สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน มีส่วนร่วมในการประชุมประจำปีของนักเรียนไทยในสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้กล่าวให้โอวาทนักเรียนในการประชุมประจำปี สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ และนักเรียนทุน พสวท. และทุนโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำกรุงวอชิงตัน เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2564 ที่เมืองบอสตัน หลังจากที่ปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) รองประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง กรุงวอชิงตัน (กค.) อัครราชทูตฝ่ายการศึกษา กรุงวอชิงตัน (ก.พ.) และอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ร่วมกล่าวและรับฟังในช่วงเปิดการประชุม และมีผู้แทนนักเรียนกว่า 60 คนที่เดินทางมาร่วมงานจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ รวมถึงบางส่วนที่เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom และ Facebook Live) เข้าร่วมด้วย

เอกอัครราชทูตมนัสวีฯ กล่าวทักทายนักเรียนและผู้เข้าร่วมงาน แสดงความยินดีและชื่นชมที่มีการจัดงานในครั้งนี้ขึ้นและสามารถรวมตัวแทนนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ได้ในจำนวนมาก โดยเฉพาะความสำเร็จของการจัดตั้งสมาคมกลางนักเรียนไทยในสหรัฐฯ (ATSA) พร้อมชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของโลกที่จะกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียนและการใช้ชีวิตของนักศึกษาในปัจจุบัน 3 ประการ ประกอบด้วย (1) การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (2) การเปลี่ยนแปลงทางสภาพทางภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กระทบต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ (3) พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลกับการบริหารจัดการชีวิตและข้อมูล อีกทั้งได้ย้ำให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายไปด้วยกัน ตลอดจนนึกถึงสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 3 แห่งในสหรัฐฯ เมื่อเกิดปัญหา และพึงระลึกเสมอว่า ตนเองคือผู้แทนของประเทศไทย ทั้งในด้านการรักษาภาพลักษณ์ที่ดี การส่งเสริมทัศคติเชิงบวกเกี่ยวกับประเทศไทย ตลอดจนการมุ่งนำความรู้ความเชี่ยวชาญกลับไปพัฒนาศักยภาพของประเทศอย่างเต็มความสามารถ ก่อนจะอวยพรให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ระหว่างการประชุม นอกจากได้จะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอด 2 วันแล้ว ในช่วงที่ประธานนักเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการของสมาคมกลางนักเรียนไทยในสหรัฐฯ น.ส. จุลีพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อัครราชทูตที่ปรึกษา และ น.ส. นภามาศ ปัญญาตรง ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ร่วมกันเล่าถึงบทบาทของสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 3 แห่งในสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลและสนับสนุนคนไทยและชุมชนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงนักเรียนไทยด้วย อีกทั้งได้แนะนำแนวทางและช่องทางที่สมาคมฯ สามารถประสานงานและขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของไทย ตลอดจนกิจกรรมของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่นักเรียนไทยในสหรัฐฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและสร้างเสริมความนิยมไทยได้ ขณะเดียวกัน นักเรียนได้มีโอกาสพูดคุยและช่วยกันวางแผนเกี่ยวกับการรวมตัวกันเป็นหนึ่งสมาคมในสหรัฐฯ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สามารถรวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับอดีตนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ขยายเครือข่ายและความเป็นไปได้ในการสมัครงานหลังจากสำเร็จการศึกษา และสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งกลุ่มนักเรียนเองและสังคมโดยรวมในนามนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ด้วยความสามัคคีกลมเกลียว

นอกจากนี้ ในช่วงเย็นของวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เอกอัครราชทูตมนัสวีฯ ยังได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่นักเรียนไทยในสหรัฐฯ หัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย ผู้แทนสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา และนาย Joe Milano กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประจำเมืองบอสตัน รวมเกือบ 80 คนอีกด้วย

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บูรณาการการเรียนรู้สู่อนาคต” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ และนักเรียนทุน พสวท. และทุนโอลิมปิควิชาการ ได้พบปะพูดคุยกัน ทำความรู้จัก สร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ และหาโอกาสร่วมมือกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวนักเรียนเอง ภาควิชาการ และประเทศไทยในภาพรวม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและนำร่องแนวทางที่นักเรียนรุ่นต่อ ๆ ไปจะสามารถนำไปพัฒนาให้กว้างขวาง ครอบคลุม และสมบูรณ์มากขึ้น โดยการประชุมมีทั้งช่วงบรรยายที่เชิญนักวิชาการในด้านต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และเรื่องราวที่อาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักเรียนที่มาเข้าร่วมงานในวันนี้ ช่วงที่แบ่งกลุ่มตามคณะที่เรียนและประเด็นที่สนใจ ช่วงประกวดการบรรยายสั้น ๆ และช่วงแนะนำเส้นทางการทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งนักเรียนทุกคนที่มาร่วมงานมีความกระตือรือร้น ยินดีที่จะรับฟังและพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเต็มที่ตลอดเวลา