด้านการพัฒนาของสถาบันพระมหากษัตริย์ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งโครงการตามพระราชดำริของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดย ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดการบรรยายพิเศษเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติในต่างประเทศ ของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมและแนะนำวิทยากร และมีชุมชนชาวไทย สมาคมไทย นักศึกษาที่อยู่ในเขตกรุงวอชิงตันและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงข้าราชการทีมประเทศไทยและลูกจ้างท้องถิ่นรวมเกือบ 70 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายดังกล่าว
ม.ล.ดิศปนัดดาฯ กล่าวถึงความเป็นมาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่มีวิสัยทัศน์และพันธกิจเพื่อมุ่งพัฒนาชุมชนสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมตามหลักการทรงงานของพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงน้อมนำศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคน เน้นการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่ม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่รากเหง้า ส่งเสริมทางเลือกในการประกอบอาชีพที่สุจริต ตลอดจนหาแนวทางให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษา (Education) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) และการพัฒนาเพื่อทางเลือกอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในตัวอย่างสำคัญของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนและฟื้นฟูพื้นที่ป่าคือโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบัน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีรายได้เลี้ยงตนเองและเกื้อกูลชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ รวมกว่า ๑๐ แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.maefahluang.org)
ใจความสำคัญตอนหนึ่งในการบรรยายกล่าวว่า “รากเหง้าของปัญหาต่าง ๆ คือ ความยากจนและการขาดแคลนโอกาส โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงน้อมนำหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริมาประยุกต์เป็นแนวทางการพัฒนาเรียกว่า หลักการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน 3S Model ได้แก่ (1) Survive หรือ อยู่รอด คือ การทำให้คนพ้นจากความอดอยาก ไม่ต้องกู้กิน กู้ใช้ มีอาหารกินตลอดปี พ้นจากความเจ็บไข้ (2) Sufficiency หรือ อยู่อย่างพอเพียงและเพียงพอ คือ คนควรมีชีวิตสบายขึ้นอย่างมาก มีรายได้สม่ำเสมอ มีสาธารณูปโภค
มีการศึกษาที่ดีขึ้น ปลอดหนี้หมดหนี้หมดสิน และ (3) Sustainability หรือ อยู่อย่างยั่งยืน โดยหัวใจสำคัญ คือ การมีเงินออม พัฒนาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกัน และเริ่มเป็นเจ้าของกิจการ” หลักสำคัญในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ชุมชน คือ “เท้าติดดิน” โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าไปคลุกคลี พักอาศัย และใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อสร้างความไว้วางใจและรับฟังต้นเหตุของปัญหาอย่างลึกซึ้ง ขั้นตอนต่อมาเป็นการ “พาทำ” ซึ่งถือเป็นการเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำและให้คำปรึกษาแก่คนในชุมชน และเมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันในแนวทางการแก้ไขปัญหา คนในชุมชนจะร่วมกันลงมือลงแรงตามแผนงานเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ร่วมพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง
การบรรยายดังกล่าวสร้างแรงบันดาลใจและให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก เกิดกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจ และเห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์ของพระราชาและสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ม.ล.ดิศปนัดดาฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 แทนคุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา มารดา โดยมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลแบรนด์ดอยตุงและบริหารโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมีบทบาทในการเผยแพร่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาสู้ระดับโลกมาโดยตลอด